จับตา: 'Ronna-Quetta-Ronto-Quecto' หน่วยวัดขนาดใหม่ล่าสุดของโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1743 ครั้ง


VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2565 ว่าในขณะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นเกินเป็นกว่า 8 พันล้านคน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้จัดประชุมที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อหารือการขยายระบบหน่วยการวัดของโลกเป็นครั้งแรกในศตวรรษนี้

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วที่มาพร้อมการขยายตัวของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทั่วโลก ทั้งบนเว็บไซต์ ในสมาร์ทโฟน รวมถึงระบบคลาวด์ ส่งผลให้คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรวัดทั้งน้ำหนักและขนาดจำเป็นต้องปรับเพิ่มตามไปด้วย

นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษรายหนึ่งเป็นผู้ผลักดันให้มีการเพิ่มคำศัพท์นำหน้าที่แปลกหูและออกเสียงยาก เพื่อแสดงหน่วยทั้งสำหรับการวัดของที่มีขนาดใหญ่ยักษ์มหึมาและที่เล็กจิ๋วมากก็ได้

ริชาร์ด บราวน์ หัวหน้าแผนกมาตรวิทยาจากห้องปฏิบัติการ National Physical Laboratory หรือ NPL ที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เอพีว่า “คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำนำหน้าต่าง ๆ อย่างเช่น คำว่า “มิลลิ” ในมิลลิกรัม แต่คำศัพท์ชุดใหม่นี้ จะเป็นมาตรวัดในระดับที่ใหญ่ที่สุด และเล็กที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

บราวน์ เสริมว่า “ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปริมาณข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้น บันทึกและคัดลอก (datasphere) เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลพบว่า ไม่มีคำศัพท์ในระดับที่สามารถอธิบายปริมาณข้อมูลที่ถูกจัดเก็บได้ และคำศัพท์ใหม่ ๆ เหล่านี้กำลังจะถูกนำมาใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้” โดยคำศัพท์นำหน้าชุดใหม่ที่ไม่คุ้นหูจำนวน 4 คำ ได้แก่คำว่า รอนนา (ronna) เควทตา (quetta) รอนโต (ronto) และ เควคโต (quecto)

สำหรับการใช้งาน เพื่อแสดงความมหาศาล จะใช้คำว่า “รอนนา” ซึ่งหมายถึงมีเลขศูนย์ต่อท้ายจำนวน 27 ตัว และคำว่า “เควทตา” จะหมายถึงมีเลขศูนย์ต่อหลังจำนวน 30 ตัว ส่วนคำขั้วตรงข้ามที่แสดงถึงความเล็กมาก คือคำว่า “รอนโต” ที่มีเลขศูนย์หลังจุดทศนิยมจำนวน 27 ตัว และ “เควคโต” ที่หมายถึงเลขศูนย์หลังจุดทศนิยมจำนวน 30 ตัว ซึ่งถือเป็นหน่วยที่วิทยาศาสตร์ด้านควอนตัมและฟิสิกส์ด้านอนุภาคมีความจำเป็นในการใช้งาน

บราวน์ เสนอคำนำหน้าชุดใหม่ต่อเจ้าหน้าที่จาก 64 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเรื่องน้ำหนักและมาตรวัด ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแวร์ซายนอกกรุงปารีส และที่ประชุมนี้ก็อนุมัติการใช้งานศัพท์ใหม่ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยการประชุมดังกล่าวถูกจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปีที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures หรือ BIPM) โดยการอนุมัตินั้นมีผลให้คำศัพท์ชุดใหม่สามารถถูกนำไปใช้งานได้ทันที และเป็นการเพิ่มคำศัพท์ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1991

บราวน์ ชี้ว่า คำศัพท์ชุดใหม่นี้จะช่วยอธิบายในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจอยู่แล้วได้ง่ายขึ้น ทั้งในแง่การพูดถึงสิ่งที่เล็กที่สุด และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ

ตัวอย่างเช่น มวลของ 1 อิเล็กตรอนเทียบได้กับ 1 รอนโตกรัม (rontogram) ปริมาณข้อมูล 1 ไบท์จะเพิ่มมวลให้กับมือถือ 1 เควคโตกรัม (rontogram) ขนาดของดาวพฤหัสบดีมีมวลถึง 2 เควทตากรัม และเส้นผ่านศูนย์กลางของจักรวาลที่เราสังเกตการณ์ได้นั้นมีขนาดถึง 1 รอนนาเมตร (ronnameter)

นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้ยังอธิบายถึงกระบวนการคัดสรรคำศัพท์ชุดใหม่นี้ด้วยว่า ไม่ได้มาจากการสุ่มเลือก โดยอักษรตัวแรกในแต่ละคำจะต้องเป็นตัวอักษรที่ไม่ได้ถูกใช้เป็นคำนำหน้ารวมถึงถูกใช้หน่วยมาตรวัดใด ๆ มาก่อน

บราวน์ ให้รายละเอียดเพิ่มว่า “มีเพียงตัวอักษร R และ Q ที่ยังไม่ถูกใช้งาน อีกทั้งมีเสียงที่ฟังคล้ายกับชุดตัวอักษรกรีก ที่คำนำหน้าเมื่อกล่าวถึงจำนวนมหาศาลจะลงท้ายด้วยตัวอักษร A และเมื่อพูดถึงจำนวนที่น้อยจะลงท้ายด้วยตัวอักษร O”

ท้ายสุด เขายืนยันด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่โลกต้องการคำศัพท์ใหม่ ๆ ในสภาวะที่ทุกอย่างกำลังขยายตัว และเขาเชื่อว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ โลกของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: