มติ ครม. มิชอบเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 10 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3402 ครั้ง


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมปีนี้  เพื่ออธิบายว่าคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ 1-4/2557 ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด  จำนวนสี่แปลงที่ จ.อุดรธานี  ซึ่งนายทุนฆ่าเสือดำเจ้าของอิตาเลียนไทยถือหุ้นเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์  ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยแร่และระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว  โดยพื้นที่คำขอประทานบัตรเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้แผนแม่บทฯ พ.ศ. 2560 – 2564 มีผลใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565  รวมถึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9​ ธันวาคม 2557 แล้ว  จึงขอเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการดังกล่าวต่อ ครม.​ เพื่อโปรดทราบก่อนดำเนินการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรในขั้นตอนต่อไป  และขอทบทวนเพื่อยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ด้วย  เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้นำแผนแม่บทฯเสนอต่อ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว  ซึ่งในการอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทฯกำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’  มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯแล้วเท่านั้น

ครม. จึงมีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565  ว่า  (1) รับทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ  และให้ อก. รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กระทรวงเกษตรฯ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  กระทรวงพาณิชย์  และกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

(2) เห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 (เรื่อง รายงานข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีโครงการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย) เฉพาะในส่วนของข้อ 2

(3) ให้ อก. ร่วมกับ ทส. กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชให้ถูกต้อง  เหมาะสม  คุ้มค่า  มีความโปร่งใส  เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย  และกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ให้ครบถ้วน  รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง  และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้วย

โดยสรุปของมติ ครม. ทั้งสามข้อก็คือเตรียมออก/อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินทั้งสี่แปลง

ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงอย่างน้อยสองประเด็น  คือ

1.การอ้างว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้งสี่แปลง 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา ซึ่งกินอาณาเขตกว้างขวางมาก  ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนคำขอตั้งแต่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายแร่ฉบับเก่าที่ถูกยกเลิกไปแล้ว (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามแผนแม่บทฯที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560) นั้น  ถือว่าเป็นข้ออ้างที่บิดเบือน  ไม่ได้ตั้งอยู่ในข้อเท็จจริง  เหตุเพราะว่าในหลายมาตราของกฎหมายแร่ฉบับใหม่  โดยเฉพาะมาตรา 17 วรรคสี่  กำหนดไว้ชัดเจนว่า คนร. ต้องเอาพื้นที่ประเทศไทยทั้งประเทศประมาณ 320 ล้านไร่  มาจำแนกประเภทให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนบ้างเป็นพื้นที่ที่ถูกหวงห้ามไม่จัดอยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองที่จะนำไปขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดใด ๆ มิได้  เช่น  พื้นที่อุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  พื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  พื้นที่โบราณวัตถุและโบราณสถานตามกฎหมายที่ว่าด้วยการนั้น  พื้นที่หวงห้ามเฉพาะตามกฎหมายที่ว่าด้วยการนั้น  และ ‘พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’  และพื้นที่ไหนบ้างจัดอยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง 

ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาชั้นต้นของศาลปกครองจังหวัดอุดรฯเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่ชาวบ้านฟ้องในสาระสำคัญว่าการดำเนินการตามคำขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตชใต้ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวได้ละเว้นหรือยังไม่ได้จัดทำ ‘รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร’ (ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า)  ที่จะต้องไต่สวนพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ไม่มีประชาชนคนใดสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า  เพราะเป็นกิจกรรมที่อยู่ใต้ผืนดินลึกลงไปไม่ต่ำกว่า 160 เมตร ตามชั้นแร่โปแตชชนิดซิลไวท์ที่ถูกสำรวจพบในพื้นที่ดังกล่าว  โดยจะต้องไต่สวนประหนึ่งว่าไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรเหมืองบนผิวดิน  เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีห้วยน้ำลำธารใต้ดินไหลไปสู่ทิศทางไหน  อย่างไรบ้าง  และมีความสัมพันธ์กับน้ำบนผิวดินอย่างไรบ้าง  (ซึ่งในข้อเท็จจริงที่เห็นอยู่เป็นประจำในหลายพื้นที่การขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ มักพบว่าการไต่สวนตามรายงานไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรหากพบว่ามีห้วยน้ำลำธารอยู่  เจ้าหน้าที่รังวัดปักหมุด/ไต่สวนมักจะหลีกเลี่ยงที่จะเขียนลงไปว่าพบ  โดยมักจะเขียนลงไปว่าไม่พบ  เพราะถ้าเขียนลงไปว่าพบก็จะทำให้ดำเนินการตามคำขอประทานบัตรต่อไปไม่ได้  และคนที่ลงนามรับรองทั้งผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน  และเจ้าหน้าที่รังวัดปักหมุด/ไต่สวน  มักถูกกล่าวหาและถูกลงโทษว่ามีความผิดอยู่เสมอในหลายพื้นที่จากการร้องเรียนและฟ้องคดีของชาวบ้าน)  ศาลปกครองชั้นต้นจึงได้พิพากษาว่าการดำเนินการตามคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินทั้งสี่แปลงมีความผิดจริง  เพราะยังไม่ได้จัดทำ ‘รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร’ จริงตามที่ชาวบ้านกล่าวหา/ฟ้องคดี 

แต่เนื่องจากในระหว่างพิพากษาก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่  และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หน่วยงานในสังกัด อก. ก็ได้ออกอนุบัญญัติ/กฎหมายลำดับรองจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ขึ้นมาใหม่  คือ  ‘ประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  เรื่อง  หลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560  พ.ศ. 2562’ (เป็นประกาศฉบับใหม่เพื่อยกเลิกประกาศฉบับเก่าในชื่อเดียวกันที่ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560  ให้หลังจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับได้เพียงแค่สองวัน)  เพื่อไม่ให้การดำเนินการตามคำขอประทานบัตรชนิดแร่ใด ๆ ก็ตามต้องจัดทำ ‘รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร’ อีกต่อไปแล้ว  เพื่อหลีกเลี่ยงต้องไต่สวนเรื่องห้วยน้ำลำธารและที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทอื่น ๆ 

แต่ประกาศดังกล่าวก็ยังมีหลักการให้ต้องรังวัดปักหมุดขอบเขตคำขอโดยคำนึงถึงที่ดินเอกชน  ที่ดินรัฐ  ที่สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ อยู่ดี  ถึงแม้จะไม่ต้องไต่สวนตามรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร  ก็มิอาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องรังวัดปักหมุดทับลงไปในพื้นที่ที่เป็นห้วยน้ำลำธารและที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทอื่น ๆ โดยไม่ใส่ใจ/ละเลยมิได้  ศาลปกครองชั้นต้นจึงได้พิพากษาให้กลับไปดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตชใต้ดินทั้งสี่แปลงตามกระบวนการ/ขั้นตอนของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ให้ครบถ้วน  แปลง่าย ๆ ว่าให้กลับไปดำเนินการขอประทานบัตรใหม่ตามกระบวนการของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น

แต่สิ่งที่ กพร. และ อก. ทำ  คือไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น  เพราะเนื่องจากมีการอุทธรณ์คดี  จึงยังทำให้คดียังไม่ถึงที่สุด  ในช่วงเวลาสุญญากาศนี้  กพร.,  อก. และบริษัทฯจึงยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

แต่ต่อให้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น  ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่อยู่ดี  โดยเฉพาะต้องปฏิบัติตามมาตรา 187, 188 และ 189 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า  (1) บรรดากฎกระทรวง  ประกาศ  ระเบียบ  หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าและพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509  ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแร่ฉบับใหม่  (2) บรรดาคำขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ  ให้ถือว่าเป็นคำขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่  แต่ให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่  และ (3) บรรดาอาชญาบัตร  ประทานบัตรหรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า  ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ  ให้ถือเป็นอาชญาบัตร  ประทานบัตรหรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน  โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่  ตามลำดับ  ซึ่งมีหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขใหม่ ๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม 

ดังนั้น  การอ้างว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่แล้วโดยบิดเบือนว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้งสี่แปลงเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามแผนแม่บทฯซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบแล้วนั้น  เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง  เพราะข้อเท็จจริงก็คือ อก. และ กพร. ได้ยกคำขอประทานบัตรทั้งสี่แปลงที่ขอไว้ตั้งแต่กฎหมายแร่ฉบับเก่าใช้บังคับเอามาอยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองโดยที่ยังไม่ได้จำแนกพื้นที่ตามหลักวิชาการที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 วรรคสี่และมาตราอื่น ๆ ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่แต่อย่างใด 

ซึ่งการจำแนกพื้นที่ตามหลักวิชาการที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 วรรคสี่  รวมถึงมาตราอื่น ๆ ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่  คือเรื่องเดียวกับที่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาไว้นั่นเอง  นั่นคือ  จะต้องนำพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้งสี่แปลงมาจำแนกให้ได้ว่าพื้นที่ไหนบ้างมีห้วยน้ำลำธารที่ไหลอยู่ใต้ผิวดิน (ระบบน้ำใต้ดิน) สัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบน้ำบนผิวดิน 

หรือจำแนกให้ได้ว่าพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรทั้งสี่แปลงพื้นที่ไหนบ้างเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่จะต้องถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองที่จะนำมาขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชมิได้ 

2. การอ้างว่าได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9​ ธันวาคม 2557 แล้ว ยิ่งบิดเบือนมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะข้อเท็จจริงในพื้นที่มีแต่ความขัดแย้งที่เกิดจากการกระทำของบริษัทฯและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  และยังมี อบต. ในพื้นที่บางแห่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการทั้งโดยวาจาและลายลักษณ์อักษรส่งไปถึงส่วนราชการต่าง ๆ  ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการขอประทานบัตรตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าและฉบับใหม่  แต่ก็ยังถูกละเลย/ละเว้น/เพิกเฉยจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ปล่อยให้มีการขอประทานบัตรกระโดดข้ามหรือลัดขั้นตอนหน่วยงานท้องถิ่นไปเสีย

ทุก ๆ เวทีที่เกิดขึ้นตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาในการผลักดันโครงการนี้  บริษัทฯและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดและกรมกองของ อก. จะทำทุกวิถีทางในการต้อนคนทั้งที่เห็นด้วยและไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาลงชื่อ  นั่งกันอยู่เฉย ๆ สามชั่วโมงตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงเที่ยงโดยไม่มีปากมีเสียง/แสดงความคิดเห็นอะไร (เพื่อให้ครบเวลาที่หน่วยงานราชการระบุไว้ว่าการจัดเวทีต้องจัดอย่างน้อยสามชั่วโมง  แต่กลับไม่ระบุว่าในสามชั่วโมงนั้นต้องเสนอและต้องได้เนื้อหาอะไรกลับมาบ้าง  และไม่ระบุว่าในเวทีต้องมีสัดส่วนของผู้เห็นต่างด้วยจึงจะครบองค์ประกอบ/องค์ประชุม)  และทำทุกวิถีทางในการกันคนเห็นต่างไม่ให้เข้าร่วมเวที  แม้ต้องใช้กำลังตำรวจพร้อมอุปกรณ์คุมฝูงชนและ อส. หลายร้อยนายก็ตาม  ถึงขั้นที่ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. จัดเวทีในห้องประชุมเทศบาล/อบต. ในพื้นที่ไม่ได้ก็เข้าไปจัดในค่ายทหารแทน

ทั้ง ๆ ที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่มาก  เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก  จำเป็นต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน  ทั้งด้านเทคโนโลยี  สิ่งแวดล้อม  สังคม  วัฒนธรรม  สุขภาพและเศรษฐกิจ  เพื่อที่จะต้องทำทุกวิถีทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน  คุณภาพชีวิต  การมีสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนและเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  แต่เวทีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมากลับสร้างความเข้าใจและการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ 

ซึ่งเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ที่กันผู้เห็นต่างซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายแร่ทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ออกไปด้วย  เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้เห็นด้วยและผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับโครงการฝ่ายเดียวเท่านั้น

ในมติ ครม. ฉบับนี้​,  28 มิถุนายน 2565  จะเห็นได้ชัดถึงความละอายของกระทรวงอุตสาหกรรม  กพร.  และ ครม. ประยุทธ์ที่ไม่สามารถจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9​ ธันวาคม 2557 ได้จริง  จึงมีมติให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 (เรื่อง รายงานข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีโครงการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย) เฉพาะในส่วนของข้อ 2 เสียเลย  เพื่อลบล้างผลผูกพันที่เกรงว่ากระทรวงอุตสาหกรรม  กพร.  และ ครม. ประยุทธ์จะถูกดำเนินการร้องเรียนและฟ้องคดีจากประชาชนเพื่อเอาผิดในอนาคตได้

นี่คือเนื้อหาที่ระบุไว้ในมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 (เรื่อง รายงานข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีโครงการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย) เฉพาะในส่วนของข้อ 2  ดังนี้  “ให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โปแตชในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  ผลดีและประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ในอนาคต  และให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการข้างต้นต่อคณะรัฐมนตรีโดยจะต้องมีความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป”

ในเนื้อหาของมติ ครม.​ ก็บอกไว้ชัดเจนว่าไม่เพียงชี้แจงทำความเข้าใจ  แต่จะต้อง ‘สร้างการรับรู้’ ให้แก่ประชาชนด้วย  ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากจากบริษัทฯและส่วนราชการในการสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก  อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งสองประการ  คือ  ‘ชี้แจงทำความเข้าใจ’ และ ‘สร้างการรับรู้’

แต่สิ่งที่บริษัทฯและส่วนราชการทำกลับบิดเบือนความเข้าใจและบิดเบือนความรับรู้ของประชาชนในพื้นที่  มุ่งแต่ปั่นหัวผู้เห็นด้วยจำนวนน้อยให้เกลียดชังผู้เห็นต่าง  และเกณฑ์คนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อีกจำนวนหนึ่งขึ้นมาแล้วอ้างว่าเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการแล้ว  จึงเกิดเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาแทน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: