กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยกำลังการผลิตก๊าซ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เฉลี่ยเดือน พ.ค. 2565 ลดเหลือ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากในวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 23 เม.ย. 2565 ที่ยังอยู่ที่ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าสัญญา PSC ที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเร่ง ปตท.สผ.อีดี ขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีก 100 หลุมในปีนี้ คาดต้นปี 2566 ผลิตได้เพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน พร้อมเปิดทางแหล่งอาทิตย์ แหล่ง B8/32 และB-17 ผลิตก๊าซเกินกว่าปริมาณ DCQ 10-15 % ในขณะที่การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) 3 แปลงในอ่าวไทย มี 4 รายสนใจศึกษาข้อมูลแล้ว คาดประกาศผลผู้ชนะประมูลเดือน ก.พ. 2566 นี้
Energy News Center รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2565 ว่านายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 ว่ากำลังการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณ (G1/61) เฉลี่ยในเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดต่ำกว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสัญญาสัมปทานมาเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 ที่ผลิตได้ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต่ำกว่าสัญญา PSC ที่ระบุว่าต้องผลิตให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ส่วนแหล่งก๊าซฯบงกช (G2/61) เฉลี่ยผลิตได้ในเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าวันที่เปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทาน ซึ่งผลิตได้ 938 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยยังเป็นการผลิตที่สูงกว่าสัญญา PSC ที่กำหนดไว้ว่าต้องผลิตได้ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โดยระหว่างที่แหล่งก๊าซฯ เอราวัณยังผลิตได้ไม่เต็มตามสัญญา ทาง กรมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม โดยการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 รวมถึงแปลง B-17ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มนี้ได้ทยอยเข้าระบบแล้ว โดยรวมได้ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน พร้อมขอความร่วมมือผู้รับสัมปทานในอ่าวไทยทุกราย เตรียมพร้อมผลิตก๊าซฯ ให้เกินกว่าปริมาณขายก๊าซตามสัญญา (DCQ) 10-15% และให้ชะลอแผนการซ่อมบำรุงออกไปก่อน
ทั้งนี้กรมฯ พยายามจะบริหารจัดการก๊าซฯในประเทศให้ได้มากที่สุดก่อนการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซฯ เนื่องจากปัจจุบันราคา LNG สูงถึง 23 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซฯในอ่าวไทยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 5 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู
สำหรับความคืบหน้าในการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) บริเวณทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมานั้น มี4 บริษัท ให้ความสนใจเข้ามาดูข้อมูลแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศไทย 2 ราย และต่างประเทศอีก 2 ราย โดยคาดว่าในเดือน ก.ย. 2565 นี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอการประมูลได้ และในเดือน ก.พ. 2566 จะประกาศผลผู้ชนะประมูลต่อไป สำหรับการประมูลในครั้งนี้คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท แต่หากสำรวจพบปิโตรเลียมก็คาดว่าจะเกิดเงินลงทุนพัฒนาหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป
ทั้งนี้กรมฯ ตั้งเป้าหมายการผลิตก๊าซฯ ของประเทศให้ได้ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากแหล่งเอราวัณยังผลิตได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่หากในปี 2566 แหล่งเอราวัณสามารถเร่งกำลังการผลิตได้ถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จะเข้าสู่เป้าหมายที่ กรมฯ วางไว้ได้ และจะช่วยลดการพึ่งพา LNG ลงได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับปีงบประมาณ 2565 (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม SRB และรายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และค่าตอบแทนในการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งสิ้น 27,635.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 3,161.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.92%
ส่วนการจัดเก็บรายได้ระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2565 ซึ่งจะรวมรายได้จากแปลงที่ดำเนินการในระบบสัมปทาน และแปลงที่ดำเนินการในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (รายได้ประกอบด้วยค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไร และค่าตอบแทนการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ) โดยคาดว่าจะมีรายได้จากทั้ง 2 ระบบ รวมทั้งสิ้น 25,653 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามทั้งปี 2565 นี้คาดว่าจะจัดเก็บรายได้รวม 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่จัดเก็บได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีรายได้สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ส่วนรายได้ค่าภาคหลวงที่เคยจัดเก็บได้สูงสุดประมาณปี 2559 อยู่ที่กว่า 6 หมื่นล้านบาท
สำหรับประเด็นคำถามจากสื่อมวลชนกรณี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการต่อรัฐบาลไทย กรณีรัฐกำหนดให้บริษัท เชฟรอนฯ ต้องส่งมอบแท่นผลิตและจ่ายค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเอราวัณทั้งหมด แต่ทางเชฟรอนฯ ไม่เห็นด้วย กับการจ่ายเงินสำหรับแท่นที่รัฐพิจารณาแล้วว่าจะนำไปใช้ต่อ นั้น นายสราวุธ กล่าวตอบคำถามว่า กรณีดังกล่าวมีการตั้งองค์คณะอนุญาโตตุลาการของแต่ละฝ่ายแล้ว ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร ใช้ระยะเวลานานแค่ไหน รวมทั้งขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการว่าจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ทั้งหมดหรือแค่เพียงบางส่วน
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมแผนนำเข้า LNG เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซจากแหล่ง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณที่กำลังผลิตลดลงแล้ว โดยในปี 2565 จะมีปริมาณทั้งสิ้น 1.8 ล้านตัน ปี 2566 ปริมาณ 0.7 ล้านตัน และปี 2567 ปริมาณ 0.1 ล้านตัน ซึ่ง ปตท.จะเป็นผู้จัดหา LNG ในส่วนนี้ทั้งหมด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ