วงเสวนาชี้รัฐหวัง 'ล้มกระดานองค์กรไม่แสวงผลกำไร' ด้วย 'กฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม'

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.พ. 2565 | อ่านแล้ว 8101 ครั้ง


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จัดงานเสวนา 'ตีแผ่ร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและผลกระทบ' ชี้รัฐหวัง 'ล้มกระดานองค์กรไม่แสวงผลกำไร' ด้วย 'กฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม' | ที่มาภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

วันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จัดงานเสวนา 'ตีแผ่ร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและผลกระทบ' ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ว่าด้วยการดูแล ควบคุมการดําเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกําไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการรวมกลุ่มในทุกรูปแบบ ไม่ว่าชมรมหรือมูลนิธิเนื่องจากนิยามของร่างกฎหมายค่อนข้างกว้าง ทั้งการบังคับใช้กฎหมายยังขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็น พ.ร.บ. ที่น่ากังวลพอสมควรโดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชน


ที่มาภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ว่า ร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมมีผลกระทบต่อการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และหากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่อีกด้านยังเป็นรูปแบบของการคุกคาม การจำกัดและเล็งเป้าไปยังกลุ่มหรือองค์กรใดๆ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ปิดปากเงียบ ไม่แสดงความเห็น

"ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังผลให้งานโครงการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือการมีส่วนร่วม ตลอดจนการรวมตัว การพัฒนาหรือกิจกรรมใดๆ ได้รับผลกระทบจนหมด ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวเพื่อกลุ่มสตรี กลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเยาวชนหรือแม้แต่เราทุกคน"

"เราทราบว่านี่คือหนึ่งในเครื่องมือปิดปากของรัฐ ทำให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ข้างต้นดังที่ได้กล่าวไป โดนลบออกไปจากแผนที่จนหมด ทั้งนี้ อยากชี้ให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทยอย่างเดียว จึงอยากชวนจับตาดูถึงกลไกต่างๆ ของรัฐ โดยทั้งหมดนี้ ประชาชนเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรลุกขึ้นมาต่อสู้ คัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้" ปิยนุชกล่าว

ในเวลาต่อมา บาดาร์ ฟาร์รุคฮ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ 'ความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพในการสมาคม และการหดตัวของพื้นที่ประชาสังคม' ความว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการหดตัวของพื้นที่ภาคประชาสังคม ผ่านการใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่มีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ

"ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมที่มีชีวิตชีวาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตย พื้นที่ที่มีเสรีภาพย่อมเปิดกว้างให้พลเมืองทุกคนสามารถใช้สิทธิในการแสดงความเห็น รวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจผ่านการเลือกตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง แต่เมื่อประชาธิปไตยอ่อนแอลง กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเพื่อประเด็นใดก็ย่อมตกเป็นเป้าของกฎหมาย ถูกป้ายสีและกดขี่ด้วยอำนาจ ทำให้ความมีชีวืตชีวาหายไปและทำให้พื้นที่เหล่านี้หดแคบลงผ่านการใช้กฎหมายและวิธีการนอกเหนือจากกฎหมาย เพื่อควบคุมกำกับการทำงานขององค์กรเหล่านี้ ทำให้พื้นที่ภาคประชาสังคมอาจมีการพลิกโฉม เปลี่ยนหน้าไปจากเดิม"

ทั้งระบุเพิ่มว่า ใน 111 ประเทศทั่วโลก ภาคประชาสังคมยังถูกจำกัดอำนาจหน้าที่และการทำงาน โดยเฉพาะในปี 2020 ที่ผ่านมาซึ่งหลายประเทศออกนโยบายที่มีแนวโน้มจำกัดเสรีภาพมากขึ้นตามมาตรการการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเห็นได้ชัดในหลายๆ ประเทศ เช่น ฮังการี อินเดีย รัสเซีย โปแลนด์ ฮ่องกง เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ในกระบวนการเสนอกฎหมายฉบับนี้ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่ง

โดยบาร์ดาร์กล่าวอีกว่า กฎหมายเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือเป็นเครื่องมือของรัฐ กำหนดให้องค์กรต้องรายงานทุกอย่างโดยละเอียดเข้มงวดจนกลายเป็นภาระ หรือมีข้อจำกัดเรื่องการรับเงินทุนจากต่างประเทศ บางกรณีกำหนดบทลงโทษทางการปกครองหรืออาจจะทางอาญา ซึ่งรับเป็นบทลงโทษที่รุนแรง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีการใช้ครอบคลุมและกว้างขวาง มอบอำนาจให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถใช้ดุลยพินิจได้ ทั้งนี้ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย เช่นการที่องค์กรเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐ หรือถูกกดทับในทางกฎหมาย ตลอดจนเงื่อนไขเรื่องข้อจำกัดด้านเงินทุนที่อาจส่งผลให้ผู้มอบทุนหรือผู้บริจาคต้องคิดหนักในการให้เงิน และอาจส่งผลให้การทำงานถูกขัดขวาง ยอดบริจาคลดลง เป็นต้น

"ที่ผ่านมาจะพบได้ว่ามีการกำหนดหัวข้อ ห้ามไม่ให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรทำงานในประเด็นที่กำหนดไว้กว้างๆ เช่น ห้ามไม่ให้ทำงานในประเด็นอ่อนไหวหรือประเด็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน, เพศสภาพ, เพศวิถี, ธรรมาภิบาลหรือสิทธิชนพื้นเมือง แม้อาจไม่ได้เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด แต่ก็มีการสร้างบรรยากาศที่ต้องทำให้เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยความกลัว ทำให้องค์กรไม่อยากทำงานในประเด็นเหล่านี้อีก หรืออาจไม่พูดถึงประเด็นนี้อีกต่อไปเพราะกลัวกระทบกฎหมาย ในบางประเทศ มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนมององค์กรไม่แสวงผลกำไรเป็นผู้ร้าย เป็นผู้รับเงินจากต่างประเทศ เป็นตัวแทนจากรัฐต่างชาติและทำงานเพื่อต่างชาติ เป็นผู้ไม่ได้จงรักภักดีต่อชาติและเป็นบ่อนทำลายชาติ ทำให้ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน และลดความสามารถการทำงานขององค์กรเหล่านี้"

บาร์ดาร์กล่าวและชี้ว่า หากมีการออกกฎหมายเช่นนี้ในประเทศไทย ไม่เพียงแต่องค์กรไม่แสวงผลกำไรเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงเหล่าสื่อมวลชนที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รวมทั้งอาจส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ เช่น การถ่ายทอดความรู้ ทักษะข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ หรืออาจทำให้องค์กรเอ็นจีโอ ไม่แสวงผลกำไรหันไปทำหัวข้อที่สร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลน้อยกว่าจนทำให้ความร่วมมือระหว่างชาติลดลงก็เป็นไปได้

หลังจากนั้นมีเวทีเสวนา 'ตีแผ่ร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและผลกระทบ' ดำเนินรายการโดย สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เพื่อวิพากษ์ถึงที่มาและปัญหาของร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมหรือร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอในหลากแง่มุม หลากมิติที่แตกต่างกันไป

เมื่อร่างกฤษฎีกาคือร่าง ‘สอดไส้’ ของ ครม.


ที่มาภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

สุนี ไชยรส ผู้ประสานงานขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ชี้ว่า เหตุที่ภาคประชาชนออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง เพราะเนื้อหาของกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมากมาย ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม องค์กรต่างๆ ล้วนแล้วแต่ควรตรวจสอบ วิจารณ์รัฐบาลได้ ทั้งองค์กรเหล่านี้ก็ช่วยสังคมซึ่งสอดคล้องกับกติกาสากลระหว่างประเทศ ดังนั้น เราจึงควรมีกฎหมายที่ส่งเสริมภาคประชาชนด้วย ที่ผ่านมาก็มีร่างของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ภาคประชาชนหลายฝ่ายไปร่วมกันร่าง มีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ผ่านการถกเถียงกันมาหลายปี ขณะที่ก็มีร่างของฝ่ายประชาชนที่ไปเข้าชื่อเพื่อกดดันและย้ำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาอย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกระบวนการ ดังนั้น จึงมีร่างของกระทรวง พม. และมีร่างกฎหมายเข้าชื่อโดยประชาชน โดยต่างก็มีเส้นทางชัดเจนว่าต้องให้สภาเป็นผู้พิจารณา

"แต่เมื่อร่างของกระทรวง พม. เข้ามติ ครม. แต่ ครม. กลับมติบอกว่าเอาร่างกฤษฎีกาเป็นหลักแล้วเอาร่างกระทรวง พม. เป็นร่างประกอบ กลายเป็นว่าร่างกฤษฎีกาเป็นหลักและทำให้เกิดการคัดค้านอย่างมากโดยเฉพาะกับองค์กรภาคประชาชน เพราะกฎหมายไม่ควรเป็นเช่นนี้ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวให้ดุลยพินิจแก่เข้าหน้าที่ในการวิเคราะห์ว่าองค์กรใดทำงานอย่างไร มิหนำซ้ำทั้งเนื้อหาของร่างและกระบวนการได้มาก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย"

สุนีทิ้งท้ายว่า ตนจึงเสนอให้ยุติกฎหมายฉบับนี้ และยืนยันว่าไม่อาจประนีประนอมด้วยการให้แก้ไขกฎหมายได้ ต้องยกเลิกเท่านั้น หากร่างกฎหมายนี้เข้าสภาแปลว่าจะนำไปสู่เส้นทางที่ประชาชนทำอะไรไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับ ครม. ว่าอยากได้หรือไม่อยากได้อะไร สิ่งที่ ครม. ทำในตอนนี้จึงเป็นการโยนร่างของกระทรวง พม. ที่ผ่านการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางขององค์กรไม่แสวงผลกำไรและประชาชน แล้วเอาร่างกฎหมายของตัวเองเสียบเข้ามาแทน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ฉ้อฉลมาก ต้องขอให้รัฐบาลยุติกฎหมายฉบับนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำมาสู่การควบคุมประชาชนอย่างกว้างขวางในที่สุด

ร่างกฎหมายของรัฐบาลคือสึนามิลูกใหญ่

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ระบุว่า ร่างกฎหมายของรัฐบาลที่กำลังผลักดันเปรียบเหมือนคลื่นสึนามิที่ใหญ่ที่สุดที่จะกวาดล้างภาคประชาสังคมในไทยให้หมดสิ้น ไม่ใช่เป็นการล็อคเป้าแค่องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมืองที่เป็นขาประจำ คู่ปรับกับรัฐบาลและกองทัพเท่านั้น แต่กฎหมายที่เป็นร่างปัจจุบันจะกวาดทุกภาคส่วนในสังคมไทย ไม่ว่าจะองค์กรที่ทำเรื่องสิทธิ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เยาวชนหรือผู้พิการ หากตีความอย่างกว้างขวางจริงๆ แม้แต่สมาคมหอการค้าทั้งในไทยและต่างชาติก็ไม่รอดเพราะคำนิยามของร่างกฎหมายนี้กว้างขวางมาก

"เพราะร่างกฎหมายนี้เน้นย้ำถึงกิจการใดๆ ที่ไม่ใช่ของรัฐถูกจำกัด ควบคุมอย่างกว้างขวาง คือห้ามเห็นต่าง ทำให้ประชาสังคมในไทยทั้งของไทยและต่างชาติเป็นปศุสัตว์ที่ถูกกวาดต้อน นี่เป็นความฝันของฝ่ายอำนาจนิยมที่มีมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 และค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีความพยายามในการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมภาคประชาสังคมจนค่อยๆ มาตกผลึกในระยะหลัง ทำให้ภาคประชาชนที่เคยมีชีวิตชีวา มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนความเป็นธรรมในไทยนั้นขยับตัวไม่ได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่าด้วยเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย"

สุนัยเสริมว่า เวลานี้แม้กระทั่งคนที่ออกมาพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม หรือเคลื่อนไหวเรื่องชาติพันธุ์ก็ยังโดนดำเนินคดี ฉะนั้น หากให้มีร่างกฎหมายฉบับนี้ การจะหวังให้ประเทศไทยเป็นลมหายใจเล็กๆ ในอาเซียนที่ยังพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้นั้นเป็นไปไม่ได้เลย ไทยจะไม่สามารถดำเนินบทบาทนั้นได้อีกต่อไปและตกลงไปในวงจรอุบาทว์

"ดังนั้น กฎหมายฉบับที่รัฐบาลกำลังผลักดันจึงมีผลอย่างกว้างขวางในการทำลายภาคประชาสังคมทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค เราจึงต้องล้มทั้งฉบับ" สุนัยปิดท้าย

การจัดทำกฎหมายนั้นไม่ควรเป็นภาระต่อองค์กรหรือประชาชน

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ว่า อยากให้มีการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลายก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่ผ่านมา มูลนิธิต่างๆ ได้สร้างบัณฑิตอาสาสมัครไปพัฒนาประเทศ ตนก็เป็นดอกผลขององค์กรพัฒนาสังคมเช่นกัน กล่าวได้ว่ามูลนิธิเหล่านี้เป็นพื้นที่เล็กๆ ให้คนที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยมาทำงานเพื่อประเทศ หากมองในภาพรวมจะเห็นได้ว่าเมื่อพ้นภาวะพฤษภาทมิฬ องค์กรพัฒนาเอกชนเติบโตขึ้นมากเมื่อประเทศมีเมื่อประเทศมีประชาธิปไตย และคนที่ทำงานรับใช้สังคมนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในหลายปีที่ผ่านมา เช่น ในช่วงโควิด-19 ระบาดก็จะเห็นว่าองค์กรเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนอย่างมาก

"ทั้งนี้ องค์กระภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างมากต่อการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิ การพัฒนาชนบท การช่วยเหลือกลุ่มเปาะบางซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการพัฒนาประเทศ ช่วยรัฐในการบริหารประเทศ ให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม"

"รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดว่าเราต้องมีกฎหมายเท่าที่จำเป็นและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน การจดทะเบียนนั้นจึงควรเป็นไปเพื่อส่งเสริม แทนการควบคุมและตั้งอยู่ในความพิจารณาว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ที่ผ่านมาจะพบว่ามีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเสนอแนะว่า ในการทำกฎหมายสักฉบับนั้นต้องไม่ซับซ้อน มีเท่าที่จำเป็น และต้องส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มของภาคประชาชน"

โดยศยามลเสริมว่า เสนอให้จัดทำกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ดังนี้ คือควรส่งเสริมหลักการที่มุ่งนั้นให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน
1. ควรทบทวนหลักการและเหตุผลที่มุ่งเน้นการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพองค์กรชุมชนหรือหมู่คณะอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 42
2. ควรกำหนดความหมายของคำว่าองค์กรไม่แสวงหารายได้และกำไรมาแบ่งปันกันและขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมาย
3. ควรพิจารณาตรวจสอบกฎหมายหรือระเบียบที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำกับดูแลขององค์กรไม่แสวงหารายได้และกำไร
4. ควรยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาณา กรณีไม่จดแจ้งหรือไม่จดทะเบียนที่อาศัย และควรควบคุม กำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหารายได้และกำไรที่มีความเสี่ยงจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นตงของรัฐโดยไม่เหมารวม

หากรัฐเรียกร้องให้ประชาชนโปร่งใสย่อมไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการ ‘สอดแนม’
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ว่า ปัญหาของ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีมาตรา 20 พูดถึงกิจกรรมที่จำกัดไม่ให้การรวมกลุ่มของภาคประชาชน แต่ยังรวมถึงการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง ทั้งกฎหมายนี้ยังมีคำนิยามที่ขยายเรื่องข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันจะเห็นได้ว่ามีลักษณะการเอารัฐบาลเป็นศูนย์กลาง

"เวลาเราพูดเรื่องความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีนั้น เราต้องมองให้กว้างขึ้นเพราะเวลานี้ต้องมองเรื่องความมั่นคงมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่ของรัฐ ปัญหาของมาตรานี้คือความกว้างขวางที่เปิดให้เกิดความไม่แน่นอนทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้ ความไม่ชัดเจนนี้เป็นปัญหาในสายตาของชาวโลกด้วย ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไรในสายตาพวกเขา เนื่องจากประเทศไทยไม่อาจดูแลระบบกฎหมายให้ดูเชื่อถือ คาดการณ์การตีความกฎหมายได้เลย ทุกวันนี้ประชาชนไม่อาจแน่ใจได้ว่ากฎหมายจะถูกตีความไปในทางไหน แม้การตีความจะเป็นเรื่องธรรมชาติของนักกฎหมายแต่เราก็ต้องมีหลักในการตีความ"

ฐิติรัตน์เสริมว่า พ.ร.บ. นี้พูดถึงการส่งเสริมของภาคประชาสังคมเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะก็จริง แต่เนื้อหากลับไม่ได้ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์อย่างตรงไปตรงมา จะเห็นว่าตัวกฎหมายพูดเรื่องการจำกัดกิจกรรมขององค์กรต่างๆ มากกว่าด้วยซ้ำ

"นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องเรื่องความโปร่งใสจากองค์กรต่างๆ ทั้งที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องโปร่งใสตลอดเวลาเพราะเราไม่ใช่รัฐ เมื่อรัฐเข้ามาเรียกร้องความโปร่งใสจากประชาชนจะกลายเป็นการสอดแนม นอกจากนี้ การระดมทุนและการเปิดเผยการใช้ทุนมีการลงโทษที่มากเกินสัดส่วน นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นใจในการทำกิจกรรม ทำให้ผู้บริจาค ผู้ลงทุนหลายคนไม่กล้ามาเพราะไม่อาจประเมินความเสี่ยงได้ ทำให้เกิดบรรยากาศไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของกันและกันด้วย" ฐิติรัตน์ปิดท้าย

หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็จะเหลือแต่องค์กรเด็กดี?

สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้นึกถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ก่อนหน้าในห้วงเวลาที่สังคมไทยมีพัฒนาการทางการเมืองถดถอย ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจะเห็นกฎหมายแปลกๆ เช่น กฎหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และ พ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นต้น โดยตนคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่รุกเข้าไปยังตัวองค์กรที่รัฐรู้สึกว่าน่ารำคาญ โดยมาจากความฉุนของผู้บริหารประเทศที่มีต่อองค์กรระหว่างประเทศหรือองค์กรที่ได้รับทุนระหว่างประเทศมาดำเนินการในไทย ดังนั้นจึงออกกฎหมายที่กวาดองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั้งหมด

"ต้องไปยกเลิกกฎหมายข้อนี้เสียเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของประชาชน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้นั้นหากมองโดยรวมจะพบว่าเป็นภาระอย่างมาก แม้ตัวกฎหมายจะอ้างเรื่องการแสดงความโปร่งใสและรายละเอียดต่างๆ เพื่อยื่นเรื่องเข้ากองทุนที่สนับสนุนเอ็นจีโอ แต่เอ็นจีโอที่จะได้เงินทุนจากองค์กรเหล่านี้ต้องเป็นเด็กดีมากๆ ดังนั้น กฎหมายฉบับจึงระบุเรื่องการสนับสนุนเอ็นจีโอผ่านกองทุนเข้ามาแค่เพื่อสร้างความชอบธรรม ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นกฎหมายที่อัปลักษณ์มากๆ ส่วนตัวยังไม่เห็นประโยชน์ของร่างกฎหมายฉบับนี้"

สมบัติขยายความว่า สาระจริงๆ อยู่ที่มาตรา 20 คือพยายามจัดการเงินไหลเวียนจากต่างประเทศ และใช้กฎหมายกวาดต้อนเพื่อให้องค์กรมาอยู่ในกรอบที่รัฐข่มขู่ได้ จะเห็นได้ว่ารัฐตั้งใจเขียนกฎหมายให้คลุมเครือ ซึ่งนับเป็นศิลปะประเภทหนึ่งของรัฐในการปกครองประชาชน ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงส่งผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ ซึ่งปกติก็แทบไม่มีอนาคตอยู่แล้ว หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน องค์กรต่างๆ ที่ยังทำงานอยู่ก็คงจะหายไปอีกครึ่งหนึ่งและเหลือแต่องค์กรเด็กดีของรัฐเท่านั้น

การมีอยู่ของร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ดวงพร วิรัตน์ธัญญารักษ์ ภาคี #Saveบางกลอย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ครอบงำและมุ่งทำลายเสรีภาพ เพราะจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน มีการใช้ระเบียบแบบรัฐในการจัดการการรวมกลุ่มไม่ว่าจะเรื่องการทำรายรับรายจ่ายหรือรายงานกิจกรรมที่จะทำต่อรัฐ และรัฐก็มีอำนาจในการจะสั่งให้ทำหรือไม่ทำก็ได้ ตนมองเห็นว่า การมีอยู่ของร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ถูกร่างขึ้นมาโดย ครม. ซึ่งมีร่างของกระทรวง พม. ซึ่งผ่านการถกเถียง พูดคุยจากองค์กรภาคประชาชนเป็นร่างประกอบ ทั้งที่จริงๆ ควรผ่านนิติบัญญัติที่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่า

"นอกจากนี้ ยังนับว่าเป็นการกวาดล้างทุกภาคส่วนของการเรียกร้องของประชาชน เพราะห้ามทำเรื่องประเด็นอ่อนไหว อ้างว่ากระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน รัฐหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งตีความไปได้กว้างมาก คิดว่าเป็นความตั้งใจของรัฐเพื่อให้ตีความไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้ ทำให้เรากังวลในฐานะนักเคลื่อนไหว เพราะเมื่อเราออกมายืนเคียงข้างกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาที่เกิดเรื่องรุนแรงขึ้นในเวลานี้ ก็ไม่รู้ว่าจะถือว่าอยู่ในหมวดกระทบความสัมพันธ์ ความมั่นคงต่อประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ หรือสิทธิเรื่องเพศ อยู่ในหมวดขัดศีลธรรมอันดี ขัดต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่เพราะเราพูดเรื่องการกดขี่ในเรื่องเพศที่มีมาช้านานด้วย" ดวงพรกล่าวปิดท้าย

หน้าที่ของกระทรวง พม. คือรับฟังและปรับแก้

กิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงคงของมนุษย์ ระบุว่า ร่างกฤษฎีกาดังกล่าวนั้นเมื่อร่างเสร็จก็ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ ไปให้ความเห็น เช่น กระทรวงต่างประเทศ ตัวแทนจากสำนักข่าวกรอง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน เป็นต้น และเมื่อเข้า ครม. ในมตินั้นก็เห็นชอบแนวทางการยกร่างกฎหมายของกฤษฎีกา ดังนั้นกระทรวง พม. จึงต้องกลับไปรับฟังความเห็นต่อ

"ในกฎหมายฉบับนี้จะพบว่า กฤษฎีกาอ้างรัฐธรรมนูญเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหารายได้และกำไร และการกำกับดูแล โดยมีการเขียนหลักการว่า เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและให้มีกฎหมายเฉพาะที่ส่งเสริมองค์กรที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน กำหนดกลไกการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหารายได้เท่าที่จำเป็นและไม่เป็นภาระต่อประชาชน คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและความสงบสุขเรียบร้อยตลอดจนศีลธรรมอันดี" กิตติกล่าว และว่า เมื่อกลับไปทวนมติ ครม. ที่ลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมาย กระทรวง พม. ก็ได้รับความเห็นต่างๆ ไปพิจารณา โดยมีกรรมการที่มาจากรัฐจัดสรร 8 คนและจากองค์กรไม่แสวงหากำไรอีก 7 คนซึ่งมาจากการเสนอชื่อกันขององค์กรต่างๆ เหล่านี้ ย้ำว่ากระทรวง พม. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม มีจุดยืนคือเป็นกลางรับฟังความเห็นของทุกคน

ทั้งนี้ในตอนท้ายงานมีการแสดงพลังคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....โดยมีการถือป้ายรณรงค์และสวมหน้ากากสีดำปิดข้อความคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: