องค์กรสิทธิจี้ยุติการดำเนินคดีภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 1391 ครั้ง

องค์กรสิทธิจี้ยุติการดำเนินคดีภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

องค์กรพัฒนาเอกชนส่งจดหมายเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการดำเนินคดีภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 องค์กรพัฒนาเอกชนส่งจดหมายเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการดำเนินคดีภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เรียน ท่านเอกอัครราชทูต

พวกเราเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีรายชื่อด้านท้าย เขียนจดหมายถึงท่าน เพื่อแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (“พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ”) เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พวกเรามีความกังวลเกี่ยวกับรายงานว่ายังคงมีการดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศไทยแล้ว

เราขอให้ท่านเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการกดดัน คุกคาม และการดำเนินคดีบุคคลเพียงเพราะพวกเขาออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในข้อมูล ในการชุมนุมโดยสงบ ในการเคลื่อนไหว และในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบทางปกครองโดยมิชอบ อีกทั้งถอนฟ้อง มีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลต่าง ๆ รวมถึงบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบแต่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ โดยทันที

เพื่อการควบคุมกับการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563[1] โดยนับแต่นั้นรัฐบาลฝ่ายบริหารได้มีการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ในระยะเวลาดังกล่าวมีการประกาศใช้ข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ โดยอาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ซึ่งรวมถึงมาตรการที่มีความคลุมเครือและกว้างเกินไป ส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ในการแสดงออก ในการชุมนุม และในการมีส่วนร่วมของประชาชน

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และส่งผลเป็นการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ รวมถึงส่งผลให้ข้อกำหนดอย่างน้อย 47 ฉบับ ประกาศ และคำสั่งอันเนื่องมาจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศและคำสั่งที่ออกตามกฎหมายเฉพาะเป็นอันยกเลิกเช่นเดียวกัน โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้มีผลบังคับใช้รวมทั้งสิ้นยาวนานกว่า 2 ปีครึ่ง

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองและการชุมนุมอื่น ๆ มากมาย ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทางการเมืองส่วนมาก ได้แก่ (1) ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและจัดการเลือกตั้งใหม่ (2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 (3) หยุดคุกคามและดำเนินคดีนักกิจกรรมที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ และ (4) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การเกิดขึ้นของกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ได้สร้างความท้าทายทั้งเรื่องการควบคุมโรคโควิด-19 และการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคน รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม

พวกเราได้เคยทบทวน ประเมิน และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บทวิเคราะห์ของเราค้นพบว่ามาตรการทางกฎหมายและทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกใช้โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและพันธกรณีทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ[2] โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญาภายใต้           พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ กับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบนั้นไม่ถือว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วนแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีโรคระบาด อีกทั้งขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อันชอบธรรมเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

 

คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน[3]  พบว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563[4] จนถึงเดือนกันยายน 2565 มีผู้ถูกฟ้องร้องและ/หรือดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมสาธารณะไม่น้อยกว่า 1,468 คน ใน 661 คดี (“คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”)[5] ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี) จำนวน 241 คน ใน 157 คดี

การดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับว่ามีจำนวนประชาชนและคดีมากที่สุดในเหล่าคดีทางการเมืองในห้วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ตามมาด้วยการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

หากแยกตามประเภทหรือช่วงเวลาของคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ จะพบว่ามี

  • คดีในช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก[6] มีจำนวน 7 คดี
  • คดีในช่วงระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 ตุลาคม 2563 เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอันเนื่องมีการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 จำนวน 35 คดี[7]
  • คดีฝ่าฝืนการออกนอกเคหสถานหลังเวลาเคอร์ฟิวภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ จำนวน 88 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีช่วงการชุมนุมที่บริเวณดินแดงในช่วงเดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม 2564 และในหลายคดีมีการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย
  • คดีกิจกรรม “คาร์ม็อบ” จำนวน 109 คดี ซึ่งมีบุคคลจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมชุมนุมโดยการขับยานพาหนะไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยส่วนใหญ่จัดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2564[8] และ
  • คดีที่เป็นการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ พ่วงกับข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จำนวน 41 คดี แม้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้บัญญัติไม่ให้บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังคงมีการกล่าวหาด้วยข้อหาจากกฎหมายสองฉบับนี้ซ้อนกัน เพราะเหตุนี้ พนักงานอัยการจึงควรยุติการดำเนินคดีภายใต้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะด้วยเหตุข้างต้นโดยทันที

ทั้งนี้ จากคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ทั้ง 661 คดีนั้น มีคดีที่จำเลยให้การ “รับสารภาพ” ในชั้นศาลอย่างน้อย 41 คดี ซึ่งส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับหรือให้รอการกำหนดโทษไว้ มีคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 23 คดี มีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดอย่างน้อย 28 คดี และพิพากษาว่ามีความผิด 8 คดี รวมมีคดีที่สิ้นแล้วเพียง 87 คดี แต่ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีไปจนถึงชั้นอุทธรณ์กว่า 574 คดี[9]

ในระยะเวลาดังกล่าว มีการใช้กฎหมายอย่างสับสน โดยรวมถึงการออกข้อกำหนดหลายฉบับภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ในแต่ละช่วงเวลา ความสับสนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมในการพึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ เพื่อตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ยกตัวอย่างเช่น มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในเวลาเดียวกันกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุโควิดที่มีมาก่อนแล้ว ในบางห้วงเวลาข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ถูกใช้เหนือกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีสถานะสูงกว่า ได้แก่ เมื่อมีการกำหนดให้กลับไปใช้เกณฑ์ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ถึงแม้ว่าพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ได้บัญญัติไม่ให้บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน[10]  ในเดือนเมษายน 2565 ศาลแขวงลพบุรียังมีคำพิพากษาว่าประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าว[11]

 

574 คดี ยังคงดำเนินต่อ แม้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ นั้นไม่ได้เป็นผลให้การดำเนินคดีอาญาที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรการโควิดของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ สิ้นสุดไปด้วย

ตามมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรการภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คดี 574 คดี หรือร้อยละ 86 ของคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ทั้งหมด (ชั้นสอบสวน 354 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 190 คดี และอยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ 30 คดี) ยังต้องดำเนินต่อไป แม้สถานการณ์โควิดที่เป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นสามารถควบคุมได้แล้ว และได้มีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ แล้วก็ตาม

พวกเราเห็นว่ารัฐบาลไทยควรถอนฟ้อง มีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลที่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยทันที ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

มาตรการบางมาตรการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อจำกัดที่ออกภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ประกอบด้วยการห้ามออกนอกเคหสถานตอนกลางคืน และการห้ามมิให้ “มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี การจำกัดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่จำกัด และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางประการเท่านั้น เช่น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ข้อจำกัดดังกล่าวต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ และต้องไม่เลือกปฏิบัติทั้งในความมุ่งประสงค์และผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ข้างต้น และวิธีการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ ยังไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กล่าวมา มาตรการเหล่านี้ส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งได้รับการรับรองภายใต้ ข้อ 21 ของ ICCPR เสรีภาพในการแสดงออกและในข้อมูล ภายใต้ข้อ 19 ของ ICCPR เสรีภาพในการเคลื่อนไหว ภายใต้ข้อ 12 ของ ICCPR และสิทธิในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ ภายใต้ข้อ 25 ของ ICCPR โดยไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวครอบคลุมสถานการณ์ใดบ้าง ซึ่งขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายภายใต้ ICCPR ในบริบทของการระบาดของโรคโควิด-19 การลงโทษทางอาญากับผู้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืน          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ก็เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นสำหรับการปกป้องสิทธิในชีวิตและสุขภาพ ถือเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน[12]  อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานว่ากิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ  นำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้น รวมถึงไม่ได้มีการนำเสนอหลักฐานดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อสาธารณะเลย

ถึงแม้ว่า ข้อ 4 ของ ICCPR จะบัญญัติว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะที่มีความร้ายแรงจนคุกคามความอยู่รอดของชาติ รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้ ICCPR ได้เพียงเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายช่วงเวลามีอัตราผู้ติดเชื้อที่ต่ำ ประเทศไทยไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงมีความจำเป็นให้ต้องอาศัยอำนาจภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ตามข้อ 4 ของ ICCPR ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำหรับการเลี่ยงพันธกรณี[13] นอกจากนี้ แม้ประเทศไทยจะได้แจ้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้เลขาธิการสหประชาชาติได้รับรู้ มีผลบังคับใช้จากวันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563[14]  แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ทำการแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงอนุมานได้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเลี่ยงพันธกรณีภายใต้ ICCPR หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2563[15]

 

ผู้ถูกดำเนินคดีใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ การเคลื่อนไหว และการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อาทิ มาตรา 34 ที่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายของวิธีอื่น และมาตรา 44 ที่รับรองว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

หากคำนึงถึงสถิตินักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ซึ่งรวมถึงการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและการห้ามชุมนุมสาธารณะ จะเห็นได้ว่ามาตรการภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ มีขอบเขตที่กว้าง ในบางส่วนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขอย่างแท้จริง หากแต่มีจุดประสงค์อื่น เช่น เพื่อพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมทางการเมืองที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ และชุมนุมโดยสงบ

หากพิจารณาจากสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน[16] มีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 23 คดี และคดีที่ศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด 28 คดี โดยเหตุผลของพนักงานอัยการในการมีคำสั่งไม่ฟ้องมีหลากหลาย อาทิ พยานหลักฐานไม่เพียงพอ การชุมนุมไม่แออัด ผู้ชุมนุมมีสิทธิในการชุมนุมสาธารณะ หนึ่งในเหตุผลของการยกฟ้องของศาลคือ การชุมนุมในที่สาธารณะนั้นเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยกฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องเช่นว่า แต่การดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรมนั้นเป็นการสร้างความกลัวและความเหนื่อยล้า เป็นภาระที่ไม่จำเป็น และส่งผลเป็นการสร้าง “ภาวะชะงักงัน” ในการใช้สิทธิเสรีภาพ อีกทั้งเป็นการกีดกันไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับมหภาค

 

สร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่กระบวนการยุติธรรม

การดำเนินคดีภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ สร้างภาระเกินควรให้กับกระบวนการยุติธรรม ทำให้การบริหารงานยุติธรรมไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่น ภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง จากคดี 661 คดี มีเพียง 87 คดี ที่สิ้นสุดแล้ว และคดีมากกว่าร้อยละ 50 (354 คดี) อยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน เพื่อที่จะดำเนินคดีดังกล่าว รัฐยังต้องเสียทรัพยากรในทางการเงิน เวลา และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก เพื่อที่จะดำเนินคดีกับการกระทำที่ไม่มีความผิดอีกแล้วในปัจจุบันหลังจากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การกระทำเช่นนี้เป็นการโอนทรัพยากรรัฐออกจากการดำเนินคดีอาชญากรรมทั่วไปและงานตุลาการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็น

 

ข้อเสนอแนะ

ด้วยความเคารพ พวกเราขอให้รัฐบาลของท่านเรียกร้องรัฐบาลไทยให้หยุดกดดัน คุกคาม และยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ข้อมูล และชุมนมโดยสงบ โดยทันที

เจ้าหน้าที่รัฐประเทศไทยควรถอนฟ้อง หยุดการสืบสวนสอบสวน มีคำสั่งไม่ฟ้อง ยุติการดำเนินคดี ถอนอุทธรณ์ ไม่อุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้อง โดยใช้เหตุ เช่น การกระทำของผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ไม่ผิดกฎหมายอีกแล้วในปัจจุบัน และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลที่กำลังถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่าเมื่อพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอํานาจสั่งไม่ฟ้องได้ โดยอำนาจดังกล่าวนั้นรวมถึงการถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกาด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐประเทศไทยยังควรพิจารณาเพิกถอนคำตัดสินว่าบุคคลมีความผิดทางอาญาภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ประเทศไทยยังควรประกันและอำนวยความสะดวกแก่การเข้าถึงการเยียวยาและการชดเชยให้เป็นไปโดยรวดเร็ว โดยง่าย มีประสิทธิภาพ อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับทุกคนที่โดนละเมิดสิทธิผ่านการกดดัน คุกคาม และดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพของตน

 

ขอแสดงความนับถึอ

ALTSEAN-Burma

Amnesty International

ARTICLE 19

ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR)

Asia Democracy Network (ADN)

Asian Cultural Forum on Development Foundation (ACFOD)

Asian Network for Free Elections (ANFREL)

CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation

Community Resource Centre

Cross Cultural Foundation (CrCF)

ENLAWTHAI Foundation

Human Rights and Development Foundation (HRDF)

Human Rights Lawyers Association (HRLA)

Human Rights Watch

iLAW

International Commission of Jurists (ICJ)

International Federation for Human Rights (FIDH)

Lawyers’ Rights Watch Canada

Manushya Foundation

People's Empowerment Foundation (PEF)

Protection International

Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)

The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)

Union for Civil Liberty (UCL)

 

 

ดาวน์โหลด

เจ้าหน้าที่รัฐไทยต้องยุติการดำเนินคดีภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

Thai officials must drop all the ongoing prosecutions under the Emergency Decree



[1] ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/069/T_0001.PDF?fbclid=IwAR23eF9690NSa09Tr_MnyBkmGuxyYOu8U6kEATBRjGtMRP_Joonvyj8AuLk.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที: ‘การบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย’, International Commission of Jurists (ก.ค. 2564), https://icj2.wpenginepowered.com/wp-content/uploads/2021/07/FINAL_APP270601_TFH_Draft_COVID_19_ED_LEGAL_BRIEFING_TH_proofread.pdf. (“ความเห็นทางกฎหมายของ ICJ เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับโควิด-19”)

[3] ‘กันยายน 65: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวมอย่างน้อย 1,860 คน ใน 1,139 คดี’, Thai Lawyers for Human Rights (4 ต.ค. 2565), https://tlhr2014.com/archives/49210.

[4] ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองอีกครั้งหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

[5] หลายคนถูกดำเนินคดีในหลายคดี

[6] การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย นำโดยนักเรียกของกลุ่ม FreeYouth หรือ เยาวชนปลดแอก และสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย

[7] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับการชุมนุมในปี 2563: ‘การบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศไทย

ต่อการชุมนุมประท้วงในปี 2563’, International Commission of Jurists (22 ต.ค. 2563), https://icj2.wpenginepowered.com/wp-content/uploads/2020/10/Thailand-Protests-Legal-Briefing-2020-THA.pdf.

[8] ‘1 ปี คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์: สรุปคดีทั่วไทยไม่น้อยกว่า 109 คดี ศาลยกฟ้องไป 5 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 4 คดี’, Thai Lawyers for Human Rights (3 ก.ค. 2565), https://tlhr2014.com/archives/45616.

[9] ‘แม้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม กว่า 574 คดี ยังต้องต่อสู้ต่อ’, Thai Lawyers for Human Rights (1 ต.ค. 2565), https://tlhr2014.com/archives/49076.

[10] ‘1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด: ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม’, Thai Lawyers for Human Rights (26 มี.ค. 2564), https://tlhr2014.com/archives/27551.

[11] ‘เปิดคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบลพบุรี ชี้การชุมนุมยังไม่ถึงกับแออัดเต็มพื้นที่-ประกาศ ผบ.ทสส. ไม่มีผลใช้บังคับ ออกเกินอำนาจ’, Thai Lawyers for Human Rights (9 พ.ค. 2565), https://tlhr2014.com/archives/43412.

[12] ความเห็นทางกฎหมายของ ICJ เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับโควิด-19

[13] เพิ่งอ้าง

[14] การแจ้งภายใต้ข้อ 4(3) ICCPR, C.N.194.2020.TREATIES-IV.4 (Depositary Notification), 4 มิ.ย. 2563, https://treaties.un.org/doc/Publication/CN/2020/CN.194.2020-Eng.pdf.

[15] ความเห็นทางกฎหมายของ ICJ เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับโควิด-19

[16] ‘แม้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม กว่า 574 คดี ยังต้องต่อสู้ต่อ’, Thai Lawyers for Human Rights (1 ต.ค. 2565), https://tlhr2014.com/archives/49076.

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: