ประมงพื้นบ้าน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ล่องเรือบุกกรุงรณรงค์หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2781 ครั้ง

ประมงพื้นบ้าน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ล่องเรือบุกกรุงรณรงค์หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน

ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือทางไกลจากปัตตานีผ่านทะเลอ่าวไทยถึงแม่เจ้าพระยาแล้ววันนี้ เพื่อรณรงค์ 'ทวงคืนน้ำพริกปลาทู' หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน และเตรียมยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมการ ซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อแก้วิกฤติอาหารทะเลไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ เนื่องในวันทะเลโลกหรือวันมหาสมุทรโลก

6 มิ.ย. 2565 ชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จาก 23 จังหวัด ตลอดทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จัดกิจกรรมล่องเรือทางไกล “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน จากปัตตานีได้เดินทางมาถึงกรุงเทพแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะไปที่รัฐสภาสัปปายะสภาสถาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องตัวแทนรัฐบาลเร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ให้กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล พร้อมกำหนดโควต้าที่เป็นธรรมในการจับสัตว์น้ำ

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า กระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย กำลังส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศ ต่อชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงอาหารทะเลได้น้อยลง จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุม และส่งเสริมให้ผู้ขาย ผู้บริโภค และชาวประมงตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง

ในสถานการณ์ที่ทั้งโลกกำลังขาดแคลนอาหาร เรากลับปล่อยให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซื้ออาหารคุณภาพในราคาที่แพงขึ้นๆ ทั้งที่เรามีอาหารทะเลจำนวนมากมายมหาศาล แต่กำลังจะกลายเป็นอาหารที่มีราคาสูงจนผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางไม่สามารถเข้าถึงได้

“วันนี้เราเห็นกันแล้วว่า การจับ - การซื้อ - การขาย - การบริโภค “สัตว์น้ำวัยอ่อน” ได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทำร้ายชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กหลายแสนคนที่จะมีรายได้เลี้ยงชีพ ที่สำคัญคือ เป็นการทำลายโอกาสของประชาชนคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศที่จะได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ด้วยการปล่อยให้มีการนำ ”อาหารทะเล” น้ำหนักมากกว่า “300,000,000” กิโลกรัม (สามร้อยล้าน) ถูกป่นในราคาถูกๆ โดยผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมประมงและกลุ่มประกอบการอาหารสัตว์เท่านั้น”

นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเสริมว่า รัฐควรต้องกำหนดสัดส่วนโควต้าการจับสัตว์น้ำที่เป็นธรรม เพราะตอนนี้ประมงพานิชย์ได้โควต้ามากถึง 82 % ในขณะที่ ประมงพื้นบ้านทั่วประเทศเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าแค่ 18% จึงยังต้องเผชิญกับความยากจน

“สัดส่วนนี้ทำให้ประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจับสัตว์น้ำได้แค่ 18% เท่านั้น แม้จะไม่ได้กำหนดจำนวนวัน แต่เขาไม่มีโอกาส เพราะว่าเรือประมงพื้นบ้าน 50,814 ลำ เขารอจับสัตว์น้ำตัวเต็มวัย ต่อให้ประมงขนาดเล็กจับสัตว์น้ำทุกวันในรอบปี ก็ไม่มีโอกาสเพราะสัตว์น้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่จำนวนมากถูกกอบโกยจากประมงที่มีเครื่องมือศักยภาพสูงกว่าไปหมดแล้ว”

ด้าน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้ตั้งแคมเปญ "ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน" ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดซื้อ หยุดจับ หยุดกินสัตว์น้ำวัยอ่อน ช่วยกันส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลเร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 มาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” โดยให้มีการกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนทันที เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล พร้อมกำหนดโควต้าที่เป็นธรรมในการจับสัตว์น้ำ

“ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเรามีผลผลิตปลาทูปีละแสนกว่าตัน แต่ 4-5 ปีหลัง ลดฮวบฮาบเหลือหมื่นกว่าตันต่อปี ปลาทูไทยหายไป เราไปพบสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจคือ ผลการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กถูกรายงานเป็นผลการจับที่สูงที่สุดของบรรดาสัตว์น้ำทุกชนิด”

เมื่อการจับเอาสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นมา ก่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ และรวมถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาร่วมกัน ทั้งชาวประมง ผู้ซื้อ ผู้ขายคนกลาง และผู้บริโภค ต้องตระหนักเรื่องนี้ และภาครัฐไม่ควรโยนภาระให้ชาวประมง ในฐานะผู้ผลิต ผู้บริโภคไม่ซื้อเท่านั้น แต่ต้องบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ที่มีกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนทันที

“อันนี้ระบุชัดเจนใน พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ทั้งมาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดขนาดและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ส่วนอีกมาตราเพื่อแก้ไขปัญว่า หากติดมา 1-2 ตัวจะผิดหรือปล่า ก็จะมีอยู่ในมาตรา 71(2) ที่พูดถึงเรื่องการออกข้อกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะออกข้อกำหนด วิธีปฏิบัติกรณีที่จับสัตว์น้ำได้โดยบังเอิญ ฉะนั้นรัฐมนตรีเกษตรสามารถออกประกาศได้เลย ในการป้องกันแก้ปัญหาการทำลายหรือจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากเกินไป“

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยย้ำว่า ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้มแข็ง จึงควรตระหนักถึงปัญหาแล้วประกาศมาตรการควบคุม เชื่อว่าเมื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะสามารถเพิ่มปริมาณอาหารทะเลให้มีคุณภาพมากขึ้น ราคาอาหารทะเลลดลงจนถึงระดับที่เหมาะสมผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. ซึ่งตรงกับวันทะเลโลกหรือวันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) นี้ ชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จะรวบรวมรายชื่อของผู้บริโภคในแคมเปญ "ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน" บนเว็บไซต์ change.org พร้อมทั้งข้อเรียกร้องของเครือข่ายไปยื่นหนังสือให้ตัวแทนรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจับตัวอ่อนสัตว์น้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการล่องเรือประมงในแม่น้ำเจ้าพระยาไปเทียบท่าสัปปายะสภาสถานในวันดังกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: