กรีนพีซชี้หมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขง เป็นผลสะท้อนนโยบายเกษตรที่ไม่สนใจกฏเกณฑ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1770 ครั้ง

กรีนพีซชี้หมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขง เป็นผลสะท้อนนโยบายเกษตรที่ไม่สนใจกฏเกณฑ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

กรีนพีซ ประเทศไทย แสดงความเห็นต่อการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ชี้มลพิษจากหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงเป็นผลสะท้อนจากนโยบายการลงทุนภาคเกษตรกรรมที่ไม่สนใจใยดีต่อกฏเกณฑ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การเจรจาหว่านล้อมของเครือข่ายบริษัทที่มีอิทธิพลเหนือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน

3 ธ.ค. 2565 กรีนพีซ ประเทศไทย แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนระบุว่าสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 11 (The Eleventh Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region : 11th MSC Mekong) ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่มุ่งผลักดันให้ลดจำนวนจุดความร้อน(hotspot)ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai 2017 Plan of Action) ซึ่งประเทศไทยริเริ่มในปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าสามารถลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงปี 2565 ลงได้ 23% เมื่อเทียบกับปี 2564 และขอความร่วมมือให้ทุกประเทศพยายามลดลงให้ได้ 20%  ตามเป้าหมายร่วมของอาเซียนในการประชุมประเทศภาคีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนครั้งที่ 16 เมื่อปี 2564 นั้น

กรีนพีซ ประเทศไทย มีความเห็นต่อการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีในอนุภูมิภาคแม่โขงว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนครั้งที่ 11 ดังนี้

1) การใช้ “จำนวนจุดความร้อน”เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้า(KPI) อย่างเดียว โดยไม่นำสถิติรอยไหม้ (burnt scars) และการสำรวจพื้นที่จริงมาประกอบ ทำให้มาตรการแก้ปัญหามลพิษจากหมอกคัวนข้ามแดนไม่ครอบคลุมและมีช่องโหว่ ในหลายๆ กรณีพบว่าสถิติรอยไหม้ไม่สัมพันธ์กับสถิติจุดความร้อน ส่วนมาตรการห้ามเผา(zero burning) แทนที่จะเป็นการบริหารจัดการไฟ (fire management) ตามบริบทภูมิสังคม [1] นั้นคือปัจจัยหลักของความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่กำหนดไว้ภายในปี 2563 (Haze-free ASEAN by 2020)

2) การประชุมไม่กล่าวถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา นั่นคือ การทำลายป่าไม้ที่เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity-driven deforestation) การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Global Forest Watch ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ไม่เพียงแต่ก่อปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดหลักของก๊าซเรือนกระจกที่เร่งเร้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย [2]

3) มลพิษจากหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงเป็นผลสะท้อนจากนโยบายการลงทุนภาคเกษตรกรรมที่ไม่สนใจใยดีต่อกฏเกณฑ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้การเจรจาหว่านล้อมของเครือข่ายบริษัทที่มีอิทธิพลเหนือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน สังคมจะคาดหวังให้เกษตรกรหยุดเผาพื้นที่เพาะปลูกและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร หากไร้ซึ่งความเป็นธรรมและภาระความรับผิดชอบ(accountability) ตลอดห่วงโซ่อุปทานจากกลุ่มบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม [3]

4) อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะปลอดมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนได้หากสังคมมีกลไกเพื่อตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลีกเลี่ยงภาระความรับผิดชอบ มีกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งผลักดันรัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อประชาชนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบให้กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมมีความโปร่งใสและมีภาระความรับผิดชอบต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันเป็นหัวใจหลักของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนปี 2545 ที่รับรองถึงความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ

[1] รายงานข้อเสนอเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ ก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่ การบริการจัดการไฟอย่างมีส่วนร่วมบนฐานชุมชน-ท้องถิ่นเป็นแกน จัดทำโดย คณะทำงานด้านนโยบายมาตรการ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ดาวน์โหลดได้ที่ https://breathcouncil.org/?p=5061

[2] ในระหว่างปี 2544-2564 การทำลายป่าไม้ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง 5 ประเทศมีดังนี้ (1) การทำลายป่าไม้ในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 904 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมากกว่าร้อยละ 80 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (2) การทำลายป่าไม้ในรัฐฉาน เมียนมา ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 464 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมากกว่าร้อยละ 60 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (3) การทำลายป่าไม้ใน สปป.ลาว ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.47 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (4) การทำลายป่าไม้ในกัมพูชาปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.49 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เกือบทั้งหมดมาจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (5) การทำลายป่าไม้ในเวียดนามปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.78 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าโดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ https://bit.ly/3XXgNWS

[3] อ่านเพิ่มเติมจากรายงานของกรีนพีซ : (1) ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน (2) ผลการวิเคราะห์จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ ความเข้มข้นของ PM2.5 และพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี 2562-2563 (3) ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปี 2558-2563 (4) เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: