หนุนท้องถิ่นให้ความรู้ประชาชนใช้ยาเท่าที่จำเป็น ลดดื้อยา-กระทบสุขภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 6903 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเวทีถ่ายทอดบทบาทของท้องถิ่นสู่การมุ่งแก้ปัญหาการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ลดผลกระทบทางสุขภาพ-เชื้อดื้อยา ชูตัวอย่างการใช้ธรรมนูญ-ข้อตกลงร่วม กำกับการจำหน่ายอาหารและยาในพื้นที่ พร้อมสานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนเฝ้าระวังขายยาที่ไม่เหมาะสมตามร้านชำ-รถเร่ สู่เป้าหมายให้ประชาชนมีความรู้เบื้องต้นจัดการตนเองด้านสุขภาพ | ที่มาภาพประกอบ: freestocks.org (CC0)

ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2564 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า สช. ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “บทบาท อปท. กับการแก้ไขปัญหายาในชุมชนอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ประชาชนมีส่วนร่วมกับกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดการปัญหาการขายยาของร้านชำในชุมชน รถเร่ และแหล่งกระจายยาอื่นที่ไม่เหมาะสม

ประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หรือ Rational Drug Use (RDU) เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือกันในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน ซึ่งยาสามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก ทำให้มีการใช้ยาเกินความจำเป็นหรือไม่เหมาะสม เกิดความเสี่ยงจากการใช้ยา รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่ส่งผลกระทบต่อระบบการรักษาสุขภาพและตัวผู้ป่วยตามมา

ประยูร กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้แก่ประชาชาชนในพื้นที่ ผ่านสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ในสังกัด อปท. กว่า 442 แห่ง ที่จะมีบทบาทสำคัญตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกยา การจัดหา การสั่งจ่ายยา การให้คำปรึกษาหรือแนะนำให้ประชาชนรับประทานยา รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ให้แก่นักเรียนในสถานศึกษา เพื่อขยายผลไปยังครัวเรือนและชุมชนในพื้นที่ ปกป้องตนเองจากการใช้ยาหรือบริโภคยาอย่างสมเหตุผล

“บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของ อปท. คือการเฝ้าระวังและตรวจสอบการจำหน่ายยาที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาชุด ยาอันตรายต่างๆ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง ที่มีการจัดจำหน่ายในร้านขายของชำและรถเร่ในหมู่บ้านหรือชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อที่จะให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระการรักษาพยาบาลต่อไป” ประยูร กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และประธานอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมากว่า 40 ปี ทั้งการกำหนดยุทธวิธีในสถานพยาบาล ออกเกณฑ์จริยธรรมการขายยาต่างๆ อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่บรรลุผลเพราะขาดการบูรณาการขับเคลื่อนทั่วทั้งประเทศ ในปี 2562 จึงเกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศกลายเป็น RDU Country จึงถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรก ที่จะทำให้การใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยดำเนินการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผู้ผลิต ผู้สั่งยาเข้าประเทศ นำยาที่เหมาะสมและจำเป็นเข้ามา รวมถึงมีการกำกับดูแลด้านยา ขณะที่กลางน้ำ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้สั่งใช้ยา ต้องมีความเข้าใจในหลักการ สุดท้ายปลายน้ำ คือประชาชน หรือผู้ที่ได้รับยา ที่จะต้องมีความเข้าใจในเหตุผลการใช้ ทั้งประโยชน์และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงเราจะไม่ต้องการให้มีการใช้ยา แต่หมายถึงให้มีการใช้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ครอบคลุมทั้งการใช้ยาในคนและสัตว์ ทั้งยาแผนไทย แผนปัจจุบัน หรือยาสมุนไพรต่างๆ และที่สำคัญคือการมุ่งให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยก็สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ ด้วยการใช้ยาให้ถูกชนิด ขนาดเหมาะสม เกิดความคุ้มค่าสูงสุด” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เอกศิลา ปานศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย กล่าวว่า บทเรียนจากการดำเนินงานในพื้นที่ ต.ทุ่งหลวง พบว่ากลไกสำคัญต้องเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน โดยมีการใช้เครื่องมืออย่างธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ เป็นข้อตกลงร่วมกันในการกำกับการใช้ยาและคุ้มครองผู้บริโภค เช่น อาหารที่จำหน่ายในพื้นที่ต้องปลอดภัย ยาที่ขายในชุมชนต้องไม่เป็นยาอันตราย ร้านค้าหรือร้านชำจะจำหน่ายได้เฉพาะยาสามัญ ห้ามรถเร่ที่ขายสิ่งเหล่านี้เข้ามาในพื้นที่ เป็นต้น

ผู้อำนวยการ รพ.สต.ทุ่งหลวง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือเฉพาะในระดับตำบลอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้คนยังสามารถหาซื้อยาจากพื้นที่ใกล้เคียงได้ ฉะนั้นจึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมในระดับอำเภอ รวมถึงในจังหวัด ผ่านความร่วมมือทั้งหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ ภาคประชาชน รวมไปถึงตำรวจ ในการร่วมกันสอดส่องและเฝ้าระวังการจำหน่ายยาอันตรายต่างๆ ซึ่งเมื่อพบก็จะมีการจัดการ ทั้งมาตรการอ่อนไปจนถึงการใช้กฎหมายดำเนินการตามความเหมาะสม

ขณะที่ นพ.ปิยะ ฟองศรัณย์ ผู้อำนวยการส่วนสาธารณสุข สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนนทบุรี กล่าวว่า ไม่เฉพาะพื้นที่ในชนบท ที่จะมีปัญหาการจำหน่ายยาไม่เหมาะสมตามชุมชน ร้านชำ หรือรถเร่ หากแต่พื้นที่ในเมืองเองก็มีปัญหาเหล่านี้ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะในชุมชนแออัด หรือตามตลาดนัด ที่มีกรณีการจำหน่ายยาชุด ยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมสารอันตราย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ปัจจุบันมีความต้องการสูง มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ซึ่งหากมีความรู้ไม่เพียงพอก็อาจมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง

“ปัจจัยสำคัญคือบทบาทของท้องถิ่นที่จะต้องกระจายองค์ความรู้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ตั้งแต่ร้านค้า บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อสร้างความตระหนักและรอบรู้ถึงปัญหาการใช้ยา เพราะหากประชาชนตระหนักและมีความรู้แล้ว ถึงแม้ร้านมีขายแต่ถ้าไม่มีใครซื้อ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะลดน้อยลงไปเอง พร้อมกันกับการดำเนินการเชิงรุก สร้างเครือข่ายประชาชนที่จะช่วยเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านการใช้ยาในชุมชน อันจะนำไปสู่องค์ความรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน” นพ.ปิยะ กล่าว

ด้าน ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทราศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้ยาอย่างสมเหตุผล สิ่งสำคัญคือการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพราะการควบคุมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทย์หรือเภสัชกรที่สั่งจ่ายยาเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตัวเราทุกคนที่ได้รับยามาอยู่ในมือ จะใช้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า และปลอดภัย ตามความจำเป็นและเหมาะสมได้อย่างไรเป็นสิ่งสำคัญ

“น่าชื่นชมว่าแม้มติสมัชชาสุขภาพเรื่องนี้ เพิ่งจะมีมา 2 ปี แต่มีการดำเนินงานที่คืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะบางแห่งที่มีการเดินหน้ามาก่อนมีมติ ด้วยความร่วมมือของบุคลากรด่านหน้าที่ทำงานเชิงรุก เฝ้าระวัง สร้างความตระหนักรู้ของชุมชน และที่สำคัญคือความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งร้านชำ ร้านขายยา คลินิกเอกชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ในพื้นที่เข้ามาหนุนเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชน ที่แม้จะดูเป็นพลังเล็กๆ แต่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ RDU Country ได้ต่อไป” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: