ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของรถไฟจีน-ลาว (1)
ปี 2017 นายหยวน เจ้อเสียงหนุ่มชาวมณฑลหูหนาน (袁志祥) จบการศึกษามหาวิทยาลัย เข้าทำงานการรถไฟจีน เป็นช่วงที่กำลังก่อสร้างทางรถไฟจีน - ลาว เขาจึงถูกส่งไปทำงานที่เขตเขาที่อยู่ทางเหนือของทางรถไฟลาว
ต่อมาไม่นาน หยวน เขารู้จักกับสาวลาวท้องถิ่นชื่ออาเฟิน (ชื่อภาษาจีน) และกลายเป็นแฟนกันในที่สุด
ปี 2018 อาเฟินได้รับเชิญไปร่วมงานฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ นายหยวน เจ้อเสียงขึ้นเวทีร้องเพลงจีน “เจิงฝู” (征服) ที่แปลว่าพิชิต เพลงนี้พิชิตใจสาวงาม อาเฟินตัดสินใจแต่งงานกับเขา
ปี 2019 ลูกสาวคนแรกถือกำเนิดที่อำเภอหมื่นล่า มณฑลยูนนาน พวกเขาตั้งชื่อหยวน ซืออี๋ ซึ่งมีความหมายถึงมิตรภาพจีน-ลาว
หลังโครงการทางรถไฟจีน - ลาวสร้างแล้วเสร็จ ครอบครัวนี้ยังอยู่ต่อในลาวอีกระยะหนึ่ง จนให้กำเนิดลูกสาวคนที่ 2 และตั้งชื่อ หยวน ซืออัน มีความหมายที่ต้องการให้จีนกับลาวเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขั้นในโครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน - ลาว ที่เป็นก้าวแรกของเครือข่ายรถไฟจีน - อาเซียน ตลอดจนเครือข่ายรถไฟอาเซียน - จีน - ยุโรป
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2021 มีพิธีเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ที่เชื่อมต่อกรุงเวียนจันทน์กับเมืองคุณหมิงเมืองเอกมณฑลยูน ผู้นำจีนและลาวต่างมาร่วมพิธีเปิด ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญกับทางรถไฟสายนี้อย่างสูง
ทางรถไฟจีน-ลาวช่วงที่อยู่ในลาวมีระยะทาง 414 กิโลเมตร ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่จีนในปัจจุบันเฉพาะทางรถไฟความเร็วสูงก็มีกว่า 35,000 กิโลเมตร จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทางรถไฟจีน -ลาวมีความสำคัญสูงถึงขนาดที่ผู้นำทั้งสองประเทศต้องไปร่วมพิธีเปิดการเดินรถเลยหรือ?
คำตอบคือใช่ เพราะนี่เป็นทางรถไฟที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประชาชนลาว ประชาชนในภาคตะวันตกเฉียงใต้จีนและประชาชนอาเซียน
มีคำถามว่า ลาวเป็นประเทศยากจนและไม่มีทางออกสู่ทะเล จะมีความสามารถปรับเปลี่ยนอนาคตของมณฑลยูนนานกระทั่งเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเชียวหรือ? คำตอบคือ ลาวคงไม่มี แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้มีศักยภาพแบบนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว เป็นเพียงขั้นแรก เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟแพนเอเชีย
ลาวเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศแบบดั้งเดิม มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เฉพาะเหมืองแร่โลหะขนาดใหญ่ก็มีกว่า 450 แห่ง ปัจจุบันขุดออกมาใช้แค่เพียง 3% เท่านั้น เพราะเมื่อขุดออกมาแล้วไม่มีทางขนส่งออกไปขาย จึงไม่มีใครกล้ามาลงทุนช่วยลาวขุดเหมืองแร่ ชาวลาวจึงเพียงเฝ้ารอคอย
ปี 2016 รัฐบาลลาววางแผนพัฒนาระยะ 15 ปี หวังรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างทางรถไฟ ทำให้ลาวซึ่งเดิมเป็นประเทศที่ถูกล็อกไว้ในแผ่นดินชั้นในมาเป็นประเทศที่เป็นชุมทางภูมิภาค และการสร้างทางรถไฟนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ดังนั้น ประเทศเอเชียตะวันออกจำนวนนึ่งก็ยินดีเข้าร่วมด้วย
ก่อนเปิดเดินรถไฟจีน -ลาว ทั้งประเทศลาวมีทางรถไฟเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น นี่ไปทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อกับไทย เพื่อให้ความสะดวกแก่แรงงานลาวที่จะเข้าไปทำงานในไทย
พื้นที่ส่วนใหญ่ของลาวเป็นป่าไม้ เขตที่สร้างทางรถไฟพอดีอยู่ในเขตรอยต่อของแผ่นธรณีภาคยูเรเซีย(Eurasian Plate) รองรับทวีปยุโรป ทวีปเอเชียและพื้นน้ำบริเวณใกล้คียงมีชั้นแตกหักมากมาย ทั้งเป็นแนวที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ สัดส่วนอุโมงค์และสะพานมีกว่า 70% ช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม จะมีฝนตกชุก
นอกจากนั้น ช่วงสงครามเวียดนาม เส้นทางโฮจิมินห์ส่วนใหญ่ผ่านลาว ทหารสหรัฐฯ ฝังระเบิดไว้กว่า 200 ล้านลูก จนถึงปัจจุบันยังเหลือกว่า 10 ล้านลูกที่ยังไม่ระเบิด จำนวนลูกระเบิดมากกว่าจำนวนประชากรลาวด้วย ทำให้ลาวมีพื้นที่ที่ต้องปิดไม่ให้ผู้คนเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้ลาวที่เป็นประเทศยากจน แต่สินค้ากลับมีราคาสูง
สรุป การสร้างทางรถไฟในลาวยากมากและอันตรายมาก ต้องลงทุนสูงและมีความเสี่ยงสูง สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรปไม่ยอมลงทุน มีแต่จีนเท่านั้นที่ตัดสินใจไปช่วย
การสร้างทางรถไฟต้อใช้เงินทุน รัฐบาลลาวออกทุน 33% รัฐบาลจีนออก 7% บริษัทจีนในลาวออกทุน 60% หลังสร้างเสร็จ จีนเป็นฝ่ายบริหารก่อนครบอายุสัญญา แล้วจึงมอบให้แก่รัฐบาลลาว โครงการที่ทำยากมากๆ นี้แต่จีนใช้เวลา 5 ปีก็สร้างเสร็จและเปิดใช้ได้
ย้อนหลังทศวรรษที่ 1960 คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก(Economic And Social Commission For Asia And The Pacific) หรือ แอสแคป (ESCAP) ได้กำหนดโครงการเครือข่ายทางรถไฟขนส่งสินค้าที่เชื่อมต่อทวีปเอเชียกับยุโรป ระยะทาง 14,080 กิโลเมตร ที่เริ่มจากสิงคโปร์- อิสตันบูล จนถึงยุโรป กระทั่งเชื่อมต่อกับแอฟริกา
ปี ค.ศ.1995 ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 5 ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สืบทอดแนวคิดโครงการดังกล่าว เสนอให้สร้างทางรถไฟระหว่างประเทศที่ออกจากคุนหมิงผ่านลาวเข้าไทยกับ มาเลเซียและสิ้นสุดที่สิงคโปร์ เหล่าผู้นำประเทศที่ร่วมการประชุมล้วนเห็นด้วย และวางแผนจะสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 10 ปี โดยมียอดการลงทุนกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนออกประมาณครึ่งหนึ่ง
แต่เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก คุยไปคุยมาจนถึงเดือนกันยายนปี 1999 จึงมีการลงนามบันทึกช่วยจำในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 5 อาเซียน กำหนดแผนรถไฟแพนเอเชีย
หลังจากนั้นคุยกันอีก 4 ปี เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010 ที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ 18 ประเทศได้ลงนาม “ความตกลงระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับเครือข่ายรถไฟเอเชีย” ที่มีแผนจะสร้าง “เส้นทางสายไหมเหล็กกล้า” 4 สาย เพื่อเชื่อมต่อทวีปเอเชียกับยุโรป ได้แก่
เส้นทางเหนือ เชื่อมต่อคาบสมุทรเกาหลี จีน มองโกเลีย คาซัคสถาน รัสเซีย ระยะทางรวม 32,500 กิโลเมตร
เส้นทางใต้ ผ่านยูนนาน พม่า อินเดีย อิหร่าน ถึง ตุรกี ระยะทางรวม 22,600 กิโลเมตร
เส้นทางเหนือ-ใต้ เริ่มจากมอสโคว์ ผ่านรัสเซียสู่ทะเลแคสเปียน แล้วแยกเป็น 3 เส้นทาง เส้นทางตะวันตกผ่านสองคู่ที่เป็นศัตรูคืออาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียสู่อิหร่าน เส้นทางกลาง ผ่านทะเลแคสเปียนสู่อิหร่าน และเส้นทางตะวันออกจากภาคกลางเอเชียไปอิหร่าน ทั้งหมดนี้บรรจบกันที่กรุงเตหะราน ไปถึงท่าเรืออิหร่าน ระยะทางรวม 13,200 กิโลเมตร
เส้นทางอาเซียน ออกจากลาวผ่านเวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์จนถึงอินโดนีเซีย ระยะทางรวม 12,600 กิโลเมตร
เมื่อพิจารณาแผนดังกล่าวแล้วต้องหายใจลึกๆ สถานการณ์ทางการเมืองที่สลับซับซ้อน อาทิ เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ อาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียก็เป็นปัญหาที่แก้ยาก ทั้งยังมีปัญหาด้านศาสนาและชนเผ่าด้วย
ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของรถไฟจีน-ลาว (2)
จนถึงการประชุมประจำปี 2017 บรรดาผู้ร่วมประชุมยังคงหารือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ เส้นทางเหนือ เส้นทางใต้ เส้นทางเหนือ-ใต้เงียบไปเลย เหลือแต่เส้นทางอาเซียน นั่นก็คือทางรถไฟแพนเอเชีย
แต่ทางรถไฟแพนเอเชียฉบับปัจจุบันมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คือจากหนึ่งสายกลายเป็นสามสาย ได้แก่เส้นทางตะวันตก เส้นทางกลางและเส้นทางตะวันออก
เส้นทางตะวันตกคือทางรถไฟจีน -พม่า ระยะทาง 1,920 กิโลเมตร ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2014 แต่มีปัจจัยทางการเมืองเข้าแทรกแซง จนถึงปี 2018 จึงสามารถเริ่มก่อสร้างได้ คาดว่าตอนที่อยู่ในจีนจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2023
แต่ช่วงที่อยู่ในพม่ามีความยากลำบาก ตามแผนของจีน ทางรถไฟจะสร้างจากเมืองคุนหมิงผ่านเมืองชายแดนรุ่ยลี่แล้วเข้าเมืองมิวส์ของพม่าจนถึงมัณฑะเลย์ หลังจากนั้น ที่มัณฑะเลย์จะแยกออกเป็น 2เส้นทางคือ มัณฑะเลย์-เนปิดอว์-ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์-ท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพยิว (Kyaukpyu Port)
แต่มีข้อขัดแย้งที่เส้นทางมัณฑะเลย์-ท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพยิว รัฐบาลพม่าคงสนใจเส้นทางมัณฑะเลย์-เนปิดอว์-ย่างกุ้งมากกว่า เพื่อให้คนในเมืองมีชีวิตที่ทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีแรงกดดันจากภายนอก เพราะเหตุใด
ท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพยิวเป็นที่ตั้งของท่อส่งน้ำมันดิบจีน-พม่า และท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-พม่า
ท่อส่งน้ำมันดิบจีน-พม่าสร้างแล้วเสร็จในปี 2017 เริ่มจากเกาะมาเดย (MadayIsland) ไปถึงเมืองรุ่ยลี่ของจีน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-พม่า สร้างแล้วเสร็จในปี 2013 จนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2020 ท่อสองแห่งนี้ได้ส่งน้ำมันดิบ 30 ล้านตัน ก๊าซธรรมชาติ 26,500 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้าจีน ขณะเดียวกันได้ส่งก๊าซธรรมชาติ 4,600 ล้านลูกบาศก์เมตร และพม่ายังได้ค่าผ่านแดน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสองท่อนี้ด้วย
สื่อโซเชียลจีนชี้ว่า สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นห่วงว่า ถ้าหากจีนบริหารท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพยิว ก็จะขยายการก่อสร้างเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 300,000 ตัน เมื่อทางรถไฟจากมัณฑะเลย์- ท่าเรือจ๊อกพยิวสร้างเสร็จ ก็จะสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางทหารของเขตนี้ น้ำมันและพลังงานปริมาณมหาศาลที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศนั้น (ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 1 ของโลก) ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงช่องแคบมะละกาที่ควบคุมโดยสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน จีนกับพม่ายังเจรจากันอยู่ แต่สองฝ่ายตกลงที่จะสร้างเส้นทางที่ออกจากเมืองรุ่ยลี่ของจีน เข้าอำเภอมิวส์(Muse District)ของพม่า ไปสิ้นสุดที่นครมัณฑะเลย์ คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2026
ด้านเส้นทางกลางคือคุนหมิง-กรุงเวียนจันทน์-กรุงเทพฯ-มาเลเซีย-สิงคโปร์ จนถึงขณะนี้ได้สร้างทางรถไฟเมืองคุนหมิงถึงกรุงเวียนจันทน์ ยังเหลืออีก 2 ใน 3 กว่าจะถึงสิงคโปร์ แต่ก็ถือว่าโชคดีแล้ว
ด้านเส้นทางตะวันออกคือคุณหมิงของจีน - นครโฮจิมินห์ของเวียดนามเป็นอย่างไรบ้าง ทางรถไฟช่วงที่อยู่ในจีนสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2014
แต่ช่วงที่อยู่ในเวียดนามยังไม่มีอะไรเลย อันที่จริง สภาพทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามจะสร้างทางรถไฟได้ไม่ยาก ต้นทุนจะต่ำที่สุด แต่เวียดนามไม่ไว้ใจจีน หันไปหาญี่ปุ่นให้ช่วยสร้าง โดยกำหนดโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ที่เชื่อมกรุงฮานอยกับโฮจิมินห์ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เริ่ม สองฝ่ายกำลังเจรจาต่อรองกันอยู่ ทำให้ยอดการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเลื่อนเวลาสร้างแล้วเสร็จไปเป็นปี 2045 หมายความว่าจะต้องรออย่างน้อยอีก 23 ปี ในช่วง 23 ปี จีนคงสร้างทางรถไฟกว่าหมื่นกิโลเมตรไปแล้ว
นับตั้งแต่สหประชาชาติเสนอแผนเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียจนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไปกว่า 50 ปีแล้ว ปัจจุบันที่เปิดใช้งานมีเพียงทางรถไฟคุนหมิง – เวียนจันทน์ การสร้างทางรถไฟไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องที่ยากคือสถานการณ์โลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ถ้าหากเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถสร้างแล้วเสร็จ แร่ธาตุและพลังงานของประเทศต่างๆ ในเขตนี้จะขนส่งออกไปขายได้ โครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมาก ราคาสินค้าจะลดลง การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมจะพัฒนาพร้อมกัน
ส่วนทางรถไฟเส้นทางต่างๆ ที่จะไปบรรจบกันที่คุนหมิง คุนหมิงจะมีหน้าที่รวบรวมทรัพยากรจากฝ่ายต่างๆ แล้วนำไปดำเนินการผลิตในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่เป็นเขตด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเขตนี้มีมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจวและเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี
ปีหลังๆ นี้ รัฐบาลกลางจีนลงทุนมหาศาลในเขตนี้ อาทิ จัดสรรงบประมาณให้มณฑลเสฉวนปีละ 238,100 ล้านหยวน มณฑลยูนนานปีละ 172,300 ล้านหยวน กว่างซีปีละ 164,200 ล้านหยวน มณฑลกุ้ยโจวปีละ 173,900 ล้านหยวน
งบประมาณเหล่านี้เอาไปทำอะไร เอาไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างทางรถไฟ ทางหลวง ทางรถไฟความเร็วสูง พลิกโฉมของเมืองให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แม้ว่าเป็นเขตด้วยพัฒนาแต่เมืองคุนหมิง เฉิงตู กุ้ยหยางและนครฉงชิ่งจะไม่ต่างจากเมืองเซินเจิ้นที่เป็นเมืองพัฒนาที่สุดของจีนมากนัก
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งคือ คอยรองรับทรัพยากรจากอาเซียน ร่วมมือกับประเทศอาเซียน สร้างเขตนี้ให้เป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของโลก สร้างตลาดบริโภคขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก
แต่ยังไม่จบแค่นี้ ขบวนรถไฟจีน-ยุโรปเปิดมากว่า 10 ปีแล้ว ขนส่งสินค้ารวมเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในนี้มี 2 เส้นทางออกจากเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หนึ่งคือเส้นทาง “อวี๋ซินโอว” (渝新欧) ออกจากนครฉงชิ่งซึ่งเป็นเมืองสำคัญของเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปถึงเมืองดุยส์บวร์กของเยอรมนี ระยะทางรวม 11,179 กิโลเมตร สองคือเส้นทาง “หรงโอว” (蓉欧) จากเมืองเฉิงตูเมืองเอกมณฑลเสฉวนไปถึงโปแลนด์ ระยะทาง 9,826 กิโลเมตร และในอนาคต ทางรถไฟสองเส้นทางนี้ จะเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมยุโรปกับฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ประกอบด้วยอาเซียนกับเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
นับตั้งแต่เปิดเดินรถไฟจีน - ลาวในวันที่ 3 ธันวาคม 2021 จนถึงวันที่ 17 มกราคม 2022 ด่านศุลกากรคุนหมิงมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านด่าน 153 ขบวน น้ำหนักรวม 59,500 ตัน เป็นเงิน 1,068 ล้านหยวน นี่เป็นช่วงแรกของทางรถไฟจีน - ลาว นี่เป็นช่วงแรกของเครือข่ายรถไฟจีน - อาเซียน และเป็นก้าวแรกของเครือข่ายรถไฟอาเซียน -จีน -ยุโรป
ที่มา: China Radio International (CRI) [1] [2]
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ