แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึง รมว.ยุติธรรม เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อ 'สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี จากการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์'
7 ก.ค. 2565 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี จากการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของน้องชาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกลักพาตัวหายไปในช่วงเย็นของวันที่ 4 มิ.ย. 2563 บริเวณหน้าคอนโดแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา โดยการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 29 ส.ค. 2565
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า รู้สึกเสียใจที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินคดีอาญาต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพียงเพราะเธอใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และยังรู้สึกไม่สบายใจกับรายงานที่อาจบ่งชี้ว่าเธอเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
“สิตานันถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี โดยคดีแรก จากการไปร่วมชุมนุม #ม็อบ5กันยา ที่ แยกอโศก เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 เพื่อถ่ายทอดความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย และอีกคดีจากไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเรียกร้องประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564
“ในเดือน เม.ย. 2565 องค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งรายงานว่า ชื่อและรายละเอียดส่วนบุคคลของเธอปรากฏอยู่ในรายการเฝ้าระวังของกองกำลังความมั่นคงของไทย และเป็นไปได้ว่าจะส่งต่อให้ตำรวจท้องที่ ซึ่งอาจหมายความว่าเธออยู่ภายใต้การสอดส่องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
แอมเนสตี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมารณรงค์ให้มีการสอบสวนการอุ้มหายน้องชายของเธอ โดยบุคคลไม่ทราบฝ่ายที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขา การดำเนินคดีกับสิตานันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเธอเท่านั้น และกำลังขัดขวางการณรงค์เพื่อตามหาความเป็นธรรมให้กับน้องชายและครอบครัวของเธอ รวมทั้งกำลังขัดขวางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งในประเทศไทยด้วย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้ยุติข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และบุคคลอื่นที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจฉุกเฉินและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับการทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบรายงานที่ว่า เธออาจถูกสอดแนมโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และให้หลักประกันว่าจะมีการนำร่างกฎหมายที่จะกำหนดโทษทางอาญาต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมานมาใช้โดยทันที และต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย รวมถึงการยอมรับสิทธิของครอบครัวผู้เสียหาย ทั้งยังขอให้ทางการไทยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคมสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ โดยไม่มีการข่มขู่ คุกคาม และการฟ้องร้องดำเนินคดี
ลงชื่อรณรงค์ได้ที่นี่ https://bit.ly/3OLEJra
ปฏิบัติการด่วน (ภาษาอังกฤษ) ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/3NGglWB
ปฏิบัติการด่วนคืออะไร? ทำไมต้องมี?
‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และอื่นๆ
ผู้ประสานงานในแต่ละประเทศจะรับปฏิบัติการด่วนจากสำนักงานเลขาธิการใหญ่ ณ กรุงลอนดอน แล้วกระจายไปยังสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการด่วน (Urgent Action Network) จากนั้นสมาชิกแต่ละคนจะเขียนจดหมาย อีเมล แฟ็กซ์ ข้อความ หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปยังรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้ที่กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ข้อมูลในปฏิบัติการด่วนของเรามีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการเสาะหาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม ตลอดจนมีความระมัดระวังอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ
ปฏิบัติการด่วนเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศได้จริงอีกด้วย
นี่คือคลิปวิดีโออธิบายปฏิบัติการด่วน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ