นักวิชาการเตือนอีก 8 ปี กทม. อาจจมทะเล สร้างความเสียหายรุนแรงหากไม่ป้องกันตั้งแต่ตอนนี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 4023 ครั้ง

อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนอีก 8 ปี กรุงเทพฯ อาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรงหากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้ อาจกระทบพื้นที่ 1,521 ตร.กม. สูญเสีย 18.6 ล้านล้านบาท กระทบประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน การย้ายเมืองหลวงเป็นนโยบายที่ควรนำมาพิจารณาพร้อมกับการหยุดขยายกรุงเทพฯ | ที่มาภาพประกอบ: Thierry Meier (Unsplash License)

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวว่าความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการเรื่องอุทกภัย การจัดการน้ำท่วมขังและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินแบบปี 2554 หรือไม่ และการเตรียมการรับมือมีประสิทธิภาพอย่างไร ขณะที่ปัญหาที่ใหญ่กว่าน้ำท่วมขัง อุทกภัยใหญ่แบบปี 2554 ก็คือ อีก 8 ปี กรุงเทพฯ อาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรงหากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง จากคำเตือนในงานวิจัยของกรีนพีซที่เผยแพร่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ประเมินเบื้องต้นโดยกรีนพีซ กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเผชิญสภาวะจมทะเล กระทบพื้นที่ 1,521 ตารางกิโลเมตร (กรุงเทพฯมีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางเมตร) ความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 5.12 แสนล้านดอลลาร์ (คำนวณเป็นเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนที่ 36.5 ณ 2 ก.ย. 2565) หรือ 18.6 ล้านล้านบาท กระทบประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน ความเสียหายทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในบรรดาเมืองใหญ่ริมชายฝั่งในเอเชียที่มีความเสี่ยงที่จมน้ำทะเล (Coastal flooding) ความเสียหายคิดเป็น 96% ของจีดีพีของกรุงเทพฯ หากรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่นำเสนอนโยบายหรือโครงการเพื่อแก้ปัญหานี้ตั้งแต่บัดนี้ หากช้ากว่านี้จะไม่ทันการณ์

พรรคการเมืองก็ไม่สามารถพลักดันให้เกิดการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ

ระดับความเป็นตัวแทนเชิงนโยบายของพรรคการเมืองไทยทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก พรรคการเมืองส่วนใหญ่มุ่งเน้นอย่างไรให้ชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลโดยไม่สนใจสัญญาประชาคมที่ทำไว้ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และไม่มุ่งแก้ปัญหาวิกฤติหลายอย่างของประเทศในระยะยาว กรณีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดของการไม่สามารถในการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีการปรับขึ้นในเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองหลายพรรคค่อนข้างมาก การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพียง 5% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อจึงช่วยกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจโดยภาพรวมไม่มากนักแต่บรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมนั้นกระเตื้องขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศและอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ จะเกิดปัญหาน้ำท่วมแบบปลายปี 2554 หรือไม่ ผลกระทบของน้ำท่วมในปี 2554 นั้นกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จีดีพีติดลบในไตรมาสสี่ปี 2554 เนื่องจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภาคกลาง ทำให้โรงงานพันกว่าโรงงานต้องหยุดดำเนินการผลิตและหยุดกิจการเป็นเวลาหลายเดือน

ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมาหลังน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลและพรรคการเมืองก็ไม่สามารถพลักดันให้เกิดการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ โครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดงานน้ำต้องชะลอไปหลังการรัฐประหาร โครงการเจ้าพระยา 2 คลองระบายน้ำหลากความยาวประมาณ 22-23 กิโลเมตรเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากลุ่มจังหวัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก็เพิ่งจะมีการเร่งรัดให้ดำเนินการหลังจากที่จะเกิดความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ในตอนนี้ การก่อสร้างที่มีความคืบหน้าเพียง 20% ย่อมไม่สามารถช่วยอะไรได้หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในปีนี้ และ โครงการก่อสร้างก็จะได้รับความเสียหายอีก เราจึงเห็นระดับน้ำท่วมรุนแรงในหลายอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ หลายจังหวัดในภาคกลาง รวมทั้งน้ำท่วมขังพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการ หากเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติสูงกว่าเดิม ความทนทานต่อการสูญเสียรายได้ ทรัพย์สินน้อยกว่าเดิม และการกลับคืนสู่สภาพเดิมยากกว่าเดิม มีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นในการจ่ายเงินเยียวยาและชดเชยรายได้ ความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิม (Resilience) ของเศรษฐกิจโดยรวมทำได้ยากกว่าปี 2554

โดยเมื่อปี 2554 เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอย่างสูง 6.5% จากการขยายตัวเพียง 0.1% ปี 54 โดยไตรมาสสี่จีดีพีติดลบสูงถึง 9% หากมีอุทกภัยใหญ่แบบปี 54 และปล่อยให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางธุรกิจ การฟื้นฟูในปี 2565 จะยากกว่ามากเพราะครัวเรือนมีหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูง ภาคธุรกิจภาคผลิตเพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด หากเกิดสถานการณ์แบบปี 2554 เกิดขึ้น จีดีพีไตรมาสสี่ปี 2565 อาจติดลบมากกว่าปี 2554 ก็ได้ความสามารถในการเยียวยา ชดเชยรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ทำได้ยากกว่าเพราะมีข้อจำกัดทางงบประมาณ ฉะนั้นต้องอย่างปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมแบบปี 2554 อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากปี 2554 ทำให้ นิคมอุตสาหกรรมมีระบบป้องกันน้ำท่วมดีขึ้นมาก รัฐเองก็มีวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม จึงหวังว่า ไม่เกิดผลกระทบแบบปี 2554

พื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงอีกไม่เกิน 10 ปี

ปัญหาวิกฤติใหญ่น้ำท่วมขัง อุทกภัย และกรุงเทพฯกำลังจมลง เป็นปัญหาที่ต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาตั้งแต่บัดนี้ หากช้ากว่านี้จะไม่ทันกาลอย่างแน่นอน คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังจะจมลงใต้ระดับน้ำทะเล น้ำทะเลจะเอ่อล้นหนุนสูง และ พื้นดินทรุดตัวลง ทรุดตัวเฉพาะปีละ 1-2 เซนติเมตร มีความหนาแน่นของประชากรมาก มีโครงการก่อสร้างตึกสูงจำนวนมากในพื้นที่ดินอ่อน ทางด้านกายภาพ กรุงเทพสูงกว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น ภาวะโลกร้อนรุนแรงทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น กรีนพีซประจำเอเชียตะวันออก เคยระบุว่า พื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง อีกไม่เกิน 10 ปี พื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ อย่าง สีลม สาทร เพลินจิตร รัชดา ล้วนได้รับผลกระทบหมด รวมทั้งศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ที่ทำการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้ง ที่ทำการรัฐสภา สภาวะดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศูนย์กลางการบริหารประเทศได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าการป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ให้จมอยู่ใต้น้ำนั้น ต้องดำเนินการดังนี้ทันที ข้อแรก ต้องพิจารณาสร้าง “เขื่อนกั้นน้ำ” หรือ ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งรัฐบาลต้องวางแผนงบประมาณให้ดี ข้อสอง การเร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำ รองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล การปลูกป่าชายเลนตลอดแนวพื้นที่ จาก บางขุนเทียน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการจะฟื้นฟูธรรมชาติและยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย ข้อสาม ต้องมีจัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทั้งหมด การใช้ที่ดินริมแม่น้ำลำคลองเพื่อขยายแม่น้ำและขุดลอกคูคลองได้เต็มที่ ข้อสี่ ต้องหยุดขยายตัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑล กระจายการลงทุนและความเจริญไปยังภูมิภาค ลดความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ข้อห้า สังคมไทยต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนและลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมและเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของประเทศให้เป็นระบบพลังงานหมุนเวียน ระบบพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดกว่า ข้อหก นโยบายการย้ายเมืองหลวงแบบกรุงจาร์กาตาควรถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจัง

สร้าง “เขื่อนกั้นน้ำ-ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง” ใช้งบประมาณสูงแต่ก็คุ้มค่าการลงทุนหากไม่ย้ายเมืองหลวง

การสร้าง “เขื่อนกั้นน้ำ” หรือ “ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง” เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ต้องใช้งบประมาณสูงแต่ก็คุ้มค่าการลงทุนหากไม่ย้ายเมืองหลวง เนื่องจากขณะนี้เองปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำทะเลหนุนสูงก็สามารถสร้างความเสียหายปีละ 40,000 ล้านบาทอยู่แล้ว และมีปัญหาทุกปี หากปล่อยให้กรุงเทพฯ จมลงความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมจะรุนแรงมาก จากงานวิจัยของกรีซพีซ ระบุว่า ภายในปี 2573 การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมแนวชายฝั่งในสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ประชาชนกว่า 15 ล้านคนใน 7 เมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ข้อค้นพบหลักจากรายงานวิจัย บ่งชี้ว่า ไม่เกิน 8 ปี ภายในปี 2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำทุก 10 ปี ซึ่งในปีนี้ก็ครบ 10 ปีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พอดี กระทบพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง นโยบายเพื่อย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังโดยพรรคการเมืองและรัฐบาล

ในส่วนของประเทศอินโดนีเซียได้วางแผนย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงจาการ์ตาแล้ว ในรายงานของกรีซพีซระบุว่ากรุงจาการ์ตาเผชิญกับภัยคุกคามสองประการ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุด ราว 17% ของพื้นที่ทั้งหมดของจาการ์ตาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในปี 2573 อาจถูกน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์อุทกภัยอุบัติซ้ำ 10 ปี ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมี พื้นที่ลุ่มต่ำทางตะวันออกรวมถึงแขวงโคโตซึ่งเป็น 1 ใน 23 แขวงพิเศษของกรุงโตเกียว (ประกอบด้วยเขตสุมิดะ โคโตะ อาดาจิ คัตสึชิกะ และเอโดงาวะ) มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเกิดขี้นจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 10% ของ GDP รวมของกรุงโตเกียว ส่วนกรุงไทเป สถานีกลางไทเปซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับเขตต้าถงอันเก่าแก่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 24% ของ GDP รวมของกรุงไทเป ประเทศฟิลิปปินส์เอง เกือบ 87% ของพื้นที่กรุงมะนิลาเป็นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2573 ผู้คนมากกว่า 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ย้ำพรรคการเมืองต้องผลิตนโยบายสาธารณะที่แก้ปัญหาสำคัญในอนาคต

พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และต้องผลิตนโยบายสาธารณะที่แก้ปัญหาสำคัญในอนาคต ไม่ใช่นำเสนอเพียงนโยบายประชานิยมแบบฉาบฉวยเฉพาะหน้ามุ่งหาคะแนนนิยมเป็นหลัก สร้างระบอบอุปถัมภ์ใหม่ ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน และทิ้งภาระให้คนรุ่นต่อๆ ไป พรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจึงต้องทำหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนและจัดทำชุดนโยบายสาธารณะในนามพรรคการเมือง (Party Policy Platform) รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 การเกิดการรัฐประหารสองครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง การขาดความต่อเนื่องของประชาธิปไตยและบทบาทของพรรคการเมืองทำให้ข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองไม่หลุดไปจากวังวนของนโยบายเชิงอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะละเมิดต่อกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศสั่นคลอนได้ในอนาคต แนวนโยบายจะเน้นการอุดหนุนเรื่องปากท้องและการให้สวัสดิการตามระบอบอุปถัมภ์ เกิดความสัมพันธ์ด้านกลับ (Reverse Relationship) ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะอุปถัมภ์และอุดหนุนระยะสั้น การมีนโยบายในลักษณะดังกล่าวมากๆ จะส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศและส่งผลกระทบต่อคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยระยะยาว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้ให้ความเห็นต่อบทบาทของภาครัฐต่อการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองว่า ควรเป็นบทบาทในการสนับสนุน มากกว่า บังคับให้ปฏิบัติตาม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในอัตราเร่ง กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองควรให้ความสนใจกับการพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะมากกว่าการพัฒนาสาขาพรรคการเมือง เนื่องจาก เมื่อพรรคการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดลงจากการรัฐประหารอีก การพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะจะทำให้พรรคสามารถสร้างและขยายฐานคะแนนเสียงของตนเองได้และสาขาพรรคก็จะพัฒนาตามมาเมื่อพรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จะเป็นพัฒนาการความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่มีความยั่งยืนมากกว่า นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองควรจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสนอกระบวนการพัฒนาแนวนโยบายผ่านการเสนอทำ “โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อการบริการชุมชน” ในพื้นที่ที่พรรคการเมืองสนใจและนำไปปฏิบัติจริง (ตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า วิจัยโดย ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) และส่งเสริมให้เกิดสถาบันวิเคราะห์นโยบายภายใต้พรรคการเมือง โดยสถาบันเหล่านี้ควรสามารถขอทุนทำวิจัยจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดสรรทุนได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: