สำรวจตรวจตราวาทกรรม (เบื้องต้น) ‘มายาคติเกี่ยวกับสาวเหนือและประเด็นทางเพศ’

กมลชนก เรือนคำ 14 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 4934 ครั้ง


“ผู้หญิงในภาคเหนือ” หรือที่เราเรียกกันว่า “สาวเหนือ” นั้นมักถูกมองเป็น “วัตถุทางเพศ” มาตั้งแต่ในอดีต ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสาวเหนือจึงอยากลองสำรวจตรวจตราเกี่ยวกับมายาคติเบื้องต้นในเรื่องนี้ เท่าที่นักเรียนชั้นมัธยมปลายคนหนึ่งพอจะหาข้อมูลได้

มายาคติสาวเหนือในอดีต

มีการศึกษาพบว่าเดิมชาวกรุงเทพฯ รับรู้การมีอยู่ของ “สาวเหนือ” ในฐานะ “อีลาว” ซึ่งเป็นสถานะที่ต่ำต้อยกว่าชาวกรุงฯ แนวคิดที่ว่ามาเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสิทร์ตอนต้น ซึ่งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเองมีการรับแนวคิดจากชาติตะวันตกมา ทำให้มีการก้าวหน้าทางแนวคิด วัฒนธรรม การศึกษา เป็นต้น แต่ในขณะที่ล้านนา (ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ใช้แนวคิดและวิถีชีวิตเดิมๆ ในทางปฏิบัติเองกรุงเทพฯ ก็มีอำนาจเหนือกว่าล้านนาอย่างชัดเจน

ภาพลักษณ์ในอดีตที่อยู่ในภาพจำก็มีหลากหลายแบบโดยแบบแรกจะจำว่าสาวเหนือนั้นกิริยาอ่อนหวาน นิ่มนวล สวยงาม แม่บ้านแม่เรือนซึ่งตรงตามลักษณะที่ชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองสร้างเอาไว้ และอีกแบบก็จดจำว่าสาวเหนือหน้าซื่อ ใจง่าย โง่ หูเบา ซึ่งเรื่องที่จะอธิบายภาพลักษณ์ในด้านนี้ได้ดีคือเรื่อง “สาวเครือฟ้า” ที่ดูหัวอ่อนไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมใคร 

นอกจากนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาภาคเหนือตอนบนได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุดิบชั้นดีอย่างวัฒนธรรม อาหาร ประเพณี และอาจจะรวมถึงความงดงามของผู้หญิงด้วย “สาวเหนือ” จึงเปรียบเสมือนเป็นภาพลักษณ์และตัวแปรสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 

ซึ่งเป็นไปได้ว่า “สาวเหนือ” นั้น ได้ถูกยัดเยียดภาพลักษณ์ต่อคนภูมิภาคอื่นๆ ว่าเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตาและรูปร่างสวยงาม เรียบร้อยอ่อนหวาน กิริยานิ่มนวล มากกว่าภาคอื่นๆ ทำให้ธุรกิจขายบริการทางเพศได้เติบโตควบคู่มากับการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ “โรคเอดส์” ที่ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในภาคเหนือยุคหนึ่ง

ปัจจุบันยังคงติดกับภาพเดิมๆ หรือไม่?

"ทำไมสาวเหนือถึงสวยและน่ารักดึงดูดใจกว่าสาวภาคอื่นๆครับ"

"เพื่อนผมบอกว่าอย่าไปเอาสาวเหนือเลยจริงไหมครับ"

"ผมสงสัยครับ เค้าว่ากันว่า สาวเหนือเนี่ย หลายใจ ใจง่าย ชอบหลอกให้รัก มักให้อยาก แล้วจากไป เจ้าชู้(บางคน) จริงๆหรอครับ???"

ข้อความเหล่านี้ผุดขึ้นมาจากเสิร์ชเอนจิน เมื่อผู้เขียนลองพิมพ์คำว่า "คิดยังไงกับสาวเหนือ" ลงไป (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565)

นอกจากนี้ผู้เขียนได้ลองสอบถามคนรู้จักด้วยคำถามที่ว่า “ภาพลักษณ์ด้านลบของสาวเหนือ” ก็มักจะได้คำตอบที่ยังคงมีมายาคติเช่นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ใจง่าย” “ขายตัว” หรือเรื่องเกี่ยวกับ “โรคเอดส์”

แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้นกว่าแต่เดิม ไม่ได้มองเรื่องกิจกรรมทางเพศหรือคนประกอบอาชีพด้านนี้ตั้งแต่ผู้ขายบริการทางเพศไปจนถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้านเพศในอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งน่ารังเกียจแล้ว แต่ผู้เขียนยังคงสงสัยว่าความเป็นสาวเหนือได้รับการยอมรับในด้านศักดิ์ศรีและความเสมอภาคในด้านต่างๆ เท่ากับผู้หญิงภูมิภาคอื่น หรือว่าเรายังเป็นกลุ่มเฉพาะที่ยังคงถูกมองเป็น “วัตถุทางเพศ” อยู่ 

คนรู้จักท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนที่ค้นคอนเทนต์ในเว็บโป๊ ถ้าจะให้ระบุภูมิภาค คำค้นหาผู้หญิงอย่างสาวเหนือ สาวเชียงใหม่ สาวเชียงราย จะมีมากกว่าคนค้นหาผู้หญิงปักษ์ใต้ ผู้หญิงกรุงเทพ ผู้หญิงจังหวัดอื่นๆ อย่างแน่นอน”

ผู้เขียนจึงมองว่า ณ ปัจจุบันมายาคติในการมองสาวเหนือนั้นอาจยังไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก

สิ่งที่อยากเห็น

เมื่อไม่นานมานี้มีนักกิจกรรมหญิง “สาวเหนือ” ท่านหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์รีวิวการ “ฝังยาคุมกำเนิด” ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้สร้างข้อถกเถียงเป็นวงกว้างทั้งในโซเชียลมีเดียและโลกออฟไลน์

ในมุมมองของผู้เขียน นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการพูดเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์เพราะนำไปเกี่ยวโยงกับประเด็นสุขภาพและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิง 

เป็นอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า "สาวเหนือ" นั้นกล้าลุกขึ้นมาส่งเสียง ไม่ใช่แค่เป็นการนิ่งเฉยให้ผู้ชายมองถึงเราในแง่ของ “กามารมณ์” เท่านั้น

และผู้เขียนหวังว่าพวกเรา (สาวเหนือ) จะออกมาช่วยกันทลายมายาคติแย่ๆ ที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับพวกเรา จากนี้ให้หมดไปในอนาคต.

 

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน
ภาพลักษณ์ ผู้หญิงเหนือ ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 (ภักดีกุล รัตนา, เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543)
สาวรีวิวฝังยาคุมกำเนิด! เจอครอบครัวไม่เข้าใจ แม่สั่งให้ลบโพสต์ ชี้ เป็นเรื่องน่าอาย-ไม่รักตัวเอง (ผู้จัดการออนไลน์, 19 ธ.ค. 2563)

ที่มาภาพ: ภาพประกอบแสดงตัวแทนสาวเหนือ โดย กมลชนก เรือนคำ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: