รายงาน ILO เผยชีวิตแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรมของไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 5303 ครั้ง

รายงาน ILO เผยชีวิตแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรมของไทยได้รับค่าจ้างที่ต่ำและมีสภาพการทำงานที่ท้าทายจากการยกเว้นและไม่คุ้มครองสิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน

เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2565 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ระบุว่าการถูกยกเว้นไม่ให้ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากในภาคเกษตรของไทยได้รับค่าจ้างต่ำและเผชิญกับสภาพการทำงานที่ท้าทาย

จากรายงาน 'สภาพการทำงานและการจ้างงานในภาคเกษตรของประเทศไทย: การสำรวจแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่อ้อย สวนยาง สวนปาล์ม และไร่ข้าวโพด' นำเสนอข้อมูลจากการสำรวจที่จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ ด้านการจ้างงานและสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมการปลูกข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและอ้อย

การสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ารายได้ของแรงงานข้ามชาติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญขึ้นอยู่กับเพศ สัญชาติ พืชผลที่เพาะปลูก ประเภทของแรงงาน และจังหวัดที่มีการจ้างงาน

จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามและเป็นแรงงานที่ทำงานเต็มเวลา ร้อยละ 58.7 มีรายได้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดที่ได้รับการว่าจ้าง โดยร้อยละ 50 ของแรงงานข้ามชาติเพศชายได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ในกรณีของแรงงานข้ามชาติเพศหญิง ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.7

แรงงานข้ามชาติในจังหวัดตาก (ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานมาจากเมียนมา) ได้รับค่าจ้างที่ต่ำเป็นอย่างมาก โดยร้อยละ 95.4 กล่าวว่าได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อคำนวณเป็นรายเดือน หรือต่ำกว่า เดือนละ 7,320 บาท ขณะที่แรงงานร้อยละ 39.4 กล่าวว่าได้รับค่าจ้างน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว หากเปรียบเทียบกันแล้ว ร้อยละ 74.4 ของแรงงานในจังหวัดสระแก้ว (ซึ่งทั้งหมดมาจากกัมพูชา) ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่เกือบร้อยละ 35 ของแรงงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ซึ่งทั้งหมดเมาจากเมียนมา) และมีเพียงร้อยละ 3.7 ของแรงงานในจังหวัดเลย (ทั้งหมดเป็นแรงงานมาจาก สปป.ลาว) ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานให้การคุ้มครองอย่างเต็มที่กับแรงงานที่ได้รับการจ้างงานเต็มเวลาและเป็นการจ้างงานตลอดปีเท่านั้น ซึ่งโดยประมาณแล้ว มีเพียงร้อยละ 7.9 ของแรงงานภาคเกษตรที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้ที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 92.1 ได้รับการคุ้มครองที่น้อยลงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรมเท่านั้น กฎกระทรวงฯ บัญญัติยกเว้นการคุ้มครองที่สำคัญหลายประการ รวมถึงการคุ้มครองเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานและเวลาพัก ค่าล่วงเวลาต่างๆ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

“การสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการยกเว้นการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติจำนวนมากภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนำไปสู่ค่าจ้างที่ต่ำและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ได้อย่างไร แม้ว่าการสำรวจนี้ได้จัดทำก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่สถานการณ์ท้าทายที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่แล้วนั้น มีแนวโน้มจะเลวร้ายลงในช่วงเวลานี้ การฟื้นฟูจากวิกฤตที่ครอบคลุมทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ” แกรห์ม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป. ลาว กล่าว

ผลการสำรวจที่สำคัญประการอื่นๆ ได้แก่ จำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมและกองทุนด้านสุขภาพยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อนึ่ง หากพิจารณาตามกฎหมายแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารทุกคนในการสำรวจครั้งนี้ (ร้อยละ 66.7 ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ควรได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างน้อยในกองทุนใดกองทุนหนึ่งจากสามกองทุนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 33.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่กล่าวว่าได้รับการขึ้นทะเบียนในกองทุนใดกองทุนหนึ่ง

แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในจังหวัดที่ไม่ติดชายแดนหรือทำงานเพาะปลูกพืชที่ต้องมีการจ้างงานต่อเนื่อง (ยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน) มีแนวโน้มที่จะมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารมีจำนวนสูงกว่าในจังหวัดที่ติดชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดตาก

แรงงานข้ามชาติจ่ายเงินโดยเฉลี่ยประมาณ 6,448 บาท เพื่อย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในภาคเกษตรของไทย ซึ่งเท่ากับค่าจ้างประมาณหนึ่งเดือนเศษโดยเฉลี่ย (รายได้เฉลี่ยต่อเดือนคือ 6,000 บาท ) โดยพบว่าค่าใช้จ่ายที่แตกต่างหลากหลายอย่างมาก ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง เขตพื้นที่ที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาศัยอยู่ในประเทศไทย และขึ้นอยู่กับช่องทางที่ใช้ในการย้ายถิ่นว่าเป็นช่องทางที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ

จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่ามีแรงงานข้ามชาติเพียง 10 คน จาก 154 คน ที่ประสบปัญหาจากการทำงานและได้มีการร้องเรียน โดยไม่มีผู้ตอบแบบสอบถามคนใดร้องเรียนผ่านช่องทางของรัฐบาล

ข้อเสนอแนะที่สำคัญจากรายงานฉบับนี้ เช่น การแก้ไขกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม เพื่อทำให้การคุ้มครองที่สำคัญตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานครอบคลุมถึงแรงงานทุกคนในงานเกษตรกรรม การพัฒนาช่องทางการย้ายถิ่นแบบปกติให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลง ระยะเวลาที่ใช้และความซับซ้อนน้อยลง การทบทวนการจ้างงานชายแดน รวมถึงการจัดการกับช่องว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ

อนึ่ง การสำรวจครั้งนี้ได้สัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารจากกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมา จำนวน 528 คน ที่ทำงานเพาะปลูกพืชสี่ชนิดในภาคการเกษตรของไทย จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน (2562) แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 317,996 คนได้รับการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมในปี 2562

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: