13 พ.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2565 มีนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์
พระยาแรกนาเจิมพระโค และคันไถ แล้วจึงไถดะโดยรี 3 รอบ โดยขวาง 3 รอบ แล้วหว่านธัญพืช จากนั้น ไถกลบอีก 3 รอบ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี พระราชพิธีพืชมงคลจึงเริ่มมีขึ้น โดยจัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร นอกจากนี้ ยังถือเป็นวันเกษตรกรด้วย
สำหรับผลการเสี่ยงทายในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2565 ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่ง มีผ้า 6 คืบ 5 คืบ และ 4 คืบ โดยพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกายได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ประกอบด้วย ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่วเขียว, งา, เหล้า, น้ำ และหญ้า โดยพระโคกินน้ำ และหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์, พระโคกินถั่ว พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีเกษตรกร และประชาชนเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระยาแรกนาหว่านไว้ เพื่อนำกลับไปหว่านในที่นาของตนเอง และเพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับสถิติ 'ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค' ตั้งแต่ปี 2540-2565 มีดังนี้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ