รายงานผลการขับเคลื่อน “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ครั้งที่ 1-2 พบการรวมพลังปลดล็อคที่ดินเอกชนเพิ่ม “พื้นที่สาธารณะ” วางระเบียบ-กำหนดกติการ่วมจัดการ “หาบเร่แผงลอย” บูรณาการยกระดับ “บริการสุขภาพปฐมภูมิ” พร้อมคลอด “ธรรมนูญสุขภาพ” ไปแล้ว 12 เขต ตั้งเป้าเพิ่มอีก 10 เขตใน 2 ปี
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ภายในงาน สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี...สร้างได้!” โดยช่วงหนึ่งมีการจัดเวที “เสียงเล็กๆ ที่ร่วมสร้างมหานครแห่งสุขภาวะ” ซึ่งเป็นการรายงานการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1-2 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยถึงมติ “การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน” โดยระบุว่า การลงทุนเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ ได้ถูกให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ และเชื่อว่า กทม. เองกำลังเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นดีขึ้น
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้ใน กทม. เองไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่ ซึ่งเราจะเห็นพื้นที่เอกชนหลายแห่งถูกแปลงไปเป็นพื้นที่การเกษตร เช่น ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว โดยที่ไม่ได้ต้องการผลผลิต ซึ่งโจทย์ท้าทายคือการนำเอาพื้นที่เหล่านี้เข้ามาเพิ่มให้เป็นพื้นที่สาธารณะ มาสร้างคุณูปการเพื่อสุขภาวะของคนในเมืองได้อย่างไร ขณะเดียวกันคือการพัฒนาให้สวนหรือพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ กลายเป็นทางเลือกที่ผู้คนจะนึกถึงเมื่อต้องการใช้เวลาในยามว่าง หากแต่เรื่องเหล่านี้รัฐเองคงจะทำลำพังเพียงคนเดียวไม่ได้
“วันนี้หลายภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น กทม. เองมีการตั้งคณะทำงาน รวมทั้งกลไกในระดับเขตที่มีการเพิ่มภารกิจเรื่องพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น และเราคาดหวังที่ขยายความร่วมมือไปสู่ภาคชุมชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน ที่จะปลดล็อคที่ดินของเอกชนเข้ามาแบ่งปันเป็นพื้นที่สาธารณะ ภายใต้การกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ดี สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการรวมพลังเข้ามาสร้างกิจกรรมดีๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเมืองได้” ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงมติ “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของคนกรุงเทพมหานคร” ระบุว่า เรื่องของหาบเร่แผงลอยถูกมองใน 2 กลุ่มความคิดเห็น คนกลุ่มหนึ่งมองเป็นการทำให้เมืองสกปรก กีดขวางทางเท้า ขณะที่คนอีกกลุ่มมองเป็นส่วนที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ขณะเดียวกันก็ยังเป็นอัตลักษณ์และเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวของ แต่ไม่ว่ามุมมองไหน สิ่งที่คนทั้ง 2 กลุ่มเห็นตรงกันคือการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนั้น คือสิ่งจำเป็น
สำหรับประเด็นเรื่องนี้ได้ถูกพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 และเกิดเป็นมติร่วมกันคร่าวๆ ใน 4 ข้อ คือ 1. การพัฒนาหาบเร่แผงลอยเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ กทม. 2. ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับนโยบายและคณะกรรมการระดับพื้นที่ 3. สร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายหาบเร่แผงลอย 4. ทบทวนและปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย
“ปัจจุบันเรามีการตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาแลกเปลี่ยนให้ข้อเสนอแนะกับทีมผู้ว่าฯ ลงพื้นที่คุยพบปะกับเครือข่ายหาบเร่แผงลอย เพื่อกลับมากำหนดนโยบายแนวทางพัฒนา รวมทั้งการแก้ไขกฎกติกาที่ไม่เอื้อต่อการจัดระเบียบ ซึ่งเชื่อว่าการที่ กทม. เข้ามารับฟังเรื่องนี้อย่างตั้งใจ จะช่วยให้การจัดสำเร็จ โดยสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเห็นภายในสิ้นปี 2565 คือการตั้งคณะกรรมการหาบเร่แผงลอย รวมทั้งการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง” นางพูลทรัพย์ กล่าว
ขณะที่ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมติ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครรองรับภาวะวิกฤติ” ระบุว่า ภาพความโกลาหลในพื้นที่ กทม. ช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในแง่การค้นหาเคส หรือการดูแลรักษาพยาบาล ที่พบว่าเมืองใหญ่อย่าง กทม. แม้จะมีหน่วยบริการเยอะแยะมากมาย แต่กลับพบเจอประชาชนที่เข้าถึงไม่ได้จำนวนมาก จนเกิดการเสียชีวิตที่บ้านจำนวนไม่น้อย
พญ.สุพัตรา กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงช่องว่างของระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานใน กทม. และเป็นที่มาของข้อเสนอที่จะใช้โควิดมาเป็นบทเรียนในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมมีบทบาทช่วยให้คนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จากภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาเป็นพลังให้กับการจัดการในระบบได้อย่างต่อเนื่องไม่เพียงช่วงของโควิดเท่านั้น
“บทเรียนน่าสนใจในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ภาคีต่างๆ รวมตัวกันในนามเครือข่ายปลุกกรุงเทพ มารวมพลังปลุกกระแสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาให้ความสนใจประเด็นเหล่านี้ ซึ่งผู้บริหาร กทม.ชุดใหม่ ก็ได้มีจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนวัตกรรมระบบบริการต่างๆ เช่น Motor lance, Tele-health ตลอดจนมีการริเริ่มสร้างโรงพยาบาลในบางพื้นที่แล้ว ส่วนจุดที่อาจยังขยับได้ไม่มาก ทั้งการจัดการเครือข่าย ธรรมาภิบาล การเงินการคลังต่างๆ แม้เป็นเรื่องยากแต่ก็กำลังเริ่มต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความท้าทาย และจะคืบหน้าไปได้จากพลังของทุกส่วนที่คอยเฝ้าดู ช่วยเหลือ กระตุ้น และสานพลัง” พญ.สุพัตรา กล่าว
ด้าน นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ประธานคณะทำงานกำหนดแนวทางและติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมติ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ระบุว่า มติสำคัญในการประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งแรก คือการจัดทำธรรมนูญฯ เพื่อวางหลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติในการสร้างสุขภาวะของ กทม. โดยมีหลักการสำคัญที่พูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ การจัดการและกระจายทรัพยากร เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค
นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า หลังจัดทำธรรมนูญฯ แล้ว มีการลงนามร่วมกันของ 10 องค์กร เช่น สช. กทม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ เพื่อจับมือพัฒนากลไกให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ สู่ภาคปฏิบัติ จนเกิดการขยายเป็นธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ รวม 12 เขต ที่ให้เครือข่ายภายในเขตได้มาพูดคุยว่าจะจัดทำธรรมนูญ เคลื่อนโครงการที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร
“ส่วน 2 ปีข้างหน้า เราตั้งเป้าว่าคงมีการขยายการทำงานของธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ออกไปอีก 10 เขต เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพรวมของสุขภาวะคน กทม. เพิ่มมากขึ้น ผ่านการใช้เงินของกองทุนท้องถิ่น และเรายังคิดว่าจะทำให้เกิดศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมืองอีกอย่างน้อย 5 แห่งใน กทม. จึงขอชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ กทม. ร่วมกันต่อไป” นพ.วงวัฒน์ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ