แอมเนสตี้เรียกร้องอาเซียนแก้ไขวิกฤตสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอีกครั้ง ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 6784 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องอาเซียนแก้ไขวิกฤตสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอีกครั้ง ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องอาเซียนเริ่มกระบวนการแก้ไขวิกฤตสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอีกครั้ง ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่มีขึ้นในวันที่ 12-13 พ.ค. 2022 นี้ ที่กรุงวอชิงตัน | ที่มาภาพ: Getty Images (อ้างใน Amnesty International)

12 พ.ค. 2022 ในขณะที่ผู้นำประเทศต่างๆ จากประเทศอาเซียน จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่มีขึ้นในวันที่ 12-13 พ.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องให้บรรดาผู้นำให้ความสำคัญกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ถือเป็นความล้มเหลวและและไม่สามารถหยุดกองทัพกองทัพเมียนมาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้นต่อประชาชนชาวเมียนมา ภายหลังการทำรัฐประหารปี 2564

“อาเซียนต้องยอมรับว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาได้ขยายตัวจนเป็นข้อกังวลระดับภูมิภาคไปแล้ว การใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อประชาชนของตนเอง ไม่เพียงทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย หากยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลง ในปัจจุบัน ประชาชนหลายพันคนพากันหลบหนี หรือพยายามหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย ไม่เพียงเพื่อแสวงหาความปลอดภัย หากยังต้องการหางานทำและหาเลี้ยงครอบครัว

“รัฐภาคีอาเซียนควรจัดทำแผนการที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ เพื่อตรวจสอบความรับผิดของกองทัพเมียนมาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากความรุนแรง การสนับสนุนให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง และการเพิ่มเสียงสนับสนุนให้มีข้อตกลงห้ามซื้อขายหรือส่งอาวุธให้กับเมียนมา รัฐภาคีอาเซียนยังควรดำเนินการระดับทวิภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ กรณีที่ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในระดับภูมิภาคได้

“ในฐานะผู้จัดการประชุมสุดยอด รัฐบาลไบเดนควรเน้นการอภิปรายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดอย่างต่อเนื่องในเมียนมา และในภูมิภาคโดยรวม เพราะในระดับภูมิภาค ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นแนวโน้มของการปราบปรามที่เพิ่มมากขึ้น การจำกัดพื้นที่ในการทำงานหรือเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม และการไม่อดทนดอกลั้นต่อความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นแนวโน้มตรงข้ามกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ดังที่รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงพันธกิจจะสนับสนุน และจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากยังเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชน”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

คาดว่าผู้นำจากเกือบทุกประเทศอาเซียนจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคมที่กรุงวอชิงตัน ในโอกาสครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ

มิน อ่อง หล่าย ของเมียนมา ซึ่งได้ยึดอำนาจในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เขาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ราวกับว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคแห่งนี้จะตีตัวออกห่างจากนายพลอาวุโสคนนี้ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการตาม ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ที่เขาเห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน 2564 แต่อย่างใด

ฉันทามติฉบับนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง สนับสนุนการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเจรจา นับแต่มีการให้ความเห็นชอบ สถานการณ์ในเมียนมากลับรุนแรงขึ้นจนยากแก่การควบคุม นับแต่การทำรัฐประหารครั้งนี้ กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนกว่า 1,800 คน ตามข้อมูลของกลุ่มผู้สังเกตการณ์ และยังมีการคุมขังประชาชนกว่า 10,000 คน

กลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านยังเพิ่มปฏิบัติการ เพื่อตอบโต้การปราบปรามถึงขั้นเสียชีวิตในระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งประชาชนยังคงประท้วงอยู่แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อตอนภายหลังการทำรัฐประหารมาก และแม้จะมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง

ออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนของเมียนมาถูกปลดจากตำแหน่ง ในระหว่างการทำรัฐประหารช่วงเช้ามืด ที่ผ่านมาเธอได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่ถูกกุขึ้นมา และศาลได้ตัดสินให้มีความผิด เช่นเดียวกับพันธมิตรอีกหลายคนของเธอ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: