'เพาะช่าง' ขอออกจากสังกัด มทร.รัตนโกสินทร์

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4434 ครั้ง

'เพาะช่าง' ขอออกจากสังกัด มทร.รัตนโกสินทร์

'วิทยาลัยเพาะช่าง' ขอออกจากสังกัดจาก 'มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์' ด้วยปัจจุบันมีสถานะเทียบเท่าคณะวิชาหนึ่งเท่านั้น ทำให้การดำเนินงาน การบริหารจัดการองค์กรเกิดความไม่คล่องตัวและไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้ง 'เพาะช่าง' เป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับอุดมศึกษามานานกว่า 109 ปีแล้ว

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.รัตนโกสินทร์) จัดแถลงข่าว”109 ปี เพาะช่าง อดีต ปัจจุบัน อนาคต สู่การเป็นสถาบันศิลปะชั้นนำของประเทศ” ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เดิมใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” กำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 7 มกราคม 2456 ด้วยพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงศิลปะวิชาการช่างของไทยให้เจริญตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ โดยในวันที่ 7 มกราคม 2565 ถือเป็นวันครบรอบ 109 ปี ของวิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งเพาะช่างเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับอุดมศึกษามานานกว่า 109 ปี มีหลักสูตรศิลปกรรมที่หลากหลาย

ปัจจุบันวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ อยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 อว. ได้ออกกฏกระทรวง การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2564 โดยประกาศให้จัดสถาบันการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4.กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ 6.กลุ่มอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ต้นสังกัดมีเป้าหมายและนโยบายระดับองค์กรเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เลือกกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

ผศ.บรรลุ กล่าวต่อว่า จากประเด็นดังกล่าวทำให้วิทยาลัยเพาะช่างต้องกลับมาทบทวนบทบาท พบว่า เพาะช่างเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับอุดมศึกษามานานกว่า 109 ปี มีหลักสูตรศิลปกรรมที่หลากหลาย เน้นอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ แต่ด้วยปัจจุบันมีสถานะเทียบเท่าคณะวิชาหนึ่งเท่านั้น ทำให้การดำเนินงาน การบริหารจัดการองค์กรเกิดความไม่คล่องตัวและไม่เต็มประสิทธิภาพ การที่เราเลือกเป็นสถาบันการศึกษาในกลุ่มที่ 2 ทำให้ความมุ่งหมายในการพัฒนาคน พัฒนาชาติด้วยงานศิลปวัฒนธรรมอันเป็นศักยภาพเต็มของวิทยาลัยเพาะช่าง ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งกระแสโลกในปัจจุบันมุ่งสู่อนาคตผลักดันเรื่องทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาฐานรากในทุกรูปแบบ ทั้งสื่อบันเทิง การท่องเที่ยว ซึ่งวิทยาลัยเพาะช่างมีความโดดเด่นในแง่ศิลปะ ที่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพเพื่อรองรับตลาดแรงงานด้านศิลปกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการต่อยอดอดีตโดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ซึ่งจะทำให้เพาะช่างได้แสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมเพื่อสนองยุทธศาสตร์และนโยบายของชาติได้เป็นอย่างดี

ผอ.วิทยาลัยเพาะช่างกล่าวต่อว่า จากเหตุผลดังกล่าวเพาะช่างได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการยกสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปกรรมเทียบเท่ามหาวิทยาลัย ขึ้นตรงกับที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นสถาบันอุดมศึกษาแของรัฐในกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มที่ 5 คือ “กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ” โดยได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล กฎหมาย พระราชบัญญัติ โดยมีการเข้าปรึกษาหารือบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งศึกษาถึงรูปแบบการจัดการศึกษาของสถาบันศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการเรียนการสอนในลักษณะเดียวกัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอมติสภามหาวิทยาลัยเพื่ออนุมัติต่อไป

อาจารย์สุเทพ จ้อยศรีเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศิลป์ หนึ่งในคณะทำงานเรื่องนี้ กล่าวว่า ชื่อเพาะช่างเป็นที่ยอมรับจากสังคมทั้งชื่อเสียงและศักยภาพในด้านต่างๆ มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเป็นที่ยอมรับ มีศิษย์เป็นศิลปินแห่งชาติจำนวน 39 คน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอด มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก มีสถานที่ตั้งในเขตพระนคร กรุงเทพมหานครอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ใกล้เคียงแวดล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนการเรียนรู้เป็นอย่างดี มีบุคลากรสายวิชาการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันการรับสมัครนักศึกษาหลายสถาบันไม่สอดคล้องตามแผน แต่พบว่าเพาะช่างยังสามารถคัดเลือกผู้เข้าเรียนได้จำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อมากกว่าแผนการรับ

“ ด้านอัตลักษณ์เพาะช่างถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศที่มีหลักสูตรด้านศิลปะประจำชาติมากที่สุด และจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมร่วมกับการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายในอนาคตของการจัดตั้ง จะมีพันธกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ให้เกิดการสร้างงานสร้างบุคลากรในการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงมั่นใจว่าเพาะช่างมีความพร้อมเต็มกำลังในการยกสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปกรรม เทียบเท่ามหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ “สถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง” “ อ.สุเทพ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: