ประชาคมโลกต้องใช้โอลิมปิกฤดูหนาวเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในจีน

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.พ. 2565 | อ่านแล้ว 2421 ครั้ง

ประชาคมโลกต้องใช้โอลิมปิกฤดูหนาวเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในจีน

แอมเนสตี้เรียกร้องประชาคมโลกต้องใช้โอลิมปิกฤดูหนาวและพาราลิมปิกเป็นโอกาสในการกดดันให้มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน

4 ก.พ. 2022 แอมเนสตี้เรียกร้องประชาคมโลกต้องใช้โอลิมปิกฤดูหนาวและพาราลิมปิกเป็นโอกาสในการกดดันให้มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน ซึ่งมหกรรมกีฬานี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ. 2022 นี้ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน 

เมืองหลวงของจีนจะได้ต้อนรับทัพนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และนักการทูตจากทั่วโลก ในการแข่งขันที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่มหกรรมกีฬานี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องหลายประการในประเทศจีน 

อัลคัน อาคาด นักวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แม้มีความคาดหวังว่าการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งจะเป็นมหกรรมกีฬาในความทรงจำ แต่คนที่เฝ้ารอดูไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของจีน นักกฎหมายและนักกิจกรรมต้องถูกจำคุกเพียงเพราะทำงานของตนอย่างสงบ เหยื่อผู้ถูกละเมิดทางเพศต้องเผชิญกับบทลงโทษเพียงเพราะกล้าออกมาเปิดโปง มีการคาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้ถูกประหารชีวิตหลายพันคน กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมจำนวนมากต้องเผชิญกับการถูกกักขัง ถูกทรมานและประหัตประหารอย่างเป็นระบบในค่ายกักกัน”  

“การแข่งขันครั้งนี้ไม่ควรถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงของจีน ในทางตรงกันข้าม ควรถูกใช้เป็นโอกาสเพื่อกดดันให้จีนแก้ปัญหาเหล่านี้”  

รัฐบาลจีนให้หลักประกันหลายประการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว รวมทั้งการเคารพเสรีภาพสื่อ สิทธิด้านแรงงาน  “การพลัดถิ่นฐาน” และประกันโอกาสอย่างแท้จริงที่จะให้มีการเดินขบวนโดยสงบระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ดำเนินการอย่างเต็มที่และให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติเพื่อตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณะ ก่อนและระหว่างการแข่งขันครั้งนี้ 

“สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกถูกละเมิดอย่างเป็นระบบในประเทศจีน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไอโอซีและคณะกรรมการโอลิมปิกของชาติต่าง ๆ ในการแข่งขันครั้งนี้ ต้องเคารพความต้องการของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ด้านกีฬาที่ต้องการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งประเด็นที่ถูกมองว่า “ละเอียดอ่อน” สำหรับทางการจีน”  

“ไอโอซียังต้องยืนยันว่า รัฐบาลจีนปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะประกันให้เกิดเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ถูกปิดกั้นทั้งสำหรับนักข่าวชาวจีนและนักข่าวต่างประเทศ และให้การประกันว่าผู้ที่ต้องการชุมนุมประท้วงโดยสงบในระหว่างการแข่งขันครั้งนี้จะสามารถกระทำการเช่นนั้นได้”  อัลคัน อาคาดกล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และจัดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญสุดในการหารือกับทางการจีน  

อัลคัน อาคาดกล่าวเสริมว่า “โลกต้องเรียนรู้จากบทเรียนของโอลิมปิกเมื่อปี 2551 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่งเช่นเดียวกัน ตอนนั้นรัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงสิทธิมนุษยชน แต่การปรับปรุงดังกล่าวกลับไม่เคยเกิดขึ้นจริงอย่างที่เคยสัญญาไว้” 

“โอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่งในปีนี้ จะต้องไม่กลายเป็นเพียงโอกาสของการใช้กีฬาในการฟอกตนเองของทางการจีน และประชาคมโลกต้องไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมเพื่อโฆษณาชวนเชื่อในครั้งนี้ด้วย” 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: