นักวิชาการแนะ 'แฟนคลับหมูกระทะ' รู้จักวิธีสังเกตอาหารที่ปนเปื้อน 'ฟอร์มาลิน'

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3488 ครั้ง

นักวิชาการแนะ 'แฟนคลับหมูกระทะ' รู้จักวิธีสังเกตอาหารที่ปนเปื้อน 'ฟอร์มาลิน'

นักวิชาการแนะ 'แฟนคลับหมูกระทะ' รู้จักวิธีสังเกตอาหารที่ปนเปื้อน 'ฟอร์มาลิน' วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ

6 ธ.ค. 2565 เพจสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าต้องเรียกได้ว่าสร้างความวิตกกังวล ให้กับแฟนคลับ หมูกระทะ เป็นอย่างมากเลยทีเดียวหลังจากที่ กรมปศุสัตว์ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี เข้าตรวจสอบสถานประกอบการแปรรูปวัตถุดิบเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ รายใหญ่แห่งหนึ่ง พบ มีการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน ก่อนส่งไปยังร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีกจำนวนมาก

ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาจารย์อ๊อด นักวิชาการชื่อดัง ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า

“อาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้"

"ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ"

"ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน"

"เมื่อซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลีนทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้ ” รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2565 เพจ Voice TV รายงานว่า'กรมปศุสัตว์' ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรีตรวจสอบแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน กว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง ปริมาณน้ำหนักรวม 25,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของยังไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสัตว์ได้ จึงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีความเสี่ยงแพร่เชื้อโรคระบาดสัตว์ร้ายแรงเช่น แอฟริกาอหิวาต์ในสุกร และโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าได้รับรายงานจาก นายสัตวแพทย์ชุติพล มงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่ แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตหวั่นแพร่โรคระบาดสัตว์ร้ายแรง

ผลการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าสถานประกอบการดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหาร ไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์(ร.10) ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์(ร.3) และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์(รน.) ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559

อีกทั้งยังพบการผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค ชิ้นส่วนเครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ประกอบด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์

พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดอายัดของกลางชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโคที่อยู่ในสถานประกอบการและในตู้แช่เย็นคอนเทนเนอร์ จำนวนกว่า 25,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ได้ยึดอายัดของกลางสารเคมีและแกนลอนบรรจุสารฟอร์มาลิน ขนาด 25 ลิตร จำนวนกว่า 50 แกนลอน รวมถึงได้ยึดใบเสร็จกว่า 2,300 ใบ ที่มีหลักฐานการขายให้กับลูกค้าร้านหมูกะทะ และร้านอาหารอีสาน จำนวนกว่า 66 ราย

และในส่วนของชิ้นส่วนสไบนาง ที่ผลิตแปรรูปนั้นแช่อยู่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้สั่งยึดอายัดไว้ และเก็บตัวอย่างเนื้อและเครื่องในสัตว์ นำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคปนเปื้อนที่เป็นอันตรายและตรวจหาสารเคมีตกค้าง (ฟอร์มาลิน) โดยได้ให้เจ้าของกิจการห้ามโยกย้ายถ่ายเทของกลางที่อายัดไว้ และให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดงภายใน 15 วันหากไม่สามารถนำมาแสดงได้

พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทำลายด้วยการฝังหรือเผา และดำเนินคดีถึงที่สุด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ขยายผลในการตรวจสอบสถานประกอบการในลักษณะเดียวกันนี้ และหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไปด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: