กสม. แนะ ก.แรงงาน เพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจงก่อนเลิกจ้าง

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4016 ครั้ง

กสม. แนะ ก.แรงงาน เพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจงก่อนเลิกจ้าง

กสม. ตรวจสอบพนักงานขับรถพ่วงถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แนะ ก.แรงงาน เพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจงก่อนเลิกจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากล

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ แถลงว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ว่าลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถพ่วงของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถขนส่งปูนซิเมนต์ให้ทันตามรอบเวลาที่บริษัทกำหนด ในบางรอบด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจดำเนินการได้ทันเวลา เช่น สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน หรือผู้เกี่ยวข้องไม่ได้เติมน้ำมันให้เพียงพอต่อการใช้งาน แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะได้แจ้งปัญหาให้กับหัวหน้างานทราบแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ต่อมาในการขับรถส่งงานครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุระบบคลัตช์ของรถมีกลิ่นเหม็นไหม้ พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจึงไม่ได้ขับรถต่อไปเนื่องจากต้องรอการตรวจสอบสภาพรถ เป็นเหตุให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนผู้ถูกร้องบอกเลิกจ้างด้วยเหตุผลปฏิบัติงานล่าช้า แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะพยายามติดต่อบริษัทเพื่อชี้แจงเหตุผลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้ชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งนี้ได้รับแจ้งว่าการเลิกจ้างระหว่างช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติงานไม่ถึงสามเดือนไม่เป็นความผิด จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัทผู้ถูกร้องเลิกจ้างพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าว โดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือจ่ายค่าจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า โดยอ้างเหตุว่าพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือข้อสั่งการของบริษัทอันเป็นเหตุยกเว้นในการแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น การดำเนินการเลิกจ้างดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว แต่จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าบริษัทเคยมีหนังสือตักเตือนพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวแต่อย่างใด แม้บริษัทระบุว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาโดยหัวหน้างานแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏบันทึกการตักเตือนด้วยวาจาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้การรับรองไว้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ซึ่งได้รับรองสิทธิในการชี้แจงเหตุผลต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างด้วยจากการกระทำหรือผลการปฏิบัติงานของตน และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่พบว่ามีข้อบัญญัติมาตราใดที่กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ หรือให้ลูกจ้างได้ชี้แจงต่อการกระทำของตนอันเป็นเหตุในการถูกเลิกจ้างก่อนการพิจารณาเลิกจ้างไว้เป็นการเฉพาะ แต่การถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริง เหตุผล ข้อโต้แย้งจากลูกจ้าง ย่อมเป็นการพิจารณาตัดสินที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ซึ่งนอกจากลูกจ้างจะต้องรับสภาพการถูกเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว ยังต้องได้รับผลกระทบด้านประวัติการทำงานและโอกาสในการถูกพิจารณาเข้ารับการว่าจ้างในที่ทำงานแห่งใหม่ และแม้สภาพการจ้างงานจะเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานะของลูกจ้างย่อมมีอำนาจในการต่อรองที่ด้อยกว่านายจ้าง อันเป็นที่มาของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกันการกระทำซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้กับลูกจ้างรายอื่นอีก กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงแรงงาน บริษัทผู้ถูกร้อง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปได้ดังนี้

1.มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้บริษัทผู้ถูกร้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับทั้งก่อนการว่าจ้างและเมื่อสิ้นสุดการว่าจ้าง และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาให้บริษัทผู้ถูกร้องดำเนินการเยียวยาพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

นอกจากนี้ ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้มีการเพิ่มเติมกฎ ระเบียบ หรือข้อกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการสอบสวน หรือต้องรับฟังคำชี้แจงของลูกจ้างต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) อันเป็นไปตามที่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 - 2565) ได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานที่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

2.มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงแรงงานกำชับให้สำนักงานส่วนภูมิภาคส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice: GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจของตน ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 - 2565) และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งช่องทางการร้องเรียน และกำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด

 

ที่มา: ไทยโพสต์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: