จับตา: 'หมึกสายสยาม' และ 'หมึกบลูริง' ความต่างที่คล้ายกัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5860 ครั้ง


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุว่าตามที่มีเครือข่ายแจ้งพบหมึกคล้าย 'หมึกบลูริง' หรือ 'หมึกสายวงน้ำเงิน' ในซุปเปอร์มาร์เก็ตกลางกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 นั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีลักษณะที่คล้าย แต่ไม่ใช่หมึกบลูริง โดยตัวที่พบเป็น หมึกสายสยาม ซึ่งจะมีตาปลอม เป็นวงสีฟ้าเช่นกัน แต่มีจำนวนวงเพียง 2 วง แตกต่างจากหมึกบลูริงที่มีตาปลอม หรือวงสีฟ้า กระจายโดยทั่วทั้งตัว สำหรับความเป็นพิษของหมึกสายสยามนั้น ยังไม่เคยมีรายงานอาการการได้รับพิษหรือรายงานการเสียชีวิต ทั้งจากการโดนกัดและการรับประทาน

ทั้งนี้ข้อมูลจาก 'ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข หมึกสายวงสีน้ำเงิน พิษร้ายจากท้องทะเล Fact Sheet ก.พ. 2559' (อ้างในเว็บไซต์คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ได้ระบุถึงลักษณะของ  'หมึกบลูริง' หรือ 'หมึกสายวงน้ำเงิน' ไว้ดังนี้

หมึกสายวงน้ำเงิน อันตรายถึงชีวิตหรือไม่

หมึกสายวงน้ำเงินมีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเตโตรโดท็อกซินมีอัตราตายสูงถึง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พิษที่เกิดจากหมึกสายวงน้ำเงินกัดจะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด (แต่จะนานอย่างน้อย 15 นาทีถ้าเกิดจากการกินปลาปักเป้า) โดยเริ่มจากการชาบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ต่อมาชาบริเวณใบหน้า แขนขาและเป็นตะคริวในที่สุด น้ำลายไหลคลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นกล้ามเนื้อจะเริ่มทำงานผิดปกติ อ่อนแรง ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมาก ระบบประสาทส่วนกลางจะไม่ทำงาน หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4 - 6 ชั่วโมงแต่ก็มีรายงานการเสียชีวิตเร็วที่สุดหลังจากได้รับพิษไปเพียง 20 นาทีเท่านั้น

เราจะพบหมึกชนิดนี้ได้บ่อยไหม

หมึกสายวงน้ำเงินมีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศผู้จะตายหลังจากการผสมพันธุ์ เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวง จำนวน 20-300 ฟองไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือนเจริญเป็นตัวเต็มวัยโดยมีอายุขัยประมาณ 1 ปี ในเวลากลางวันหมึกสายวงน้ำเงินมักพักหลบอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอย แล้วจึงออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหากุ้งและปูเป็นอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่นปัจจุบันทั่วโลกพบหมึกสายวงน้ำเงินทั้งหมด ประมาณ 4 ชนิด สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบหมึกสายวงน้ำเงิน สกุลHapalochlaena maculosa ในน่านน้ำไทยทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย

ความต่างจากหมึกทั่วไป

หมึกสายวงน้ำเงินหรือหมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จำพวกหนึ่งแต่มีขนาดเล็กตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร หมึกสายวงน้ำเงินมีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลำตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลำตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้สามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มากจึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในหลายๆประเทศ

คนที่ไปท่องเที่ยวทางทะเล ต้องระวังอย่างไร

หมึกทะเลชนิดนี้เป็นหมึกสายขนาดเล็ก มีพิษ หากพบเจอต้องระวังให้มาก แต่ไม่ต้องกลัวจนเกินไป เนื่องจากเมื่อพบเจอกัน หมึกมักไม่สนใจเรา แต่อาจป้องกันตัวหากโดนจับหรือโดนทำร้าย หมึกชนิดนี้มีรายงานในประเทศอยู่บ้าง โดยเฉพาะแถวประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร อย่างไรก็ตาม หมึกชนิดนี้เป็นหมึกที่อยู่ตามพื้นทะเล ในเมืองไทยไม่เคยมีรายงานว่าพบตามชายหาดที่มีคนเล่นน้ำ โดยแม้แต่ตามพื้นทะเล สำรวจพบอยู่บ้าง แต่ไม่เยอะจนพบบ่อยทั่วไป อาจพบได้โดยนักดำน้ำบริเวณด้านนอกแนวปะการัง จึงไม่ต้องตื่นตกใจ โดยพิษของหมึกชนิดนี้มาจากการกัด ไม่ควรจับเล่น หรือโดนตัว และนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากพิษของหมึกไม่สลายแม้โดนความร้อน

พิษของหมึกชนิดนี้ จะมาในรูปแบบไหน

สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ทั้งนี้เตโตรโดท็อกซินที่พบทั้งในหมึกสายวงน้ำเงินและปลาปักเป้าไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่มียีนที่ควบคุมการสร้างพิษนี้ มีการศึกษาพบว่าพิษนี้สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp.,Photobacterium phosphorium ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์แบบพึ่งพา(symbiosis) โดยที่แบคทีเรียอาศัยตัวสัตว์เป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ส่วนสัตว์ได้พิษจากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ

มันอันตราย ต่อสิ่งมีชีวิตทุกประเภทหรือไม่ ไม่ใช่แต่คน

หมึกสายวงน้ำเงินจะใช้สารพิษเตโตรโดท็อกซินที่ได้จากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ โดยหมึกจะออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหากุ้งและปูเป็นอาหาร

หากโดนพิษ เบื้องต้น ทำอย่างไร

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทำให้สมองตาย สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงินควรทำการปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว ทั้งนี้เพื่อทำให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้ด้วย ถ้าถูกกัดบริเวณลำตัวในกรณีที่พันได้ให้พันด้วยแต่อย่าให้แน่นจนทำให้หายใจลำบาก และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทำให้พิษกระจายมากขึ้นเทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่รับประทานปลาปักเป้านั้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

เตือนภัย การไปท่องเที่ยวทะเล มีทั้งสัตว์ที่มันอาจจะอันตรายได้ เราควรระมัดระวังอย่างไร

หมึกทะเลชนิดนี้เป็นหมึกสายขนาดเล็ก มีพิษ หากพบเจอต้องระวังให้มาก แต่ไม่ต้องกลัวจนเกินไป เนื่องจากเมื่อพบเจอกัน หมึกมักไม่สนใจเรา แต่อาจป้องกันตัวหากโดนจับหรือโดนทำร้าย โดยพิษของหมึกชนิดนี้มาจากการกัด ไม่ควรจับเล่น หรือโดนตัว อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีรายงานว่าคนไทยโดนหมึกชนิดนี้กัด นอกจากนี้ ไม่ควรนำเนื้อของหมึกสายวงสีน้ำเงินมาประกอบอาหาร เนื่องจาก พิษเตโตรโดท็อกซินเป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ขนาดที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิตคือประมาณ 1มิลลิกรัม ซึ่งมีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นพิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยการใช้ความร้อนปกติในการปรุงอาหาร ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: