นักวิชาการแนะทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า ชี้ค่าไฟฟ้าแพงแต่ทำไม กฟผ. ใกล้ขาดสภาพคล่อง แบกหนี้แสนล้าน คิดใหม่นโยบายพลังงานไฟฟ้า เปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตและราคาจะถูกลง | ที่มาภาพประกอบ: Daniel X. O'Neil (CC 2.0)
เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง แจ้งต่อสื่อมวลชนกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าด้วยการปรับขึ้นค่าเอฟทีแบบเต็มเพดาน 6.12 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นการซ้ำเติมวิกฤติราคาน้ำมันที่ประชาชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆเผชิญอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาระค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นปรับขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นประมาณ 12-14% ราคาน้ำมันเตาเพิ่ม 1.4-1.6 ต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซล 2.3-2.4 บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้น 220-240 บาทต่อตัน จึงเห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตควรทยอยปรับราคาครั้งละไม่เกิน 2 บาทต่อหน่อย ขณะเดียวกัน ควรเจรจากับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานการผลิตไฟจากการไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพขึ้นและลดราคารับซื้อ
กฟผ. ใกล้ขาดสภาพคล่อง แบกหนี้แสนล้าน
ปัญหาสภาพคล่องและการแบกหนี้ของ กฟผ. นั้นเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ. แบกรับค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ) แทนประชาชนมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งต้องแบกภาระหนี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว และอยู่ในภาวะใกล้ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลต้องคิดใหม่เรื่องนโยบายพลังงานไฟฟ้าและนโยบายรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น การให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น กรณีของประเทศไทย การใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhance single buyer model โดย กฟผ. เป็นผู้ซื้อรายเดียวจากเอกชนเพียงไม่กี่รายจากการได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ประสิทธิภาพในแง่อัตราการใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตไฟฟ้าแย่ลงและสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์จะทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า ต้นทุนและราคาไฟฟ้าจะลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ ธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าควรให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงผู้ผลิตไม่กี่ราย สายส่งขนาดเล็กควรแบ่งให้เอกชนดำเนินการในส่วนที่โครงข่ายมีความสมบูรณ์แล้ว ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามลำดับ
ตัวอย่างการการเปิดเสรีในอดีต
การเปิดเสรีเพิ่มขึ้นและการเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตอบสนองต่ออุปสงค์ในการใช้พลังงานไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ดำเนินการแปรรูปบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปขยายกิจการ ในเดือน ธ.ค. 2542 ได้มีการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ โดยพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายกลางที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของรัฐวิสาหกิจประเภทที่มี พระราชบัญญัติจัดตั้งเฉพาะขึ้น เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจแล้วและเริ่มมีการเตรียมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางแห่งและนำรัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การเตรียมการไม่ได้นำไปสู่การดำเนินการในทางปฏิบัติในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มาประสบความสำเร็จในการแปรรูปและนำรัฐวิสาหกิจบางแห่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการนำ ปตท. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2544 การท่าอากาศยานแห่งประเทศในปี พ.ศ. 2545 องค์การสื่อสาร มวลชนแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547
ทั้งนี้มีความพยายามในการแปรรูป “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” และนำ กฟผ. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ระงับการดำเนินการในการพิจารณาแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น อย่างไรก็ตามกระแสของการแปรรูปต้องมาสะดุดและหยุดลงในปี 2549 เมื่อมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างกว้างขวางและรุนแรงโดยมีปัญหาทางการเมืองเข้ามาผสม และในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้สั่งระงับการขายหุ้นของบริษัท กฟผ จำกัด (มหาชน) ทำให้บริษัท กฟผ. ถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการออกพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุนในโครงการต่างๆของรัฐ และลดภาระทางการเงินของรัฐบาลในการจัดหาสินค้าและบริการที่มีการลงทุนสูง อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกิจการของรัฐ โดยการนำเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ ความจริงแล้ว การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐก็เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรูปแบบหนึ่งนั่นเอง เมื่อมีการแปรรูปแล้ว ก็จำเป็นต้องมีองค์กรกำกับดูแลที่ได้มาตรฐานสูงเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาหรือค่าสาธารณูปโภคใดๆอย่างไม่เหมาะสม
ควรเปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การเปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น การแปรรูปและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำพร้อมกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์และอำนาจจากองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมาที่กลุ่มทุนเอกชนผู้รับสัมปทาน โดยสวัสดิการสังคมโดยรวมของสังคมจะแย่ลง นอกจากนี้ ควรเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น รัฐบาลควรจัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า อย่างเช่น จีนได้วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าในอวกาศด้วยแผงพลังงานแสงอาทิตย์โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 2028 รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณหรือค้ำประกันเงินกู้ให้ กฟผ. สำหรับภาระในแบกรับภาระค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล หากรัฐบาลไม่แก้ไขเรื่องนี้ให้ดีอาจกระทบต่อความมั่นคงระบบพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว รวมทั้ง ปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ.
กรณีการใกล้ขาดสภาพคล่องและการแบกหนี้ของ กฟผ. ทั้งที่ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจเกรด A และ มีผลการดำเนินการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่านโยบายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการให้ รัฐวิสาหกิจต่างๆ แบกภาระเอาไว้จำนวนมากนั้น เป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ยั่งยืน และ ซ่อนปัญหาภาระหนี้สาธารณะจำนวนมากเอาไว้ในรัฐวิสาหกิจ ภาระผูกพันหนี้สินเหล่านี้ของรัฐวิสาหกิจจะทำให้ปัญหาฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะอาจรุนแรงกว่าตัวเลขที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะรายงานล่าสุดว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ประมาณ 61% และหนี้สาธารณะน่าจะทะลุระดับ 10 ล้านล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเร็วๆ นี้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ