กลับมาอีกครั้ง แคมเปญ ‘Write for Rights’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่สุดในโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1450 ครั้ง

กลับมาอีกครั้ง แคมเปญ ‘Write for Rights’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่สุดในโลก

กลับมาอีกครั้งกับแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 แล้ว

10 ธ.ค. 2565 ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า นักกิจกรรมทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง “วันสิทธิมนุษยชนสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี โดยในปีนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่สุดของโลก ในแคมเปญ ‘Write for Rights’ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2544 แคมเปญนี้เป็นกิจกรรมที่ประชาชนในกว่า 200 ประเทศและดินแดน รวมถึงประเทศไทย โดยมีปฏิบัติการหลายล้านครั้งเพื่อสนับสนุนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อคำนึงถึงภัยคุกคามระดับโลกมากขึ้นต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วง และเพื่อสนับสนุนแคมเปญ “Protect the Protest” หรือ “ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง” ซึ่งเป็นแคมเปญใหม่ระดับโลกของแอมเนสตี้ แคมเปญ ‘Write for Rights’ ปี 2565 จึงเป็นการรณรงค์เพื่อบุคคล 13 คนที่ต้องเสียสละเพื่อจะได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตน

“ในแต่ละปี แคมเปญ ‘Write for Rights’ ช่วยให้เรารำลึกถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ของปฏิบัติการร่วมกัน แคมเปญนี้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่า เมื่อผู้คนมารวมตัวกันมากพอและรวมกันเป็นเสียงเดียวต่อสู้กับความอยุติธรรม ทางการก็ต้องรับฟัง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของหลายชีวิต"

“ไม่ว่าจะมองไปที่ใดในโลกนี้ สิทธิในการชุมนุมประท้วงกำลังถูกโจมตี แค่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้จัดการชุมนุมประท้วงมากมายถูกปราบปรามโดยรัฐบาล ตั้งแต่อิหร่านถึงคิวบาและที่อื่นๆ จึงเป็นเหตุผลให้ผู้เข้าร่วมแคมเปญ ‘Write for Rights’ ปี 2565 จะร่วมกันเปล่งเสียงสนับสนุนผู้ที่ต้องสูญเสียจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตน”

ในวันสิทธิมนุษยชนสากลปีนี้ จะมีการจัดกิจกรรมมากภายภายใต้แคมเปญ ‘Write for Rights’ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตที่ไอวอรี่ โคสต์ การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ซิมบับเว และกิจกรรมเขียนจดหมายสาธารณะที่เบลเยียม เดนมาร์ก แคนาดา อิตาลี ไอร์แลนด์ มาลี มองโกเลีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สโลวีเนีย เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน ไต้หวัน และตุรกี จะมีกิจกรรมอย่างอื่นในระดับโลกตลอดทั้งเดือนธันวาคม

ส่วนประเทศไทยได้จัดกิจกรรม "Taste of Rights: ผัสสะแห่งสิทธิ" ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ณ The Jam Factory คลองสาน กรุงเทพ งานระดมทุนใหญ่เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนศึกษา และเน้นย้ำถึงสิทธิมนุษยชน ว่าคือสิทธิที่ติดตัวพวกเรามาตั้งแต่เกิด และไม่อาจมีใครพรากไปได้ ที่จะชวนผู้คนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ ดื่มด่ำ และเข้าใจเรื่องราวของสิทธิผ่านรสชาติ เสียง กลิ่น สัมผัสผ่านมือ และสัมผัสผ่านใจไปด้วยกัน

โดยทุกเดือนธันวาคม ประชาชนทั่วโลกเขียนจดหมาย อีเมล โพสต์ทวีต เฟซบุ๊ก ส่งไปรษณียบัตรหลายล้านครั้ง เพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกประหัตประหารและละเมิดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม แคมเปญ ‘Write for Rights’ ได้ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนกว่า 100 ล้านคนตั้งแต่ปี 2544 ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการทรมาน การคุกคาม หรือการคุมขังที่ไม่เป็นธรรม โดยในปี 2564 มีปฏิบัติการรวมกันกว่า 4.5 ล้านครั้ง

หนึ่งในเป้าหมายการรณรงค์เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมจากประเทศไทย จากเด็กขี้อายและเงียบขรึมได้กลายมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ในแคมเปญ ‘Write for Rights’ ปี 2564 มีปฏิบัติการกว่าสามแสนครั้งเพื่อสนับสนุนเธอ ต่อมารุ้งได้รับการประกันและปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกำหนด 5 เงื่อนไข อาทิ ไม่ทำกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดเวลา ไปจนถึงให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในวิดีโอที่ส่งถึงนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เธอกล่าวว่า

“รุ้งได้อ่านจดหมายจากแคมเปญนี้ตอนออกมาจากคุกแล้ว ตอนนั้นถือเป็นช่วงที่มืดมนที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ ข้อความที่เขียนให้มานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อความให้กำลังใจ บอกว่ายังมีคนที่อยู่เคียงข้างเรานะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ทำอะไรร่วมกันก็ตาม เป็นคนแปลกหน้าที่เขียนให้กำลังใจ และบอกเราว่า ‘เราเชื่อมั่นใจตัวคุณ’ ‘เราเชื่อว่าคุณต่อสู้ได้’ และย้ำว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว มันเป็นประโยคที่สร้างกำลังใจให้เราเป็นอย่างมาก ทำให้ช่วงเวลามืดมิดตรงนั้นสว่างขึ้นทันที จากการที่เราได้รับความรักจากคนแปลกหน้า”

สำหรับเป้าหมายของแคมเปญ ‘Write for Rights’ ในปีนี้ ได้แก่ บุคคล 13 คน ซึ่งชีวิตของพวกเขาได้รับผลกระทบด้านลบจากการปราบปรามของรัฐบาลต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วง ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รณรงค์ช่วยเหลือในเเคมเปญนี้ในสามกรณี ในประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการเเสดงออก การใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ซีเน็บ เรอดวนย์ จากประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ขณะที่ซีเน็บกำลังเตรียมอาหารเย็นใน อพาร์ตเมนต์ชั้นสี่ของเธอ ด้านล่างที่ถนน เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ขณะที่ซีเน็บเดินไปปิดหน้าต่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เล็งเครื่องยิงระเบิดแก๊สน้ำตามายังจุดที่เธอยืนอยู่และทำการยิง เธอถูกระเบิดยิงเข้าที่หน้าและเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ

ซีเน็บถูกสังหารจากการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาอย่างประมาทโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผ่านมาเกือบสี่ปี การสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเธอยังคงดำเนินอยู่ และไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกตั้งข้อหาหรือถูกพักงานจากการเสียชีวิตอันน่าเศร้าของเธอ ครอบครัวของซีเน็บยังรอความยุติธรรมอยู่

อีเรน โรเตลา และมารีอานา เซปูลเวดา จากประเทศปารากวัย พวกเธอต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่ในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตน คนข้ามเพศในประเทศปารากวัยไม่สามารถเปลี่ยนชื่อหรือมีเอกสารระบุตัวตนตามกฎหมายที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศได้ รัฐกำลังพยายามทำให้ให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีตัวตนในสังคม เป็นเรื่องยากที่คนข้ามเพศจะเคลื่อนไหว ชุมนุมประท้วงและส่งเสียงให้สังคมรับรู้ถึงอุปสรรคที่พวกเขากำลังเผชิญ

อีเรนและมารีอานา ต่อสู้มานานหลายปีเพื่อเปลี่ยนชื่อตามกฎหมาย หากพวกเธอสามารถครอบครองเอกสารที่ตรงกับตัวตนและอัตลักษณ์ของพวกเธอได้ แสดงว่ารัฐเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเธอในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ อย่างที่อีเรนเคยพูดไว้ว่า "ฉันเกิดมาบนโลกนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันเป็นใคร ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอกว่าฉันเป็นใคร"

อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก จากประเทศรัสเซีย เธอคือศิลปินชาวนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งถูกทางการควบคุมตัวหลังเปลี่ยนป้ายราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นข้อความเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ทำให้ต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐาน "เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกองกำลังสหพันธรัฐรัสเซีย" ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ล่าสุด

ปัจจุบันเธออยู่ในศูนย์ควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีเพื่อรอคำตัดสินของศาล เธอยังถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมตัวและเพื่อนร่วมห้องขังของเธอ หากอเล็กซานดราถูกตัดสินว่ามีความผิด เธออาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ไม่นานมานี้ อเล็กซานดราถูกจัดเป็นหนึ่งในทำเนียบ 100 Woman ของ BBC ประจำปี 2022 จากความกล้าหาญในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อต่อต้านสงครามในยูเครน

โดยปีนี้คุณสามารถร่วมเป็นส่วนของแคมเปญ ‘Write for Rights’ - เขียน เปลี่ยน โลก’ ได้ที่ https://www.aith.or.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: