UN เตือน 'วิกฤตอาหารโลก' คร่าชีวิตคนจน 'สหรัฐฯ - จีน' ต่างโทษกันและกันว่าเป็นต้นเหตุ

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 7335 ครั้ง

เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2022 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาเตือนอย่างจริงจังว่า 'วิกฤตอาหารโลก' จะคร่าชีวิตคนยากจนในหลายประเทศ เนื่องจากการขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง ด้าน 'สหรัฐฯ - จีน' ต่างโทษกันและกันว่าเป็นต้นเหตุของ 'วิกฤตอาหารโลก' ครั้งนี้ | ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2022 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้งโครงการอาหารโลก (World Food Program – WFP) และองค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) ได้ออกมาเตือนอย่างจริงจัง ผ่านรายงานฉบับล่าสุดที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันทำและมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านอาหารของคนทั้งโลก ที่กำลังเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งปัญหาด้านสภาวะอากาศ ผลกระทบจากโควิด-19 รวมไปถึงสงครามในยูเครนที่ดันให้ราคาของเชื้อเพลิงและอาหารพุ่งสูงขึ้น

เดวิด บีสลีย์ กรรมการบริหารของโครงการ WFP กล่าวว่า วิกฤตินี้กำลังทำร้าย “คนที่จนที่สุด ในกลุ่มยากไร้” อีกทั้งยังคุกคามหลายล้านครัวเรือนที่มีรายได้แค่พอประทังชีวิต โดยในแถลงการณ์ล่าสุดนี้ บีสลีย์ยังชี้ว่า “สถานการณ์ในขณะนี้ เลวร้ายยิ่งกว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2011 รวมถึงย่ำแย่กว่าวิกฤติราคาอาหารในช่วงปี 2007 – 2008 ที่มี 48 ประเทศได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้านการเมือง การจลาจล และการประท้วง”

เขาเสริมว่า ผลกระทบของวิกฤติอาหารเริ่มปรากฏให้เห็นในประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน เปรู และศรีลังกา แต่สิ่งนี้เป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของสถานการณ์ทั้งหมด

ในรายงานยังได้กล่าวถึง “จุดที่มีประชากรเกิดความหิวโหยมากกว่าปกติ” โดยมีการเรียกร้องให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีการคาดว่า สถานการณ์จะเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

แถลงการณ์ร่วมจากหน่วยงานทั้งสอง ที่เกี่ยวข้องด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ ประเมินด้วยว่า จะเกิดผลกระทบแบบฉับพลัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประสบปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น การผลิตอาหารที่ลดลง สืบเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

องค์การสหประชาชาติได้อ้างอิงถึงพื้นที่ แอฟริกาตะวันออก ที่เผชิญปัญหาด้านสภาพอากาศ อย่างเช่น โซมาเลีย เอธิโอเปีย และเคนยา ซึ่งในอดีตไม่เคยต้องประสบกับภัยแล้งมาก่อน ขณะที่ ทางตอนใต้ของซูดาน ต้องเจอกับน้ำท่วมใหญ่ มาเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน

รายงานร่วมของ WFP และ FAO ยังได้พูดถึงสภาพอากาศที่น่ากังวล อย่างเช่น เขตรอยต่อซาเฮล ซึ่งเป็นพื้นที่แนวกว้างของแอฟริกาที่ทอดยาวไปทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา และพบว่า มีปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของพายุเฮอร์ริเคนตามฤดูกาลในทะเลแคริบเบียนที่มีความรุนแรงขึ้น และปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยที่ลดลงในอัฟกานิสถาน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ต้องผ่านความแล้งมาหลายฤดู เจอความรุนแรงอันเป็นผลมาจากความวุ่นวายด้านการเมือง ซึ่งรวมไปถึงการกลับมาปกครองของตาลิบันเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวระบุว่า มีพื้นที่ 6 ประเทศที่กำลังต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติรุนแรง และอยู่ในสถานะที่ต้อง “เฝ้าระวังสูงสุด” อันได้แก่ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ซูดานตอนใต้ เยเมน อัฟกานิสถาน และโซมาเลีย โดยข้อมูลชี้ว่า มีประชากรราว 750,000 คนที่กำลังเผชิญความอดยากจนเสียชีวิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และประชากรราว 400,000 คนในกลุ่มดังกล่าวนั้นใช้ชีวิตอยู่ในเขตพื้นที่การสู้รบทิเกรย์ของเอธิโอเปีย โดยหน่วยงานทั้งสองของ UN กล่าวว่า ตัวเลขนี้ถือว่า สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายประเทศ นับตั้งแต่เกิดทุพภิกขภัยในโซมาลีย ปี 2011

สำนักข่าวเอพี ยังอ้างถึงรายงานการศึกษาโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาและระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างน้อย 1,900 คนในพื้นที่ทิเกรย์ฝั่งตะวันออกต้องเสียชีวิตลง เนื่องจากขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวไม่ได้รวมถึง ทิเกรย์ฝั่งตะวันตก ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังที่ส่งมาจากพื้นที่อัมฮารา

สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่ในกลุ่ม “น่ากังวลอย่างมาก” ได้แก่ คองโก เฮติ เขตซาเฮล ซูดาน และซีเรีย รวมถึงมีการเพิ่ม เคนยา เข้าไปในรายชื่อดังกล่าว ขณะที่ รายชื่อกลุ่มประเทศที่ต้องจับตา ประกอบไปด้วย ศรีลังกา เบนิน เคปเวิร์ด กินี ยูเครน และซิมบับเว โดยประเทศอย่าง แองโกลา เลบานอน มาดากัสการ์ และโมซัมบิก นั้นต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง

'สหรัฐฯ - จีน' ต่างโทษกันและกันว่าเป็นต้นเหตุ

ช่วงเดือน มิ.ย. 2022 สื่อของทางการจีน The China Daily กล่าวหารัฐบาลกรุงวอชิงตัน โดยระบุว่า "ราคาอาหารโลกได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการส่งออกธัญพืชของรัสเซียและยูเครนต่างประสบภาวะชะงักงันเนื่องจากอุปสรรคในการขนส่งที่ท่าเรือต่าง ๆ และมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก

ส่วนทางสหรัฐฯ กล่าวหากลับว่า จีนคือผู้กักตุนอาหารรายใหญ่ ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง กล่าวไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหารคือความกังวลที่สุดของรัฐบาลจีน พร้อมเร่งเร้าให้เกษตรกรจีนเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อรับประกันว่าประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกจะสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติในครั้งนี้

วีโอเอได้สอบถามไปยังทูตสหรัฐฯ จิม โอไบรอัน หัวหน้าสำนักงานความร่วมมือด้านมาตรการลงโทษ ว่า จีนกับสหรัฐฯ จะสามารถร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารโลกในครั้งนี้ได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งทูตโอไบรอันตอบว่า "เราต้องการเห็นจีนทำตัวเป็นมหาอำนาจในการช่วยแก้ปัญหาในตลาดอาหารโลกเช่นกัน" "แต่เรากังวลว่าจีนอาจกำลังกักตุนอาหารในประเทศ และใช้วิธีเดินหน้าซื้อธัญพืชในตลาดโลกในช่วงเวลาที่เราต้องการเห็นจีนยื่นมือเข้าช่วยประเทศที่กำลังเดือดร้อนมากกว่า"

แต่บทความในสื่อของทางการจีน Global Times ระบุว่า "เวลานี้จีนผลิตธัญพืชป้อนความต้องการในประเทศมากกว่า 95% ซึ่งเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยที่จีนต้อง 'กักตุนธัญพืช' ในตลาดโลก" พร้อมกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า "เป็นตัวการใหญ่เบื้องหลังวิกฤติอาหารโลกในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากจีนที่พยายามช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร"

รายงานของธนาคารโลกชี้ว่า ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2022 ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 60% และ 42% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับราคาในเดือนมกราคมปีที่แล้ว

ความกังวลเรื่องวิกฤติอาหารโลกเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากรัสเซียบุกรุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยรัสเซียและยูเครนล้วนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก แต่ปริมาณการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันทานตะวัน ต่างลดลงมากหลังเกิดสงคราม

ทั้งนี้ ประเทศในแอฟริกาต้องพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียและยูเครนอย่างมากในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งผู้นำประเทศในแอฟริกาบางประเทศได้ตำหนิมาตรการลงโทษของชาติตะวันตกว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติอาหารที่เกิดขึ้น

ประธานาธิบดียูกานดา โยเวรี มูเซเวนี กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า "สงครามในยูเครนและมาตรการลงโทษของชาติตะวันตกคือสาเหตุของปัญหาขาดแคลนข้าวสาลี" ส่วนประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซีริล รามาโฟซา กล่าวว่า "แม้แต่ประเทศที่อยู่วงนอกหรือไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้ก็ยังต้องได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษที่ตะวันตกนำมาใช้กับรัสเซีย"

ทางด้านประธานสหภาพแอฟริกา แม็กกี ซอลล์ ผู้ซึ่งพบหารือกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ผู้นำรัสเซียพร้อมและต้องการจะเปิดทางให้มีการขนส่งธัญพืชออกจากยูเครน แต่ติดที่มาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก ซึ่งผู้นำแอฟริกาผู้นี้เรียกร้องให้ทุกฝ่าย "ยกเลิกมาตรการลงโทษในส่วนของข้าวสาลีและปุ๋ยต่าง ๆ "

แต่ทางทูตโอไบรอัน ของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า การพูดถึงมาตรการลงโทษต่อรัสเซียว่าส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารโลกนั้นยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก เพราะในความเป็นจริง สหรัฐฯ มิได้ลงโทษการผลิตและส่งออกอาหารและปุ๋ยของรัสเซีย แต่รัสเซียเองที่ขัดขวางเส้นทางการขนส่งอาหารจากยูเครนและรัสเซียลงไปประเทศทางใต้ของแผนที่โลก

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้นี้กล่าวว่า อเมริกาและสหภาพยุโรปพยายามที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งออกอาหารจากยูเครนให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ยูเครนส่งออกก่อนสงคราม แต่เพราะรัสเซียได้ยึดครองหรือทำลายแหล่งผลิตธัญพืชของยูเครนไปราว 30% ซึ่งรวมถึงการโจมตีใส่โรงงานแปรรูปและโกดังเก็บธัญพืชขนาดใหญ่หลายแห่ง

ทางด้าน คารี ฟาวเลอร์ ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารโลก กล่าวว่า "สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนกำลังผลักดันให้ประชากรโลกราว 40 ล้านคนต้องเข้าสู่กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร" และว่า ที่ผ่านมายูเครนผลิตอาหารป้อนประชากรโลกราว 400 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีธัญพืชปริมาณมากที่ยังคงค้างอยู่ตามโกดังต่าง ๆ ในยูเครนเพราะไม่สามารถออกจากท่าเรือที่ถูกกองทัพรัสเซียปิดทางหรือขัดขวางอยู่ได้

เมื่อเดือน พ.ค. 2022 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ประกาศเพิ่มเงินช่วยเหลือด้านอาหารให้แก่ประเทศตา่ง ๆ โดยเฉพาะในแอฟริกา รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปของรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า ได้ให้เงินบริจาค 130 ล้านดอลลาร์แก่องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ หรือ FAO ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของ Global Times ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเกษตรของจีน ยืนยันว่า จีนคือผู้บริจาครายใหญ่ให้แก่กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาทางการเกษตร หรือ IFAD ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการด้านการเกษตรในแอฟริกาหลายโครงการ


ที่มา: VOA [1] [2]


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: