'พม. - พอช. - สภาองค์กรชุมชน' ความสัมพันธ์ที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของขบวนประชาชน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 6 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3777 ครั้ง


หลังจากเขียนบทความเรื่อง 'จุดยืนที่ถูกต้องของสภาองค์กรชุมชนต่อร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน' เผยแพร่ไปในสื่อช่องทางต่างๆ เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ข้อคิดแก่สภาองค์กรชุมชนว่าควรมีจุดยืนและท่าทีอย่างไรต่อร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนที่รัฐบาลกำลังผลักดันโดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและภัยความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ 

ก็มีเพื่อนในแวดวงเอ็นจีโอสื่อสารกลับมาเพื่อขอทำความเข้าใจว่า "1. สภาองค์กรชุมชนแม้จะได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)) ก็เป็นการให้ความสนับสนุนตามกฎหมายที่ พอช. ต้องให้กับทางสภาองค์กรชุมชน มีงบประมาณจัดสรรให้ชัดเจน ไม่ได้มีประเด็นว่าถ้าสภาองค์กรชุมชนประพฤติตัวไม่ดีจะไม่ให้งบฯ เรื่องนี้ พอช. ไม่สามารถทำแบบนั้นได้

"2. ในช่วงที่ผ่านมายังมีกรณีที่สภาองค์กรชุมชนเคลื่อนไหวกดดันขอให้รัฐมนตรี พม. ลาออก อันเนื่องมาจากการแทรกแซงของรัฐมนตรี พม. ต่อ พอช. สภาองค์กรชุมชนก็ทำมาแล้ว

"3. ผู้นำสภาองค์กรชุมชนแต่ละคนต่างก็มีแนวทางทิศทางของตนเอง อย่างไรก็ตาม แกนนำระดับชาติและผู้นำสภาองค์กรชุมชนส่วนใหญ่ต่างมีทิศทางชัดเจนในเรื่องการทำงานที่เป็นอิสระ (ไม่ได้ถูกครอบงำจาก พอช. ตามที่ผู้เขียนกล่าวหา) มีแนวทางและเป้าหมายชัดเจน ไม่ได้คล้องจองไปกับรัฐหรือ พอช. ดังที่จะมีข้อเรียกร้องต่อรัฐต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในทุกๆ ปีต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง"

จึงได้ตอบกลับไปว่าขอบคุณที่ให้ข้อมูล "แต่ข้อเท็จจริงที่รับรู้และเห็นมายังมีการครอบงำจาก พอช. ต่อสภาองค์กรชุมชนมาโดยตลอด"

เพื่อนจึงตอบกลับมาว่า "สภาองค์กรชุมชนรับรู้และต่อสู้ดิ้นรนมาตลอด แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ยังสู้อยู่ อยู่ที่ภาคประชาสังคมและเครือข่ายจะช่วยกันหนุนช่วยอย่างไรด้วย"

จึงตอบกลับไปว่า "(ก่อนที่จะมาขอให้ภาคประชาสังคม กลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดสภาองค์กรชุมชนตามกฎหมายสภาองค์กรชุมชนหนุนช่วย) สภาองค์กรชุมชนคงต้องช่วยตัวเองก่อนด้วยการเสนอแก้กฎหมายสภาองค์กรชุมชนเพื่อเอาตัวเองออกมาจากการครอบงำของ พอช. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อน (ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะมาขอให้คนอื่นช่วย ทีตัวเองยังไม่เคยเห็นช่วยคนอื่นเลย โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ส่วนใหญ่อยากเป็นสภาองค์กรชุมชนกันก็เพื่อให้มีตำแหน่งหัวโขนให้ได้รับการยอมรับในระบบราชการ ไม่เคยคิดที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐและทุนอย่างจริงจัง)" ข้อความในวงเล็บที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดในย่อหน้านี้ไม่ได้กล่าวออกไป แต่อยู่ในบริบทที่คู่สนทนาน่าจะเข้าใจได้ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารประเด็นนี้

บทสนทนาของเราสองคนยังไม่จบแค่นี้

เพื่อน : "ใช่ เป็นงานสำคัญหนึ่งที่สภาองค์กรชุมชนผลักดัน ตอนนี้ทำกฎหมายเข้าชื่อ ได้รายชื่อครบแล้ว เข้าสู่กระบวนการทางสภาแล้ว (เข้าชื่อเพื่อขอแก้ไขพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551) แม้เราจะรับรู้กันอยู่ถึงข้อจำกัดทางรัฐสภา แต่ก็ต้องทำ เป็นกระบวนการเรียนรู้ของชาวสภาองค์กรชุมชนด้วย"

ผม : "สิ่งที่สภาองค์กรชุมชนต้องทำ คือ (1) ประกาศต่อสาธารณะดังๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับที่ พอช. ไปเป็นลูกมือให้ พม. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายนี้ แล้วดึงสภาองค์กรชุมชนไปพัวพันด้วย

"(2) ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวร่วมกับพี่น้องอื่นๆ ให้มากกว่านี้ เช่นวันที่ 24 มีนาคมนี้ที่พวกเราจะไปชุมนุมกันที่ พม.[*] ไม่ใช่กำหนดบทบาทตัวเองเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังฯ ของ พม.

"และ (3) ประณามเวทีรับฟังฯ ของ พม. ต่อสาธารณะให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่แสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังฯ ว่าไม่เห็นด้วยก็ถือว่าพอแล้ว"

เพื่อน : "1. เวทีรับฟังฯ จัดโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการของ พม. มิใช่จัดโดย พอช. คนละหน่วยงาน กรุณาแยกแยะ ขณะที่ที่มาของร่างกฎหมายนี้ที่ถูกแปรผันมาจาก 'ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....' ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ กลายเป็นกฎหมาย 'ควบคุม' การรวมกลุ่มของประชาชนนั้น ต้นเรื่องมาจากกฤษฎีกา

"2. โดยที่ประชุมของคณะกรรมการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนได้ทบทวนถกแถลงดูแล้วเห็นว่าควรจะมีสมาชิกเข้าร่วมเวทีรับฟังฯ เพื่อร่วมแสดงข้อคัดค้านและชี้แจงเหตุผล แทนที่จะปล่อยให้เป็นเวทีที่อาจจะถูกจัดตั้งให้มีผู้ไปแสดงความคิดเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ซึ่งสมาชิกสภาองค์กรชุมชนได้เข้าร่วมแสดงความเห็นคัดค้านในทุกเวที ในแง่นี้ได้ผลพอสมควร อีกอย่างหนึ่ง พอช. หาได้เป็นลูกมือให้ พม. แต่อย่างใด

"3. ขณะนี้ทางสภาองค์กรชุมชนกำลังพยายามระดมคนเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 24 มีนาคมด้วย

"4. วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ณ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายอนุกูล ปิดแก้ว อธิบดีฯ มอบหมายให้นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีฯ เป็นประธานพิธีเปิดและชี้แจงวัตถุประสงค์เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ 'ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....' สำหรับองค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชน (ภาคกลาง) ผ่านระบบซูม มีผู้เข้าร่วมจำนวน 216 คน โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจาจำนวน 29 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ให้ความคิดเห็นผ่านช่องทางแช็ต 33 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เพราะเป็นกฎหมายควบคุมและจำกัดสิทธิการทำงานขององค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา และไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล

"หากรัฐบาลต้องการควบคุมองค์กรที่รับเงินจากต่างประเทศซึ่งมีผลกระทบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมือง ควรจะมีกฎหมายเฉพาะสำหรับองค์กรกลุ่มนี้

"ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสองคนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ในบางประเด็น เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ การรายงานผลการดำเนินการ แต่ไม่เห็นด้วยในการเข้ามาควบคุมและการมีบทลงโทษที่มีความรุนแรง, รายงานจากสภาองค์กรชุมชนภาคกลาง"

ผม : "(1) รู้ครับว่าเป็น พม. จัด ไม่ใช่ พอช. แต่อย่าหลีกเลี่ยงที่จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นที่จะวิจารณ์ พอช. ที่ยอมไปเป็นลูกมือ พม. ทั้งที่ตัวเองเป็นองค์กรอิสระ (หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและวิสาหกิจ) การที่ พอช. เข้าไปเป็นลูกมือแบบนี้ก็ส่งผลต่อการดึงสภาองค์กรชุมชนเข้าไปด้วย (ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ พม. อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพราะเกรงใจ พอช.)

"(2) การที่สภาองค์กรชุมชนแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยในเวทีรับฟังฯ ส่งผลให้ร่างกฎหมายนี้ล้มไปไหม? รึไปสร้างความชอบธรรมให้กับร่างกฎหมายนี้ยิ่งขึ้นไปอีก? ขอให้คิดลึกกว่านี้ว่าถ้าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ พม./รัฐบาล สภาองค์กรชุมชนก็ควรทำอะไรมากกว่าแค่แสดงความเห็นในเวทีรับฟังฯ

"(3) ขอร้องล่ะอย่าได้พูดว่า พอช. ไม่ได้เป็นลูกมือ พม. ทั้งที่การกระทำตรงกันข้าม อย่าบิดเบือน"

เพื่อน : "1. พอช. อาจเป็นลูกมือ พม. ในเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ใช่เรื่องนี้ เพราะต้องให้เครดิตกับ พอช. ที่หนุนช่วยคัดค้านร่างกฎหมายนี้ด้วย

"2. ประเด็นนี้ถกแถลงกันค่อนข้างมากในที่ประชุมว่าสภาองค์กรชุมชนควรจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็มีมติว่าเราควรจะเข้าร่วม

"3. ขณะนี้สภาองค์กรชุมชนก็พยายามผลักดันให้ พอช. ทำบทบาทของตนเองให้ได้มากที่สุด แต่ก็เห็นด้วยว่ามีข้อจำกัดหลายประการ เพราะเป็นองค์การมหาชนที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรี พม.

"4. เห็นด้วยว่าควรวิจารณ์ พอช. โดยเฉพาะบทบาทของ พม. ที่มีต่อ พอช. แต่ในการวิจารณ์หากสามารถแยกแยะ เราก็จะได้เพิ่มมิตรมากกว่าศัตรู (โดยไม่จำเป็น)"

ผม : "(1) สิ่งที่ พอช. ช่วยคัดค้านร่างกฎหมายนี้แบบที่กำลังทำอยู่นี้ไม่พอหรอก ถ้าอยากให้สังคมเห็นถึงความจริงใจ พอช. ควรแถลงออกมาอย่างเป็นทางการเลยว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ พม. ทำ (จัดเวทีรับฟังฯ )

"(2) ควรถาม พอช. ว่ามีทัศนคติคล้อยตามรัฐในการแยกแยะชาวบ้าน/ประชาชนกลุ่มไหนบ้างว่าเป็นมิตรหรือศัตรูกับรัฐ, สิ่งที่ พอช. กำลังทำ (มีทัศนคติคล้อยตามรัฐ) คือแยกแยะว่าเอ็นจีโอ/กลุ่มประชาชนไหน 'ดี' เอ็นจีโอ/กลุ่มประชาชนไหน 'เลว'"

บทสนทนาของเราที่คุยกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาจบลงแค่นั้น จนกระทั่งวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาก็ได้เห็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ร่วมใจแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบแสดงฐานะและตำแหน่งในทุกวันจันทร์ตามนโยบายภาครัฐและมติ ครม. (ดู ภาพประกอบบทความ)[**]

ก็ได้แต่หวังลึกๆ ว่าสภาองค์กรชุมชนจะไม่มีเครื่องแบบเดินตามรอย พอช. ไปด้วย

คงต้องยกกฎหมายองค์การมหาชนขึ้นมาเตือนสติหรือวิพากษ์วิจารณ์ พอช. ให้หนักกว่าเดิม เพราะโดยเจตนารมณ์ที่ทำให้ พอช. เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ พอช. เป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (แม้ยังจะเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ก็ตาม) ซึ่งต้องมีระบบคิด วิธีปฏิบัติ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณที่แตกต่างจากหน่วยงานราชการที่มีความล้าหลัง อืดอาด ยืดยาด ล่าช้า มีลำดับชั้นการสั่งการมากเกินไป ไม่เป็นมิตรต่อประชาชน ไม่ตอบสนองต่อโลกสมัยใหม่ที่ภารกิจการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองจำเป็นต้องออกแบบหน่วยงาน/องค์กรใหม่ๆ ที่ฉีกกรอบระบบราชการ เพื่อให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัวที่จะอุทิศตนและองค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนเป็นที่ตั้ง

แต่เครื่องแบบของ พอช. สะท้อนให้เห็นว่า พอช. ต้องการย้อนกลับไปเป็นระบบราชการ ถอยห่างจากประโยชน์สาธารณะของประชาชน เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงขององค์กรตัวเองเป็นหลัก

ซึ่งในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ระบุว่ากิจการอันเป็นบริการสาธารณะที่จะจัดตั้งองค์การมหาชนได้ต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก, คำว่า 'ไม่แสวงหากำไร' คงแสลงหู พอช. มาก เพราะเป็นคำเดียวกันกับที่ปรากฎอยู่ใน 'ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....' ที่ พม. กำลังจัดเวทีรับฟังฯ อยู่ในขณะนี้ จึงอยากที่จะทำให้องค์กร พอช. หนีห่างจากคำๆ นี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยใส่เครื่องแบบแสดงตนเป็นเสมือนข้าราชการเสียเลย [***]

              

อธิบายเพิ่มเติม:

[*] ซึ่งในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาก็ได้มีพี่น้องจากสภาองค์กรชุมชนจากทุกภูมิภาคเกือบร้อยคนมาร่วมการชุมนุมในวันนั้นด้วย ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

[**] ในเว็บไซต์สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. (https://web.codi.or.th/20220328-32655/) ได้บรรยายประกอบภาพเพิ่มเติมว่า "ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ร่วมใจกันแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปฏิบัติงานของสถาบันฯ ในทุกวันจันทร์เพื่อเป็นการปลูกสร้างจิตสำนึกของความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นเครื่องแบบแห่งความภาคภูมิใจ และเป็นชุดอันทรงเกียรติของผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งนี้การแต่งครื่องแบบปฏิบัติงานมีวัตถุประสงค์ประการสำคัญเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้แผ่นดินและความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศชาติและประชาชน"

[***] แม้จะรู้อยู่ว่า 'ผลในทางกฎหมาย' ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะการไม่แสวงหากำไรตามกฎหมายองค์การมหาชนบังคับใช้ต่อ 'หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและวิสาหกิจ' ส่วนการไม่แสวงหากำไรตามร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรบังคับใช้ต่อ 'คณะบุคคลภาคเอกชน' ซึ่งแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ พอช. ทำ (แต่งเครื่องแบบเสมือนราชการ) คือ 'ผลในทางจิตวิทยาองค์กร' มากกว่า เพื่อสร้างความเป็นพวกเดียวกันกับรัฐให้แก่องค์กร พอช. ให้มากขึ้น, พฤติกรรมเช่นนี้แหละคือการหนีห่างประชาชน

              

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: