จับตาค่าไฟพุ่งแตะ 4 บาทต่อหน่วย จากกรณีรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนทั้งราคาน้ำมันและ LNG พุ่งสูง โดยแหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 จะต้องปรับขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 16 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอ้างถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เรียกร้องให้รัฐตรึงค่าไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้าในอนาคต | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย
ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2565 Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าจากกรณีราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่รัสเซียเปิดศึกบุกยูเครนว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่าค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่เดิมจะต้องปรับขึ้นอีก 16 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้การจะปรับขึ้นอีกมากน้อยเพียงใดนั้น จะต้องดูว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะแบกรับภาระได้อีกแค่ไหน หลังจากที่ช่วยแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงค่าก๊าซฯ แทนผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 ไปก่อนหน้านี้เป็นการชั่วคราวแล้วประมาณ 36,000 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องให้รัฐตรึงค่าไฟฟ้าให้ประชาชน โดยอ้างถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม นั้น ทาง กกพ.ยอมรับว่าปัจจุบัน ไม่มีเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่จะนำมาลดค่าไฟฟ้าได้แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ใช้เงินลดค่าไฟฟ้าบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปหมดแล้ว ดังนั้นแนวทางที่ภาครัฐพอจะสามารถนำมาใช้ลดค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ ได้แก่ 1.นำเงินกู้ของรัฐบาลมาลดค่าไฟฟ้าโดยตรง 2.ให้หน่วยงานต้นสังกัดของ 3 การไฟฟ้า(กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) อนุญาตให้ 3 การไฟฟ้ากู้เงินสำหรับพยุงราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง คล้ายกับการตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ 3.ให้ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าไปก่อน และเมื่อราคาก๊าซฯและน้ำมันลดลงแล้ว จะทยอยใช้คืน ด้วยวิธีการไม่ลดราคาค่าไฟฟ้าแม้ราคาเชื้อเพลิงจะลดก็ตาม เพื่อนำเงินคืน กฟผ. แต่ทั้งนี้ต้องดูผลกระทบต่อฐานะการเงินของ กฟผ.ด้วย
สำหรับในส่วนของ กกพ. ที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดผลกระทบจากราคาก๊าซฯและน้ำมันแพงตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยให้โรงไฟฟ้าราชบุรี,โรงไฟฟ้าของ GPSC , โรงไฟฟ้าวังน้อยและโรงไฟฟ้าบางปะกง เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฯ มาใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาแทนในการผลิตไฟฟ้า ส่วนโรงไฟฟ้าภาคใต้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร เนื่องจากโรงไฟฟ้าภาคใต้ใช้ก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย(JDA) ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซฯโลกที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อราคาก๊าซในอ่าวไทยให้ปรับสูงขึ้นตาม ย้อนหลังประมาณ 6 -12 เดือน ส่วนราคาSpot LNG จะขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้า โดย ปตท.มีสัญญานำเข้าLNGระยะยาวที่ยังมีราคาถูก อยู่เพียง ประมาณ 5.2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ ปีนี้ จำเป็นจะต้องมีการนำเข้าLNGเข้ามาเพิ่มอีก 4.5 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณก๊าซจากอ่าวไทย ลดลง จากการที่แหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซขนาดใหญ่ของไทย จะผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน เม.ย.65 และเริ่มสัญญาใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต โดยโอเปอเรเตอร์รายใหม่ คือ PTTEP ED
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าราคา Spot LNG ตลาด JKM ส่งมอบเดือน เม.ย.-พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 48 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งกระโดดสูงขึ้นมาจากเดิมที่อยู่ในระดับ 24-25 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ก่อนวิกฤตรัสเซียบุกยูเครน
ส่วนค่าเอฟที งวดปัจจุบันเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากปล่อยราคาสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะทะลุเกิน 4 บาทต่อหน่วย
ขณะที่เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ เปิดเผยถึงผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 ในเดือน มี.ค. 2565 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” พบว่า กรณีภาครัฐจะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ขึ้นต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จนทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาคงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน และหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ