เปิดรายงาน 'อนาคตของโครงการแนวปฎิบัติที่ดีด้านแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล'

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5544 ครั้ง

เปิดรายงาน 'เปลี่ยนหลักการให้เป็นวิถี: อนาคตของโครงการแนวปฎิบัติที่ดีด้านแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล' ของ ILO ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทย ต้องให้ภาคประชาสังคมสามารถเยี่ยมโรงงานได้ ปรับสภาพการทำงานให้หญิงตั้งครรภ์ และนายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมการหางานทั้งหมด | ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด “เปลี่ยนหลักการให้เป็นวิถี: อนาคตของโครงการแนวปฎิบัติที่ดีด้านแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล” และได้มีการเสวนาในประเด็นนี้ร่วมด้วยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยหรือ The Thai Tuna Industry Association (TTIA) และสมาคมแช่เยือกแข็งไทย (Thai Frozen Food Association: TFFA)

ในรายงานระบุว่าเพื่อยกระดับความมุ่งมั่นต่อโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย (Seafood Good Labour Practices: GLP) เพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยความมุ่งมั่นที่มีต่อโครงการของภาคอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของกระทรวงแรงงาน สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย

รายงานระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล 1 ใน 10 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกระดับโลกอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2561 และในปี 2564 ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มีมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา มีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง ILO, TTIA และ TFFA ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ผ่านโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Programme) ประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2563) สมาคม TTIA และ TFFA มีสมาชิก 106 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการouh ซึ่งให้แนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานสถานที่ทำงาน โดยมุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลไทยมีแนวปฎิบัติตามกฎหมายไทยและหลักการของมาตรฐานแรงงานสากล

สำหรับก้าวต่อไปที่สมาคม TTIA และ TFFA ตกลงที่จะดำเนินการ ได้แก่

- การให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเยี่ยมโรงงาน
- การให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากขึ้นในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น ข้อมูลองค์ประกอบของคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ และการร้องทุกข์ของแรงงาน
- การเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามชาติ และสตรีในคณะกรรมการสวัสดิการ และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้าร่วมของแรงงานกลุ่มนี้ยิ่งขึ้น
- แนะนำให้บริษัทสมาชิกรับหลักการ “นายจ้างจ่าย” ค่าธรรมเนียมการหางานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่เกิดในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้อันเนื่องจากการหางานของแรงงาน
- ขอให้สมาชิกห้ามทำการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์เมื่อจัดหาแรงงาน
- แนะนำโรงงานให้จัดทำห้องสำหรับให้นมบุตร
- สนับสนุนให้บริษัทสมาชิกปรับสภาพการทำงานให้แก่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรีอีกด้วย

ในการเสวนา นางอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า TTIA พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้ากับโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย และยินดีต้อนรับผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคมในการเข้าร่วมเยี่ยมโรงงานซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 นี้

“การมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างฝ่ายบริหารและแรงงาน และจะช่วยให้เราสามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาและกรณีการร้องเรียนต่าง ๆ ของแรงงานได้”

นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า TFFA มีความมุ่งมั่นให้โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย เป็นโครงการที่มีความเข้มแข็งและพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิม จะส่งเสริมระบบการจัดการและปฎิบัติการให้คำนึงถึงมิติทางเพศ และปราศจากการเลือกปฎิบัติ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมของเราที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิง

ดร. พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า สรส.ในฐานะองค์กรลูกจ้างมีความยินดีที่ได้เห็นการแสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งจากอุตสาหกรรมที่มีต่อโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยินดีต่อการที่สมาคมให้ภาคประชาสังคมและตัวแทนลูกจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการเยี่ยมโรงงาน และสนับสนุนการเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามและสตรีในการดำเนินกิจกรรมของแรงงาน เรามีความตั้งใจที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจไทยเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานสำหรับแรงงานทุกคน

นายจูเซปเป บูซินี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประแทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีต่อความมุ่งมั่นของภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยที่จะจัดทำรายงานโดยละเอียด และส่งเสริมกลไกความรับผิดชอบให้เข้มแข็ง

“การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและองค์กรลูกจ้างในการเยี่ยมโรงงานสามารถเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและช่วยปรับปรุงธรรมาภิบาลของภาคอุตสาหกรรมได้ โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย สามารถสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมจากการให้ความคุ้มครองสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรม นั่นก็คือแรงงาน”

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความภาคภูมิใจที่จะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจไทยต่อไป เพื่อปรับปรุงมาตรฐานด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่มีความสำคัญ

กระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริม GLP ในกิจการประเภทต่าง ๆ รวม 4 ฉบับ ได้แก่ กิจการทั่วไป กิจการสัตว์ปีก กิจการฟาร์มเพาะกุ้ง และอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดย GLP สำหรับอุตสาหกรรมในอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนจาก ILO ภายใต้โครงการ Ship to Shore Rights และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจ นำโดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ได้นำมาใช้แต่ปี 2561 เป็นเวลา 4 ปี แล้ว ตอนนี้นับเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการประเมิน เพื่อพัฒนาและต่อยอดการดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นายบุญชอบกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลเป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศและของโลก

“กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นและจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในระดับภูมิภาค และระดับสากล”

การประเมินผลการดำเนินการ GLP ในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยยกระดับการนำไปใช้ของ GLP ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใสและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ

นายแกรห์ม บัคเลย์ ผู้อำนวยการ ทีม Decent Work องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค และผู้อำนวยการสำนักงานฯ ประจำประเทศไทย กัมพูชาและสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยและสหภาพแรงงานในการพัฒนาข้อแนะนำเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดีและจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการนำไปปฎิบัติใช้ที่มีประสิทธิภาพ


อ่านรายงานนี้ฉบับเต็ม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: