นักเศรษฐศาสตร์เผยกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ดันรายย่อยสู่หนี้นอกระบบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ต.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2192 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์เผยกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ดันรายย่อยสู่หนี้นอกระบบ

นักเศรษฐศาสตร์เผยกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ผลักดันรายย่อยสู่หนี้นอกระบบ การปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสูงกว่าร้อยละ 30

สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2565 ว่านายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ในการกำหนดเพดานดอกเบี้ย การจำกัดวงเงินสินเชื่อของสินเชื่อบางประเภท การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนำมาสู่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน และป้องกันไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว ยอมรับว่า มาตรการเข้มงวดทางการเงินบางส่วนอาจไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน แต่อาจทำให้เกิดปัญหาในบางมิติเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การกำหนดเพดานดอกเบี้ยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมประกาศออกมาบังคับใช้ อาจผลักดันให้ผู้มีรายได้น้อยและมีความเสี่ยงทางการเงินสูงเข้าสู่หนี้นอกระบบมากขึ้น ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหนักกว่าหนี้ในระบบ ดอกเบี้ยสำหรับรถยนต์ใหม่เพดานไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี รถมือสองไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และรถจักรยานยนต์ไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี อาจทำให้ สถาบันการเงินลดการปล่อยกู้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง หรืออาจเพิ่มจำนวนเงินดาวน์สูงขึ้น จนทำให้กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อในระบบได้ และต้องหันไปกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย เพดานปรับลดลงมาจากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 30 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 23 เชื่อว่าผู้ประกอบการจะมีการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินดาวน์เฉลี่ยร้อยละ 10-20 และกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้อาจเพิ่มเงินดาวน์มากกว่าร้อยละ 20 กระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของผู้ประกอบการหรืออาชีพอิสระ

การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ จะกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ทั้งฝั่งผู้ปล่อยกู้หรือบริษัทสินเชื่อขนาดเล็กและนาโนไฟแนนซ์ และลูกหนี้ธุรกิจขนาดย่อมหรือลูกหนี้ผู้มีรายได้น้อยทั่วไป ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) ในระบบสถาบันการเงินอาจพุ่งสูงมากกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะสินเชื่อจักรยานยนต์ที่มีต้นทุนการดำเนินการและความเสี่ยงสูง หากยกเลิกนโยบายเปิดเสรีทางการเงินและการปล่อยดอกเบี้ยลอยตัวตามกลไกตลาด การกำหนดเพดานดอกเบี้ยต้องสอดคล้องกับภาวะตลาด จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ติดตามมา

สำหรับมาตรการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ของแบงก์ชาติที่ได้ดำเนินการมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (Prepayment fee) การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ (Debt Consolidation) นั้นว่าเป็นมาตรการที่บรรเทาปัญหาให้กับลูกหนี้ได้ดีพอสมควร ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลดลงเมื่อนำมารวมหนี้ ชำระหนี้ง่ายขึ้น และลูกหนี้ไม่เสียเครดิต ไม่เสียประวัติ ลดการเป็นหนี้เสีย

อย่างไรก็ตาม มาตรการรวมหนี้นี้ ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ได้ไม่เกินมูลค่าหลักประกัน ขณะที่มาตรการคุมเพดานดอกเบี้ย เพดานค่าธรรมเนียม ลดวงเงินสินเชื่อของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของแบงก์ชาติ ถือว่าได้ผลในการควบคุมการก่อหนี้เกินตัวหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนอายุน้อยได้ดี ทำให้ผู้ใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีเงินออมโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาหนี้เสียหรือก่อหนี้สินเกินฐานะลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ทำให้ลูกหนี้บางส่วนหันไปใช้เงินกู้นอกระบบหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนมากขึ้น ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: