'จับคู่นวัตกรรม' เว็บไซต์เพิ่มศักยภาพโครงการรัฐในระดับพื้นที่

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2179 ครั้ง

'จับคู่นวัตกรรม' เว็บไซต์เพิ่มศักยภาพโครงการรัฐในระดับพื้นที่

โครงการนำร่องระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการงบประมาณเชิงพื้นที่ ภายใต้แผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP 4.0) ที่ดำเนินการโดยสถาบันคลังสมองแห่งชาติ พัฒนา 'การจับคู่นวัตกรรม' เป็นสะพานเพื่อเชื่อมต่อระหว่าง “งานวิจัย” กับ “ผู้ใช้ตัวจริงในพื้นที่” ผ่านเว็บไซด์ Innovation-matching.com

ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2565 แผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP 4.0) รายงานว่าหนึ่งในแต้มต่อสำคัญที่ทำให้ โครงการของหน่วยงานในระดับพื้นที่ ทั้งในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และส่วนราชการในระดับจังหวัด ได้รับการสนับสนุนและได้รับขยายผล คือการนำ “นวัตกรรม” หรือ “ข้อค้นพบในงานวิจัย” มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการของตนเอง อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้พิจารณาหรือคนตัดสินใจอนุมัติ มากกว่าโครงการที่ทำเพื่อสนองรอบความต้องการหรือแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ไม่มีงานวิชาการรองรับ

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ จะต้องมีเครื่องมือหรือเทคโนโลยี ที่นอกจากจะทำให้ส่วนงานในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังต้องให้เป็นข้อมูลถูกคัดกรอง และจัดวางในรูปแบบที่ครบถ้วนและเข้าใจง่ายสำหรับผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน

นั่นจึงเป็นที่มาของ โครงการนำร่องระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการงบประมาณเชิงพื้นที่ ภายใต้แผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP 4.0) ที่ดำเนินการโดยสถาบันคลังสมองแห่งชาติ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “การจับคู่นวัตกรรม” มาเป็นสะพานเพื่อเชื่อมต่อระหว่าง “งานวิจัย” กับ “ผู้ใช้ตัวจริงในพื้นที่” ผ่านเว็บไซด์ Innovation-matching.com (https://www.innovation-matching.com/)

“ขณะที่จังหวัดต้องการนำงานวิจัยและงานวิชการมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดแต่ไม่รู้ว่าจะไปหาได้ที่ไหน ขณะที่หน่วยงานวิจัยก็ไม่สามารถทำให้ผลงานไปสู่กลุ่มคนทำงานในพื้นที่ได้ เราจึงต้องการสร้าง สะพานที่เชื่อมขั้วนี้เข้าหากัน โดยทำในสองด้านคือการศึกษารายละเอียดของแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อมากำหนดประเด็นร่วมของพื้นที่ โดยในช่วงแรกนี้ เรามีการกำหนดหัวข้อใหญ่ๆออกมาจำนวน 6 หัวข้อคือ ข้าว ยางพารา โคเนื้อ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมไปถึงองค์ความรู้อื่นๆ เมื่อเราได้หัวข้อแล้ว จึงได้ไปหารือกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำงานวิจัยที่แล้วเสร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนกว่า 6,000 ชิ้น มาจำแนกตามหัวข้อที่กำหนดไว้ รวมถึงการจัดหมวดหมู่เพื่อทำให้การค้นหามีความชัดเจนและเข้าใจง่ายมากขึ้น ทั้งในแง่ของประเภทผลงานวิจัย ตัวชิ้นงานหรือนวัตกรรม การกำหนดลำดับบนห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงเป้าหมายและผลลัพธ์ของงานวิจัย” กวิน เทพปฏิพัธน์ จากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว

หลังจากนั้น ทีมวิจัยได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาในรูปแบบของเว็บไซด์ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นหางานวิจัยที่ต้องการได้ง่ายที่สุด สามารถค้นหาผ่านคำสำคัญหรือ Key Word ที่จำเพาะเจาะจงกับสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือตามกรอบของห่วงโซ่มูลค่าในแต่ละเรื่อง เป็นต้น เช่น ในหมวด “ข้าว” ผู้ค้นสามารถเลือกที่จะค้นเฉพาะ โรคพืช ที่เกี่ยวข้องกับการ “เพิ่มผลิตภาพ” ของข้าว หรือคำอื่นๆ ที่ตรงกับประเด็น หรือวัตถุประสงค์ของโครงการที่สนใจอยู่ ซึ่งผลของงานวิจัยที่ค้นนี้ ยังจะแสดงกระทั้งชื่อหน่วยงานวิจัย ชื่อนักวิจัย และแหล่งทุน เพื่อให้ผู้สนใจสามารถติดต่อกับหน่วยงานหรือบุคคลเหล่านี้ได้โดยตรง ทำให้เกิดการเข้าถึงงานวิจัยในสถ าบันต่างๆ และนำมาขับเคลื่อนหรือขยายผลกับโครงการในระดับจังหวัดยัง และในพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยแนวคิดของเว็บไซด์จับคู่นวัตกรรมนี้ที่ต้องการให้เป็นระบบที่เปิด และเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้มากที่สุด จึงได้มีการพัฒนาระบบที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถแนะนำงานวิจัย หรือการเพิ่มชื่อของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้าสู่ระบบเพิ่มเติม เพื่อขยายฐานข้อมูลของผลงาน และนักวิจัยให้กว้างมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์สำหรับการค้นหาของผู้ใช้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยน พูดคุยระหว่างกัน ในลักษณะของการเป็นชุมชนออนไลน์ด้านการขับเคลื่อนงานวิจัยอีกด้วย โดยหลังจากพัฒนาระบบเสร็จสิ้น ได้มีการทดสอบการใช้งานระบบกับผู้แทนจากส่วนงานต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค จำนวน 15 จังหวัด โดยได้รับผลตอบรับในเกณฑ์ดี

“ในอดีตที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ราชการเราเองในการจัดทำโครงการเราก็จะมอบหมายภารกิจให้กับส่วนราชการต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบคิดแผนงานโครงการขึ้นมา โดยอาจจะเริ่มต้นจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ การที่มี โครงการวิจัยรองรับ การที่จะเป็นต้นทุนในการคิดแผนงานโครงการ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะว่าเป็นการที่เราจะนำงบประมาณลงไปในการที่จะจัดทำแผนงานโครงการขึ้นมา แล้วก็สามารถที่จะเกิดประโยชน์ที่แท้จริง ก็เชื่อว่า จังหวัดจะผลักดันให้ทุกส่วนราชการได้ใช้โครงการวิจัยนี้ให้เป็นประโยชน์ ในการจัดทำแผนงานโครงการในอนาคต ในรอบปีที่จะจดัทำด้วยคำของบประมาณในปีต่อๆไป” นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันระบบ Innovation Matching ถือว่าเป็นระบบต้นแบบ (Pilot) ที่มีการเปิดให้ทดลองใช้งานได้แล้ว พร้อมกับการสื่อสารกับหน่วยงานด้านการวิจัยทั้ง สำนักงานวิจัยแห่งชาติ หน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการเชื่อมโยงระบบที่พัฒนาขึ้นมานี้ กับระบบข้อมูลสารสนเทศด้านงานวิจัยหลักของประเทศ ร่วมถึงประสานกับหน่วยงานด้านการปกครอง เช่น สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด กระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการผลักดันให้จังหวัด และอปท. สามารถนำระบบจับคู่นวัตกรรมนี้ไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในส่วนของการพัฒนาระบบนั้น คุณกวินกล่าวว่า ทางคณะวิจัยมีแนวคิดที่จะรวบรวมและจัดระเบียบงานวิจัยในหัวข้ออื่นๆ เพิ่มขึ้น ในอนาคต ตามที่แต่ละพื้นที่ได้มีข้อเรียกร้องเข้ามา เช่น งานวิจัยในหมวดไม้ผล หรือมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับปรับปรุงรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสม รองรับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น โดยคาดว่าระบบนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการผลักดันให้มีการนำงานวิจัยที่มีในระบบ ไปขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรมต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: