จับตา: รายชื่อร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ (อัพเดท 4 พ.ย. 65)

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 5943 ครั้ง



สภาเภสัชกรรมเผยมีร้านยาคุณภาพที่ผ่านการอบรมเพื่อดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) 16 อาการ แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองแล้วกว่า 500 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 1,500 แห่งทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ ขณะนี้มีร้านยาบางแห่งเริ่มให้บริการแล้ว เช็ครายชื่อได้ที่นี่ (อัพเดท 4 พ.ย. 65)

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 เปิดเผยว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างสภาเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล

ภก.ปรีชา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ร้านยาได้มีส่วนร่วมช่วยดูแลประชาชน ทั้งโครงการแจก ATK การให้บริการ “เจอ แจก จบ” ซึ่งจ่ายยาและดูแลอาการทั่วไปที่เกิดจากโควิด มีการติดตามอาการหลังได้รับยา และได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมากเพราะรู้สึกว่าได้รับความใส่ใจ อีกทั้งสะดวกในการมารับบริการ

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2566 สภาเภสัชกรรมมองว่าเนื่องจากประชาชนเข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลจำนวนมากจนเกิดความแออัดอย่างมาก ขณะที่แพทย์ก็มีภาระต้องดูแลทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ซึ่งหากมีหน่วยบริการที่ลดความแออัดได้ก็จะเป็นเรื่องดี อีกทั้งยังทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง สปสช.ก็ตอบรับในการให้ร้านยาเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบบริการปฐมภูมิ จนเป็นที่มาที่ให้ร้านยาดูแลอาการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป ซึ่งส่วนมากมักเป็นอาการที่พบเจอในลูกค้าที่มาซื้อยาอยู่แล้ว

ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น สภาเภสัชกรรมมุ่งเน้นในเรื่องการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จะต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด เมื่อขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพแล้ว ยังต้องเข้ารับการอบรมในการดูแลผู้ป่วย เช่น เมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านจะซักอาการอย่างไร ดูแลอย่างไร มาตรฐานการจ่ายยาเป็นอย่างไร เมื่อผ่านการอบรมแล้วยังต้องสอบให้ผ่านเกณฑ์จึงจะได้ใบประกาศนียบัตรรับรองและสามารถให้บริการดูแลโรคทั่วไปได้

“ในส่วนของ common illnesses ที่เภสัชกรร้านยาสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้นั้น จะมี 16 กลุ่มอาการ อาทิเช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ไอ หวัด มีน้ำมูก ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ตกขาว เป็นผื่นคัน อาการปวดกระดูกต่างๆ ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้หากไปโรงพยาบาลจะเสียเวลามาก ผู้ป่วยส่วนมากจึงมักจะเลือกมาที่ร้านยาแทน ดังนั้น เมื่อมีร้านยาที่เข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช.แล้ว ผู้ป่วยก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองรับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถไปที่ร้านยาได้เลย” ภก.ปรีชา กล่าว

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการนั้น ผู้ป่วยมาสามารถเดินไปที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้เลย โดยสังเกตที่หน้าร้านจะมีสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” เมื่อเข้าไปแล้วเภสัชกรจะขอบัตรประชาชนไปเสียบเครื่องอ่าน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นสิทธิบัตรทองหรือไม่ จากนั้นก็จะซักประวัติและจ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาและการปฏิบัติตัวต่างๆ แต่หากเป็นอาการที่ไม่อยู่ใน 16 กลุ่มอาการ เภสัชกรก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล

“ระบบของร้านยาจะมีแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูล ตัวแอปฯ จะบอกว่าเจ็บป่วยอาการอะไรตรงกับมาตรฐานการรักษาในหมวดไหน มีรายการยาไหนบ้างที่สามารถจ่ายได้ เภสัชกรก็จะจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ และเมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ และระหว่างนั้นหากคนไข้อาการไม่ดีขึ้น ร้านยาก็จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ต่อไป”ภก.ปรีชา กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านยาที่ผ่านการอบรมแล้ว 800 แห่ง ได้นำรายชื่อขึ้นเว็บไซต์แล้วประมาณ 500 แห่งและจะทยอยขึ้นเรื่อยๆ จนครบ นอกจากนั้นในเร็วๆนี้จะมีร้านยาที่ผ่านการอบรมรอบที่ 2 อีกกว่า 1,000 แห่ง รวมแล้วในอนาคตอันสั้นจะมีร้านยาที่ให้บริการโรคทั่วไปกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันสภาเภสัชกรรมก็จะประชาสัมพันธ์เชิญชวนร้านยาอื่นๆเข้ามาร่วมโครงการให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการให้บริการนั้น ขณะนี้เริ่มให้บริการในบางร้านได้แล้ว โดยผู้มีสิทธิบัตรทองสังเกตที่หน้าร้านจะมีสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย”

รายชื่อร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ผู้มีสิทธิบัตรทองรับยาที่ร้านได้ฟรี (อัพเดท 4 พ.ย. 65)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: