อว.แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย คลอดแนวปฏิบัติลดขัดแย้ง สร้างระบบถ่วงดุล

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2874 ครั้ง

อว.แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย คลอดแนวปฏิบัติลดขัดแย้ง สร้างระบบถ่วงดุล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทำแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาและประกาศเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหาร ลดความขัดแย้ง และสนับสนุนให้เกิดกลไกการถ่วงดุลการบริหาร ระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยธรรมาภิบาลในระดับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา-ในการสรรหาอธิการบดี ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่ง และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และเงื่อนไขการได้มาซึ่งอธิการบดี

เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า จากปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาในหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารและภาพลักษณ์ของอุดมศึกษาไทย ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากโครงสร้างของการบริหาร ในระดับสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย บัดนี้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้จัดทำแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาและประกาศเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหาร ลดความขัดแย้ง และสนับสนุนให้เกิดกลไกการถ่วงดุลการบริหาร ระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยธรรมาภิบาลในระดับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา – ในการสรรหาอธิการบดี ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่ง และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และเงื่อนไขการได้มาซึ่งอธิการบดี โดยคำนึงถึงความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานเป็นสำคัญ/คณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีควรเป็นบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการสรรหาทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 1 ใน 3 และเป็นบุคลากรภายในไม่เกิน 1 ใน 3 / อธิการบดีควรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี และไม่ควรดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปี/ เมื่อการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว ให้สภาฯ พิจารณาให้ได้ข้อยุติ โดยการพิจารณาต้องโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม ก่อนเสนอสำนักงานปลัดกระทรวงเพื่อดำเนินการต่อไป/ ให้กำหนดระยะเวลารักษาการอธิการบดีได้ไม่เกิน 180 วัน และสามารถขยายได้หนึ่งครั้งไม่เกิน 90 วัน

นายเอนก กล่าวต่อว่าสำหรับธรรมาภิบาลในระดับสภาสถาบันอุดมศึกษา – สภาสถาบันอุดมศึกษาควรมีการกำหนดสัดส่วนจำนวนกรรมการสภาฯ โดยให้มีบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการสภาฯ ทั้งหมด/ ให้สภาฯแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกและกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่ง และประธานคณะกรรมการสรรหาควรเป็นบุคคลภายนอก หากบุคลากรภายในจะมาเป็นคณะกรรมการสรรหาควรผ่านการคัดเลือกจากบุคลากรภายในและไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร/ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกและกรรมการสภาฯ ไม่ควรจำกัดเกณฑ์อายุ แต่ควรผ่านการฝึกอบรมเสริมทักษะและเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญในการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษา/ นายกและกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิควรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี และไม่ควรดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปี/ สภาสถาบันอุดมศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงจัดให้มีระบบควบคุมภายในและระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรม และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจากบุคคลซึ่งเป็นกลางที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง/ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสภาสถาบันอุดมศึกษากับอธิการบดีจนทำให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอุดมศึกษาอย่างร้ายแรง หากนายกสภาฯหรืออธิการบดีแจ้งสำนักงานปลัดกระทรวงทราบ หรือในกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงพบว่ามีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเสนอ กกอ. เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีต่อไป

“ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นทิศทางให้กับสถาบันอุดมศึกษาได้ไปปรับเปลี่ยน ระเบียบ ข้อบังคับ ของสถาบันให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติดังกล่าว และการดำเนินการของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ของแต่ละสถาบัน โดยแนวปฏิบัตินี้ไม่สามารถบังคับใช้ในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. ในฐานะเลขานุการ กกอ. ไปทำความเข้าใจกับสภาและผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ในแนวปฏิบัตินี้อีกครั้ง โดยหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาและส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาได้”รมว.อว.กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: