ขยายผลทำนาแบบ 'เปียกสลับแห้ง'

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2820 ครั้ง

ขยายผลทำนาแบบ 'เปียกสลับแห้ง'

กรมชลประทานรณรงค์ให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย ตามโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564 ว่านายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 12 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานประมาณ 2 ล้านไร่ มีแผนปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ประมาณ 8.3 แสนไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 34 โดยใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแนวโน้มของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาคาดว่าจะมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักในช่วงแล้ง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานได้อย่างเต็มศักยภาพ

กรมชลประทาน จึงได้รณรงค์ให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย ตามโครงการสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ภายใต้โครงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ โครงการชลประทานเชียงใหม่, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่, โครงการชลประทานอุบลราชธานี, โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย จ.อุบลราชธานี รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทำนาแบบใช้น้ำน้อย เป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำในการทำนา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป ซึ่งโดยปกติจะใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบแกล้งข้าว จะใช้น้ำเพียงประมาณ 860 ลบ.ม.ต่อไร่ เท่านั้น นอกจากจะลดปริมาณการใช้น้ำลงแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ส่งเสริมกระบวนการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและทุกภาคส่วน ตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต และเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำช่วงแล้งปี 2564/65 อย่างเคร่งครัด ทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดช่วงแล้งนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: