นักวิทยาศาสตร์เตือนน้ำแข็งขั้วโลกละลายไวกว่าที่คาด

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3319 ครั้ง

นักวิทยาศาสตร์เตือนน้ำแข็งขั้วโลกละลายไวกว่าที่คาด

นักวิทยาศาสตร์เตือนภายในปี ค.ศ.2500 การละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกฝั่งตะวันออกอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 5 เมตร จากเดิมที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตกเท่านั้น | ที่มาภาพประกอบ: GRID-Arendal (CC BY-NC-SA 2.0)

VOA รายงานเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2022 ว่าการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่รวบรวมโดยชาวออสเตรเลียและนักวิจัยคนอื่น ๆ อธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้

เนริลี เอบรัม อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Australian National University สาขาวิทยาศาสตร์โลก และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature โดยเอบรัมเตือนว่า การละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกฝั่งตะวันออก สิ่งนี้อาจจะเป็นภัยพิบัติได้

เอบรัมกล่าวว่า ภายในปี ค.ศ. 2500 การละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกฝั่งตะวันออกอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 5 เมตร จากเดิมที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตกเท่านั้น

ที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกฝั่งตะวันออก อันเป็นพิกัดของธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ของโลก มักจะถูกมองว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ หรือ climate change น้อยกว่าแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตก รวมถึงในกรีนแลนด์

การศึกษาของเอบรัม พร้อมด้วยนักวิจัยคนอื่น ๆ กล่าวว่าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสตามที่กำหนดไว้ แผ่นน้ำแข็งในฝั่งตะวันออกของแอนตาร์กติกควรที่จะไม่เปลี่ยนแปลง และมีขนาดเท่าเดิม อย่างไรก็ตามนักวิจัยเตือนว่าอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นจะส่งผลให้น้ำแข็งเกิดการละลาย จนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นหลายเมตร

เอบรัม ชี้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ย้ำให้เราต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

ภายใต้สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Paris Climate Agreement) ที่มีการลงนามในปี ค.ศ. 2015 มีเป้าหมายที่จะจำกัดให้อุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

อีกการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแอนตาร์กติกา ซึ่งถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature เป็นงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion Laboratory ขององค์การนาซ่า รัฐแคลิฟอร์เนีย เหล่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า บริเวณขอบของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออก สูญเสียมวลน้ำแข็งเร็วกว่าปริมาณที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนจากกระบวนการธรรมชาติ

ขอบของแผ่นน้ำแข็ง มักจะถูกเรียกว่า หิ้งน้ำแข็ง (Ice Shelf) ซึ่งมีลักษณะยื่นขยายลงไปในน้ำ เป็นแผ่นที่เกิดจากน้ำจืดแข็งตัวลอยอยู่บริเวณผิวน้ำอย่างถาวร โดยหิ้งน้ำแข็งใช้เวลานานนับพันปีในการก่อตัวและจัดเรียงให้เกิดรูปร่าง และช่วยพยุงไม่ให้ธารน้ำแข็งถล่มลงไปในมหาสมุทร ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่า ได้ตรวจสอบแนวชายฝั่งแอนตาร์กติกในระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตรพบว่าลักษณะการสูญเสียน้ำแข็งของธารน้ำแข็งบริเวณชายฝั่ง ใกล้เคียงกับการสูญเสียน้ำแข็งของหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ของทวีปที่บางลง โดยสาเหตุการบางลงของชั้นน้ำแข็งมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น

เมื่อนำการสูญเสียน้ำแข็งทั้ง 2 กรณีมาพิจารณาร่วมกัน จะพบว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลให้มวลหิ้งน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา ลดลงไปแล้ว 12 ล้านล้านตัน เป็นตัวเลขที่สูงกว่าประมาณการณ์ที่ 6 ล้านล้านตันถึงเท่าตัว

แชด กรีน หัวหน้าการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า “หิ้งน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกากำลังพังทลายลง”

ทางด้าน อิริค วอล์ฟ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย University of Cambridge ในประเทศอังกฤษ เขากล่าวในการศึกษาขององค์การนาซ่าว่า "ถ้าเราสามารถทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ตามที่ข้อตกลงปารีสได้ตั้งไว้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเนื่องมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกฝั่งตะวันออก น่าที่จะไม่รุนแรง”

อย่างไรก็ตาม วอล์ฟชี้ว่า หากเกิดความล้มเหลวในประเด็นนี้ ทั้งเรื่องการควบคุมภาวะโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็คือ “ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเมตร”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: