‘องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก’ (World Animal Protection) จัดทำและเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์อย่างขนานใหญ่ของมวลมนุษยโลก
รู้หรือไม่ ในรอบ 30 ปีมานี้ คนทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ทั้งที่จำนวนประชากรในโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นขนาดนั้น น่าสังเกตว่า คนที่กินเนื้อสัตว์มากที่สุด คือคนในประเทศร่ำรวย สามอันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล ขณะที่คนรัสเซีย จีน และเวียดนาม จากที่เคยกินพืชผักเป็นหลักก็เปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อคนกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น จากการเลี้ยงแบบพอยังชีพกลายเป็นการทำ “ฟาร์มอุตสาหกรรม”
สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ การเลี้ยงสัตว์แบบนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และรอบด้าน ต่อโลกของเรา รวมถึงตัวเราที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection จัดทำและเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ที่ชื่อว่า “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” โดยอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์อย่างขนานใหญ่ของมวลมนุษยโลก
“กิน” ทำลายสิ่งแวดล้อม ซ้ำเติมวิกฤติโลกร้อน
ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการตัดป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ แม้แต่ป่าแอมะซอนก็ยังถูกแผ้วถางจนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย สัตว์กว่าหนึ่งล้านสายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ยังไม่นับผลกระทบจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ที่ไนโตรเจนจากปุ๋ยปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำจืดจนเกินมาตรฐานความปลอดภัย หรือตัวอย่างการเกิด “เขตมรณะ” ขนาดใหญ่กว่า 6,300 ตารางเมตร ในอ่าวเม็กซิโกเมื่อปีที่ผ่านมา
การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ใหญ่ที่สุด[1] ก๊าซเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องรับมืออยู่ในขณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มอุตสาหกรรมยังใช้พลังงานสูง ทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การให้แสงสว่างและควบคุมอุณหภูมิในฟาร์ม รวมไปถึงระบบระบายอากาศ ล้วนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสภาพอากาศและมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น
โลกสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร
พื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกนี้ที่เคยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชให้เราได้กินกัน ปัจจุบันถูกปรับเป็นแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ การที่พืชผลทางการเกษตรและที่ดินถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์แทนที่จะเป็นอาหารของมนุษย์ ส่งผลให้อาหารตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง เพราะเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมีราคาสูงกว่าพืชผัก ผู้คนทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในราคาที่เหมาะสมเหมือนอย่างในอดีตอีกต่อไป
การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมยังสิ้นเปลืองน้ำ กว่าจะได้กินเนื้อวัว เราต้องใช้น้ำมากกว่าปลูกพืชผักถึง 9 เท่า การเลี้ยงหมูใช้น้ำมากกว่าการเพาะปลูก 4 เท่า เนื้อไก่ใช้น้ำมากกว่า 3 เท่า ถ้าเลี้ยงอย่างหนาแน่นก็ยิ่งใช้น้ำมากขึ้นอีก มีตัวเลขว่า น้ำจืดร้อยละ 70 ของโลกถูกนำไปใช้ในการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
ภาวะทุพโภชนาการ - ความหิวโหย คู่ภาวะน้ำหนักเกิน
ในปี พ.ศ. 2563 ประชากรโลกประมาณ 720-811 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญความอดอยากหิวโหยจากเหตุความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน หลังโควิด 19 แพร่ระบาด ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นอีก คนในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางต้องรับมือกับ “ภาระสองเท่า” ของภาวะทุพโภชนาการ และเผชิญกับโรคขาดสารอาหาร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 144 ล้านคนมีภาวะเตี้ยและแคระแกรน อีก 47 ล้านคนมีภาวะผอม
คนอีกจำนวนหนึ่งกลับมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด มะเร็ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โรคอ้วนทั่วโลกเพิ่มขึ้นสามเท่า และในจำนวนคนทั่วโลกที่เสียชีวิต 57 ล้านราย เป็นการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึง 41 ล้านราย หรือร้อยละ 70 การกินอาหารจากฟาร์มปศุสัตว์มากเกินไป แต่กินผักผลไม้น้อย ถูกจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
“เชื้อดื้อยา” จากฟาร์มสัตว์สู่คน
ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตพยายามกดต้นทุนให้ต่ำ โดยการทำฟาร์มขนาดใหญ่ที่คุ้มทุนกว่าการเลี้ยงแบบพอยังชีพ การเลี้ยงสัตว์อย่างแออัดยัดเยียดใช้สายพันธุ์โตไวแต่ต้านทานโรคต่ำ ทำให้สัตว์อ่อนแอ ทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะแบบรวมหมู่ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ “เชื้อดื้อยา” และเชื้อเหล่านี้ก็เล็ดลอดจากฟาร์ม ทั้งรั่วไหลออกมากับน้ำทิ้งไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณ ปะปนกับคนเลี้ยงสัตว์ และผู้คนก็เสี่ยงรับเชื้อขณะปรุงอาหาร รวมถึงคนที่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
มีตัวเลขคาดการณ์ว่า ประชากรโลกเสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 700,000 รายต่อปี และหากสถานการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป คาดว่าภายในปี 2593 จำนวนผู้เสียชีวิตจะขยับไปอยู่ที่ 1.27 ล้านคนต่อปี เชื้อดื้อยายังสร้างปัญหาด้านสาธารณสุข เพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังผ่าตัด การปลูกถ่ายอวัยวะ ให้ยาเคมีบำบัด โดยยาที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ภัยคุกคามการทำงาน
โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และโรงงานบรรจุภัณฑ์ ใช้แรงงานสูง แม้จะปรับระบบการทำงานให้ทันสมัย แต่อุบัติเหตุแบบเดิม ๆ ยังอยู่ คนงานยังบาดเจ็บจากการลื่นล้ม หรือโดนเครื่องจักร รวมถึงโรคจากการทำงาน เช่น กล้ามเนื้อและกระดูกผิดปกติ โรคเครียด โดยความเครียดของคนงานมาจากการทำงานในพื้นที่คับแคบ เสี่ยงโรค ในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด คนงานในโรงบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ในสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อโควิดสูงกว่า 300,000 ราย และกลุ่มคนงานแปรรูปเนื้อสัตว์ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและล้มป่วยจากการทำงานมากที่สุด
การจ้างงานในระบบการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์มักเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ค่าจ้างต่ำ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน ในยุโรปพบว่าบริษัทผลิตเนื้อมีการจ้างคนงานจำนวนมากด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ
…
จากรายงานฉบับนี้ ผลกระทบที่ติดตามมาจากการทำฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ดูจะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นแบบ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ขณะเดียวกัน การตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันของปัญหาถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะทำให้เห็นทางเลือกที่ต่างออกไป นั่นก็คือการปรับระบบการผลิตสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนด้านอาหาร ซึ่งเอื้อต่อการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมแก่พลเมืองโลก และปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ไปพร้อมกัน
รายงานฉบับเต็ม ภัยคุกคามที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
https://www.worldanimalprotection.or.th/The-hidden-health-impacts-of-factory-farming
ปฏิรูประบบปศุสัตว์ เพื่อโลก เพื่อเรา รายงาน “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” มีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลของทุกประเทศ เพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติต่างให้พันธะสัญญา ข้อเสนอแนะ 10 ประการ ประกอบด้วย 1) ตระหนักว่าระบบฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมสร้างผลกระทบด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องมุ่งมั่นในการหยุดสนับสนุนการทำฟาร์มในลักษณะดังกล่าว 2) นโยบายการคลัง การจัดเก็บภาษี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ต้องดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นต้นทุนที่แท้จริงของผลกระทบจากระบบฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม 3) กำหนดแผนระดับชาติเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม มาสู่การเกษตรนิเวศที่มุ่งเน้นการผลิตอาหารจากพืช (Plant-based Food) และบังคับใช้มาตรฐานการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ขั้นสูงกับฟาร์ม 4) จัดให้มีแนวทางที่เน้นการบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างธรรมาภิบาล และกำหนดนโยบายสาธารณะในทุกระดับของระบบฟาร์มปศุสัตว์ 5) ส่งเสริมนโยบายทางการค้าที่ลดอาหารจากฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม และสนับสนุนการทำนิเวศเกษตร หรือเกษตรเชิงฟื้นฟู รวมทั้งสนับสนุนอาหารจากฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์แบบปล่อยในทุ่งหญ้ากลางแจ้ง 6) กำหนดมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ และการจัดซื้อเนื้อสัตว์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำด้านสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม หรือ Farm Animal Responsible Minimum Standard (FARMS) 7) หยุดให้เงินอุดหนุน หรือดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม 8) ยับยั้งการทำฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ตามแผนจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสมัครใจของประเทศ 9) ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มาจากกระบวนการผลิตที่มีมนุษยธรรม ยั่งยืน และดีต่อสุขภาพ 10) พัฒนาแผนการปฏิบัติงานระดับชาติ ภายใต้หลักการสุขภาพ-สวัสดิภาพหนึ่งเดียว (One Health, One Welfare) และยุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ |
อ้างอิง
[1] ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น, หน้า 15
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ