นักวิชาการห่วงหากนำเงินกองทุนชราภาพมาใช้ก่อน คาดเงินหมด 30-40 ปี แทนที่จะเป็น 75 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มี.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5999 ครั้ง

นักวิชาการชี้การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตนนำเงินกองทุนชราภาพมาใช้ก่อนอาจเป็นเรื่องที่เหมาะสมในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกันตน แต่อาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุน คาดว่าหากนำมาใช้ก่อนเงินจะหมดกองทุนภายใน 30-40 ปี แทนที่จะเป็น 75 ปี แม้สถานะของเงินกองทุนประกันสังคมยังคงมั่นคง แต่ต้องปฏิรูปเพื่อให้กองทุนชราภาพมีความยั่งยืนในระยะ 50-75 ปี ข้างหน้าด้วยการเก็บเงินสมทบเพิ่มเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว | ที่มาภาพประกอบ: Alan Cleaver (CC BY 2.0)

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม. รังสิต ได้กล่าวถึงข้อเสนอให้นำ “เงิน” จากกองทุนชราภาพ ออกมาใช้ก่อนและให้เลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญได้ และขอกู้จากกองทุนได้ว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอของผู้ประกันตนและผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บางท่านแม้นได้เงินจากกองทุนประกันการว่างงาน สวัสดิการรวมทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐแล้วก็ยังไม่เพียงพอ จึงขอเลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญเมื่ออายุครบ 55 ปี ขอนำเงินจากองทุนชราภาพมาใช้ก่อน และขอกู้จากกองทุน ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตนในการใช้เงินกองทุนชราภาพตามข้อเรียกร้องอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่เหมาะสมในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกันตนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าอย่างหนัก แต่จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวติดตามมาไม่น้อย

การตัดสินใจให้รับบำเหน็จได้ให้กู้ได้ ขอคืนได้ นั้นเป็นการเปลี่ยนหลักการของกองทุนชราภาพประกันสังคมและอาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนได้ คาดว่าเงินอาจหมดกองทุนภายใน 30-40 ปี แทนที่จะเป็น 75 ปี กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมนี้ออกแบบมาเพื่อรับมือและลดความเสี่ยงหากสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าเงินที่เก็บออมไว้ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาสังคมชราภาพของไทย ตามหลักการต้องการเป็นหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัยมีบำนาญไว้ใช้จ่ายตลอดชั่วอายุขัย ซึ่งกองทุนประกันชราภาพของกองทุนประกันสังคมนั้นจะต่างจากระบบ Defined Contribution Scheme ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนการออมแห่งชาติที่ผู้ส่งสมทบจะมีบัญชีของตัวเองชัดเจน บำเหน็จบำนาญที่ได้จึงขึ้นอยู่กับเงินออมสมทบของตัวเอง ขณะที่ระบบประกันสังคมนั้นเป็นแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจ่ายเงินบำนาญจากกองกลาง กองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคมอาจประสบปัญหาสภาพคล่องหากมีคนมาขอใช้สิทธิรับบำเหน็จและขอคืนเงินจำนวนมาก แม้นจะมีข้อกำหนดว่า ขอคืนได้ไม่เกินร้อยละ 30 สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทก็ตาม หรือ มาขอกู้กันมากๆเพราะมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องกองทุนประกันสังคมมีปัญหาแน่นอน ข้อเสนอเหล่านี้เพื่อตอบสนองผู้ประกันตนและองค์กรแรงงานบางส่วนอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

ในต่างประเทศหลักการกองทุนประกันชราภาพแล้วต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต

ในหลายประเทศ แม้นมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจก็จะไม่ยอมให้จ่ายเป็นบำเหน็จเพราะโดยหลักการกองทุนประกันชราภาพแล้วต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต มีบางประเทศให้รับบำเหน็จได้ แต่ผู้ประกันตนก็มักใช้เงินหมดภายในเวลาไม่กี่ปีและไม่มีหลักประกันรายได้หลังจากนั้นและต้องกลับมาเป็นภาระของสังคมและรัฐในที่สุด ส่วนกรณีการขอคืน “เงินกองทุนชราภาพ” นั้นควรใช้มีวิธีขยายสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานสำหรับผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีกว่า หรือ รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อย การดึงเงินจากกองทุนประกันชราภาพไปใช้เพื่อลดปัญหาทางงบประมาณหรือการก่อหนี้เพิ่มของรัฐเฉพาะหน้า แต่จะสร้างปัญหาระยะยาวติดตามมาอยู่ดี ส่วนการขอกู้จากกองทุนหรือนำเงินที่สะสมไว้มาเป็นหลักประกันนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะลังเลปล่อยกู้หรือไม่ เพราะเงินสมทบก็คล้ายการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อซื้อบริการไปแล้ว หากเอาเงินสมทบมาขอกู้เงินความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นธนาคารของรัฐที่รัฐบาลสั่งให้สนองนโยบายหรืออีกทางหนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องจัดตั้ง “ธนาคารของกองทุนประกันสังคม” ขึ้นมา

ขอให้ทางกระทรวงแรงงานและรัฐบาลพิจารณาข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและส่งผลกระทบระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมด้วยความรอบคอบ สิ่งที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว คือ การบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุนอย่างโปร่งใสและได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ผลการดำเนินงานของการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีค่าเฉลี่ยดีกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนของตลาดสำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนและข้อกำหนดในการลงทุนแบบเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นความสำเร็จ แต่การทบทวนนโยบายการลงทุนและประเมินผลบรรดาผู้จัดการลงทุนที่กองทุนประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างมากในช่วงตลาดการเงินผันผวนและเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมจากหน่วยราชการมาเป็น องค์กรอิสระที่เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการแบบ กลต ตลาดหลักทรัพย์ หรือ องค์กรแบบธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาทางอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้มีการเสนอให้มีเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงความยั่งยืนทางการเงินควบคู่ไปด้วย เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ชราภาพ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน การขยายระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การลดเงินสมทบช่วง Covid-19 การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยมาตรา 40 การเพิ่มสิทธิประโยชน์และการออมเงินโดยสมัครใจมาตรา 33 และ 39 เป็นต้น โดยรวมแล้วการดำเนินการที่ผ่านเป็นการเพิ่มสวัสดิการและลดเงินสมทบให้กับผู้ประกับตนมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีเงินไหลออกจากเงินกองทุนมากกว่าเงินไหลเข้า ด้านเงินไหลเข้านั้น กองทุนประกันสังคมก็ได้ขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น และ ตนเห็นว่า กองทุนประกันควรขยายฐานในเชิงรุกมากกว่านี้ไปยังกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองด้านสวัสดิการพื้นฐานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและนอกจากนี้ยังมีเงินไหลเข้ากองทุนจากการจ่ายเงินสมทบอีกด้วย

เรียกร้องให้รัฐกำกับ “การจ้างงานแบบยืดหยุ่น” “การจ้างงานแบบเหมาช่วง” “การจ้างงานแบบ Non-Standard”

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแม้นสถานการณ์การจ้างงานโดยรวมปรับตัวในทิศทางดีขึ้นโดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ภาคการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นบ้างหลังการเปิดประเทศ แต่รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการแก้ปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะการว่างงานของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ควบรวมกิจการและได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี การปรับหลักสูตรและระบบการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่สอดคล้องสำหรับระบบเศรษฐกิจใหม่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังควบคู่กับการปรับทักษะ พัฒนาทักษะ สร้างทักษะให้กับแรงงาน ขณะนี้ ภาคเอกชนรวมทั้งภาคราชการได้มีการจ้างงานแบบสัญญาจ้างระยะสั้นมากขึ้น จ้างงานตามโปรเจกต์มากขึ้น จ้างงานแบบรายวันรายชิ้นมากขึ้น จ้างงานแบบทำงานจากที่บ้านมากขึ้น มีการทำงานจากระยะไกลมากขึ้น การทำงานแบบแชร์ความสามารถส่วนบุคคล (Talent Sharing) มีการทำงานแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งระบบการจ้างงานหรือทำงานแบบยืดหยุ่นที่เป็น Non-Standard เหล่านี้ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ก่อให้เกิดความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้เร็ว มีความยืดหยุ่น แต่ควบคุมคุณภาพได้ยาก และ ขณะเดียวกันอาจเป็นการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมได้ และเรียกร้องให้รัฐกำกับ “การจ้างงานแบบยืดหยุ่น” “การจ้างงานแบบเหมาช่วง” “การจ้างงานแบบ Non-Standard” ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานและสร้างความไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างได้ มาตรฐานแรงงานไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานแรงงานโลก

กระทรวงแรงงานได้ประกาศมาตรฐานแรงงานไทยเมื่อ 27 มิ.ย. 2546 เพื่อให้สถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด นำไปปฏิบัติต่อแรงงานในสถานประกอบการด้วยความสมัครใจ การดำเนินธุรกิจและดำเนินการผลิตต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมที่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน (รวมสิทธิแรงงานด้วย) สภาพการจ้างและสภาพการทำงาน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องทบทวนข้อกำหนดแห่งมาตรฐานแรงงานในช่วงนี้เนื่องจากมีสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างและทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มาตรฐานนี้ครอบคลุมไปยังผู้รับเหมาช่วงและการจ้างงานแบบไม่เป็นมาตรฐานด้วย สถานประกอบกิจการต้องให้ลูกจ้างได้รับข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละงวด เป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถเข้าใจรายละเอียดส่วนประกอบต่างๆได้ สถานประกอบกิจการต้องไม่หักค่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้ มาตรฐานแรงงานไม่สามารถครอบคลุมแรงงานจำนวนไม่น้อยที่อยู่นอกระบบ สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรม และพัฒนา การพิจาณาเลื่อนขั้น หรือตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุการทำงานและอื่นๆ อันเนื่องมาจากเหตุเพราะความแตกต่างในเรื่องของสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ สถานภาพสมรส ทัศนคติส่วนตัวในเรื่องเพศ ความพิการ การติดเชื้อเอชไอวี การเป็นผู้ป่วยเอดส์ การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเป็นกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ นายจ้างได้ถือโอกาสช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเลือกปฏิบัติ ซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น

สถานประกอบกิจการต้องไม่ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใดๆ ที่จะเป็นผลกระทบต่อการใช้สิทธิของลูกจ้างที่ไม่มีผลเสียหายต่อกิจการ ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ประเพณีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความพิการการเป็นกรรมกรลูกจ้าง การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือพรรคการเมือง และการแสดงออกตามทัศนคติส่วนบุคคลอื่นๆ สถานประกอบกิจการต้องไม่ลงโทษทางวินัย โดยการหัก หรือลดค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือการสนับสนุนให้ใช้วิธีการลงโทษทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือกระทำการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อมิให้ลูกจ้างถูกล่วงเกิน คุกคาม หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ โดยการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใด สถานประกอบกิจการต้องเคารพสิทธิลูกจ้างในการรวมตัวจัดตั้งและร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการอื่นๆ ในสถานประกอบกิจการ อีกทั้งยอมรับการร่วมเจรจาต่อรอง การคัดเลือก หรือเลือกตั้งผู้แทน โดยไม่กระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิของลูกจ้าง

สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ และต้องปฏิบัติต่อผู้แทนลูกจ้างโดยเท่าเทียมกับลูกจ้างอื่นๆ โดยไม่กลั่นแกล้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆที่ไม่เป็นธรรม สถานประกอบกิจการต้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ครอบคลุมประเภทงาน หรือลักษณะงานที่มีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการควบคุม ป้องกันให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อมในการทำงาน สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตราย และลดปัจจัยเสี่ยงให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย ขณะนี้หลายกิจการ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมลดมาตรฐานแรงงานลงมาเพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มการกีดกันทางการค้าอันนำมาสู่ผลกระทบต่อกิจการและประเทศชาติโดยรวมในที่สุด

ต้องมอง “แรงงาน” ในฐานะมนุษย์ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติ-ร่วมโลก

รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้ำว่าหากมีการจ้างงานอย่างไม่ธรรมมากๆ ไม่มีสวัสดิการ ได้รับค่าตอบแทนต่ำด้วยชั่วโมงการทำงานยาวนานและสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยและไม่มีอาชีวอนามัย ก็อาจจะดีกว่า “แรงงานทาส” ไม่มากนัก เป็นการมอง “แรงงาน” เป็นเพียงปัจจัยการผลิตและต้นทุน ไม่ได้มอง “แรงงาน” ในฐานะมนุษย์ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ร่วมโลก และ สภาวะดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับแรงงานอพยพที่ไม่มีทางเลือก และเราได้เห็นการกดขี่เอาเปรียบเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น กรณีชาวโรฮิงยา กรณีชาวเมียร์มาร์ในกิจการประมง การที่ประเทศไทยยังเป็นแหล่งของการค้ามนุษย์ค้าแรงงานทาสของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติอยู่สะท้อนปัญหาที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยหลายประการรวมทั้งปัญหาการทุจริตในระบบราชการที่เกี่ยวข้องและการไม่มีสำนึกทางด้านสิทธิมนุษยชน มองคนเป็น “สินค้า” และมองคนไม่เท่ากัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: