นักวิชาการแนะรัฐปัดฝุ่นแผน PDP 2015 กลับมาใช้ใหม่ ลดการพึ่งพาก๊าซเพียงอย่างเดียว

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3692 ครั้ง

นักวิชาการแนะรัฐปัดฝุ่นแผน PDP 2015 กลับมาใช้ใหม่ ลดการพึ่งพาก๊าซเพียงอย่างเดียว

นักวิชาการพลังงาน แนะปัดฝุ่นแผน PDP 2015กลับมาใช้ใหม่ ชี้ช่วยกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาก๊าซเพียงอย่างเดียว ย้ำไทยต้องหันกลับมายึดความมั่นคงไฟฟ้าประเทศก่อนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ พร้อมถอดบทเรียนยุโรปพึ่งพาก๊าซรัสเซียเกินไป ทำประเทศก้าวสู่วิกฤตพลังงาน

เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2565 Energy ​News​ Center รายงานว่า รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ได้แสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คส่วนตัว “ดร.ภิญโญ มีชำนะ” เกี่ยวกับทิศทางพลังงานประเทศโดย​มี​สาระ​สำคัญที่​น่าสนใจว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มีราคาแพง จากปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลักจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานภายในประเทศได้ จะเห็นได้จากตัวอย่างประเทศในสหภาพยุโรป(EU)ได้รับผลกระทบจากกรณีรัสเซียขู่ไม่ส่งก๊าซฯ ให้ ทำให้หลายประเทศเดือนร้อนหนัก ดังนั้นไทยควรหันมาพิจารณาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้มากขึ้น และขอเสนอให้ปัดฝุ่นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2558 หรือ PDP2015 กลับมาใช้ใหม่

โดย แผน PDP 2015 (พ.ศ.2558) ซึ่งเป็นแผนพลังงานไฟฟ้า 20 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2579 ไทยได้วางแผนกระจายเชื้อเพลิงไปหลากหลายชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางด้านพลังงาน จะไม่พึ่งพาพลังงานตัวหนึ่งตัวใดมากจนเกินไป เช่น จะลดสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเหลือ 37% (จากปัจจุบันที่ 60%) เพิ่มถ่านหินขึ้นเล็กน้อยเป็น 23% (จากปัจจุบันที่ 22%) โดยจะซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเป็น 15% (จากเดิม 7%) ส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มเป็น 20% (จากปัจจุบันที่ 11%) และจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้ามาในแผนใหม่เป็น 5% และเชื้อเพลิงอื่นๆอีกเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามหลังรัฐประหารปี 2557 ได้มีกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากกลุ่ม NGO และกลุ่มอนุรักษ์นิยมขึ้นในประเทศหลายครั้ง จนกระทั่งส่งผลให้แผน PDP 2018 ของไทยเปลี่ยนไปจาก PDP 2015 เดิมอย่างมากมาย

เมื่อเปรียบเทียบแผน PDP 2018 กับ PDP 2015 พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกทำให้มีสัดส่วนลดลง 11% (คือจาก 23% เหลือ 12%) ส่วนนิวเคลียร์ลดลง 5% (จาก 5% เหลือ 0%) และเมื่อรวมสัดส่วนที่ลดลงจากถ่านหินและนิวเคลียร์รวมกันจึงเท่ากับ 16% (11% + 5%) และตัวเลข 16% นี้นำไปเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติ จาก 37% เป็น 53% (เพิ่ม 16% พอดี) จึงเท่ากับว่าจงใจลดสัดส่วนถ่านหินและนิวเคลียร์ (ตามแผน PDP 2015) เพื่อนำไปเพิ่มให้กับสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติ (ตามแผน PDP 2018)

ดังนั้นสรุปได้ว่าในเวลานั้น ไทยได้ตัดสินใจแล้วว่าความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) ของไทยนั้นเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือสิ่งแวดล้อม (Environment) ตามความต้องการของ NGO โดยคณะผู้บริหารด้านพลังงานในขณะนั้นมีส่วนที่สนับสนุนให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยได้อ้างว่าราคาของ LNG ที่จะนำเข้าในอนาคตสามารถจัดหาได้ง่ายจากหลายแหล่ง (ตลาดเป็นของผู้ซื้อ) และจะมีราคาถูกอีกนาน แถมสะอาด และใช้ง่ายสะดวก

แต่จากผลของสงครามยูเครน-รัสเซียที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการพิสูจน์แล้วว่า การพึ่งพลังงานตัวหนึ่งตัวใดมากจนเกินไปในกรณีของยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียจนแทบจะเอาอนาคตด้านพลังงานของตนไปผูกไว้กับรัสเซียเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และเป็นบทเรียนแก่ไทยว่า ต่อนี้ไปไทยจะละเลยเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศอย่างที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว หากวันนี้ประเทศไทยต้องการพลังงานที่มั่นคง ราคาถูก ใช้ง่ายนั้น ไทยไม่ควรจะนำเอามิติด้านสิ่งแวดล้อม มากำหนดความเป็นความตายของประเทศ

ดังนั้นแผน PDP 2015 เป็นแผนที่น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้ที่รัฐบาลไทยควรนำมาปัดฝุ่นใช้ ไทยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีการกระจายตัว โดยให้มีความหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านพลังงานของประเทศอย่างเร่งด่วน รวมทั้งต้องหวนกลับมาวางแผนเพื่อไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา ที่จะทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลง (ราคาถ่านหินที่ผ่านมาจะมีราคาประมาณ 25%-30% ของราคาก๊าซธรรมชาติที่ค่าความร้อนเท่ากัน) อีกทั้งเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดปัจจุบันนั้นสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้นมากจนเป็นที่ยอมรับได้ และขอเสนอแนะให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะที่ปลดระวางไปแล้วหรือที่คิดว่ากำลังจะปลดระวางนั้น อย่าไปทุบทิ้ง สามารถเอามาใช้ใหม่ได้ในกรณีฉุกเฉิน

นอกจากนั้นแล้วไทยควรพิจารณานำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวให้มีสัดส่วนเพิ่มจาก 9%ใน PDP 2018 เป็น 15% ตามแผน PDP2015 ตามเดิม ที่ผ่านมารัฐบาล สปป. ลาว หงุดหงิดมากเพราะดูเหมือนว่าไทยไปหลอกให้ สปป.ลาวกู้เงินมาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย แต่ไทยไปเบี้ยวไม่รับซื้อเพิ่ม จึงทำให้ตอนนี้ลาวมีกำลังไฟฟ้าเหลืออีกประมาณ 500-600 เมกะวัตต์ ไม่รู้จะขายใครดี แต่ปัจจุบันจีนกำลังจะลงทุนสร้างสายส่งให้พาดเหนือจดใต้ของ สปป. ลาว ถ้าโครงการนี้เสร็จ สปป. ลาวก็คงไม่ง้อไทย สามารถขายให้ เวียดนาม จีน หรือกัมพูชาต่อไปได้ ส่วนไทยอาจไปต่อท้ายแถว ตอนนี้ สปป.ลาวจะดำเนินนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มและหาลูกค้าจากประเทศอื่นรอบบ้านของ สปป. ลาวแทน ข้อแนะนำก็คือไทยควรเปลี่ยนนโยบายด้วยการไปง้อ สปป.ลาวขอซื้อไฟฟ้า เพราะเป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาด ของดี และราคาถูก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: