นานาชาติเห็นชอบควบคุมการเคลื่อนย้ายซากเครื่องใช้ไฟฟ้าข้ามแดน

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2032 ครั้ง

นานาชาติเห็นชอบควบคุมการเคลื่อนย้ายซากเครื่องใช้ไฟฟ้าข้ามแดน

ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย 3 อนุสัญญา ณ สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา นานาชาติมีมติเพิ่มรายการของเสียประเภทซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของสารอันตรายสูงเป็นของเสียที่ต้องได้รับอนุญาตจากประเทศต้นทางและปลายทางก่อนการเคลื่อนย้ายข้ามแดน | ที่มาภาพ: Wikimedia

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2565 ว่าในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย 3 อนุสัญญา ณ สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมานานาชาติมีมติเพิ่มรายการของเสียประเภทซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของสารอันตรายสูงเป็นของเสียที่ต้องได้รับอนุญาตจากประเทศต้นทางและปลายทางก่อนการเคลื่อนย้ายข้ามแดน

ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 รัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ระหว่างวันที่ 6-17 มิ.ย. 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยประธานอนุกรรมการ 3 อนุสัญญาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการฯ ผู้แทนกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมการเจรจา

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่าที่ประชุมรัฐภาคีฯ อนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 มีมติข้อตัดสินใจสำคัญคือ การเพิ่มรายการของเสียประเภทซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของสารอันตรายสูงเป็นของเสียที่ต้องได้รับอนุญาตจากประเทศต้นทางและปลายทางก่อนการเคลื่อนย้ายข้ามแดน การรับรองหลักเกณฑ์ด้านเทคนิคเรื่องการเผาของเสียอันตรายในเตาเผาอุตสาหกรรม การกำจัดด้วยระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล การจัดการของเสียปรอท และของเสีย POPs (สารมลพิษตกค้างยาวนาน) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเทคนิคสำหรับการจัดการยางรถยนต์ใช้แล้ว แบตเตอรี่ตะกั่วกรด และของเสียพลาสติก เพื่อให้รัฐภาคีใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดการของเสียชนิดนั้น ๆ

ในส่วนของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยคือ ดร.พาลาภ สิงหเสนี เป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมี มีการเลื่อนวาระการพิจารณาเพิ่มรายการสารเคมีในภาคผนวก 3 ซึ่งประเทศผู้ส่งออกต้องแจ้งให้ประเทศปลายทางทราบล่วงหน้า และเลื่อนการพิจารณาวาระข้อเสนอของประเทศกลุ่มแอฟริกาที่ขอสนับสนุนด้านการเงินเป็นพิเศษไปในการประชุมรัฐภาคีครั้งต่อไป สำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มสมัยที่ 10 ได้บรรจุสารเปอร์ฟลูออโรเฮกเซนซัลโฟนิก (PFHxS) เพิ่มเติมในภาคผนวก เอ โดยไม่มีข้อยกเว้นพิเศษ ซึ่งภาคีสมาชิกต้องเลิกใช้และกำจัดให้หมดไป รวมถึงประเทศไทย

การประชุมครั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้แสดงจุดยืนของประเทศและให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 อนุสัญญาซึ่งสอดคล้องตามนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาล อาทิ การห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การจำกัดการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อสนับสนุนการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ การพิจารณาลดการใช้สารที่มีความอันตรายสูง สารที่มีฤทธิ์ตกค้างยาวนาน และสารทำลายชั้นบรรยากาศ สำหรับการประชุมรัฐภาคีของ 3 อนุสัญญาครั้งถัดไปกำหนดจัดขึ้นในเดือน พ.ค. 2566 ณ เครือรัฐบาฮามาส

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: