1 ใน 5 ของสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3974 ครั้ง

1 ใน 5 ของสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์

การศึกษาพบราว 1 ใน 5 ของสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเต่ากาลาปากอส มังกรโคโมโดของหมู่เกาะในอินโดนีเซีย และงูพิษ Rhinoceros ที่มีนอคล้ายนอแรดของแอฟริกาตะวันตก ตลอดจนตะโขงอินเดีย ล้วนแต่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2022 ว่าในการประเมินสถานะสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยกล่าวว่า ราวหนึ่งในห้าของสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเต่ากาลาปากอส มังกรโคโมโดของหมู่เกาะในอินโดนีเซีย และงูพิษ Rhinoceros ที่มีนอคล้ายนอแรดของแอฟริกาตะวันตก ตลอดจนตะโขงอินเดีย ล้วนแต่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นักวิจัยได้ทำการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานจำนวน 10,196 สายพันธุ์ รวมทั้งเต่า จระเข้ กิ้งก่า งู และทัวทารา ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งเดียวของสัตว์ตระกูลนี้ที่มีอายุมากกว่า 200 ล้านปีที่ยังเหลือรอดอยู่ และพบว่า 21% ของสัตว์เหล่านี้อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสมาพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่ศึกษาสถานะของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลื้อยคลานที่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 31 สายพันธุ์

นักวิจัยกล่าวว่า สัตว์เลื้อยคลานจำนวนมากกำลังถูกผลักดันให้เข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์ โดยปัจจัยที่คล้ายคลึงกันกับที่เป็นอันตรายต่อบรรดาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังบนบกชนิดอื่นๆ ของโลก เช่น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และปัจจัยที่ทำให้สัตว์เหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตร การตัดไม้และการพัฒนาเมือง การบุกรุกเมือง และการล่าสัตว์นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการรุกรานจากสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ ก็เป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

บรูซ ยัง (Bruce Young) หัวหน้านักสัตววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์อาวุโสที่ NatureServe ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นหัวหน้าร่วมของการศึกษานี้ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature กล่าวว่า “สัตว์เลื้อยคลานแสดงถึงสำคัญและความหลากหลายของต้นไม้แห่งสิ่งมีชีวิต อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศที่พวกมันเกิดขึ้นมาอีกด้วย"

เขากล่าวด้วยว่า การประเมินระดับโลกครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำความเข้าใจกับความจำเป็นในการอนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งตอนนี้เราได้ทราบถึงลำดับความสำคัญ และสิ่งที่เป็นภัยคุกคามที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะปล่อยให้สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้อยู่นอกแผนการอนุรักษ์และความพยายามในการดำเนินการในระดับโลกอีกต่อไป

นอกจากนี้แล้ว รายงานสถานะครั้งก่อนหน้านี้ยังพบว่ามีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำราว 41% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25% และนก 14% ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งนี้การประเมินสถานะสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ จะพิจารณาในเรื่องของการกระจายพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ ภัยคุกคาม และแนวโน้มประชากรของสัตว์แต่ละสายพันธุ์

รายงานระบุด้วยว่า ราว 27% ของสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในป่ากำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่แห้งแล้งซึ่งมีอัตรานี้อยู่ที่ 14% เนื่องจากถูกรุกรานน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดยังมีความเป็นอยู่ที่ดี เช่น จระเข้น้ำเค็มของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดอยู่ในหมวดหมู่ของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์น้อยที่สุด แต่สัตว์ในตระกูลเดียวกันอย่างตะโขงกลับอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

สัตว์เลื้อยคลานที่รู้จักกันดีชนิดอื่นๆ เช่น มังกรโคโมโด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งจกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมี งูจงอาง ซึ่งเป็นงูพิษที่ยาวที่สุดในโลก เต่า Leatherback ซึ่งเป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงอีกัวน่าทะเลแห่งกาลาปากอส และเต่าทะเลกาลาปากอสสายพันธุ์ต่าง ๆ ก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ มีการบันทึกพื้นที่สำคัญหลายๆ แห่งที่มีสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์

ตัวอย่างเช่น ที่แคริบเบียน อีกัวน่าหินจาเมกา และจิ้งเหลนที่เรียกว่า galliwasp หางสีน้ำเงินกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ในแอฟริกาตะวันตก มีกิ้งก่า Perret's montane และงูพิษ rhinoceros ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ที่มาดากัสการ์มี กิ้งก่า Namoroka Leaf และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี เต่าหัวโต ที่ต่างก็อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติด้วย

นีล ค็อกซ์ (Neil Cox) หัวหน้าหน่วยประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย IUCN และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ และยังเป็นหัวหน้าร่วมในการเขียนรายงานการศึกษานี้กล่าวว่า ความร่วมมือและการตกลงร่วมกันในระดับโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดจากการสูญพันธุ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: