เนตรชนก ถนอมวงศ์: อดอาหารประท้วง ทดสอบความเป็นคนในสังคมวิปลาส

เนตรชนก ถนอมวงศ์ 16 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4146 ครั้ง


ในวันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (7 พฤษภาคม 2565) เป็นวันที่ 17 ในการอดอาหารประท้วงของน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมวัย 20  อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง และเป็นการอดอาหารในวันที่ 3 ของ เก็ท โสภณ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เพื่อประท้วงที่พวกเขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในคดี 112

การอดอาหารประท้วงเป็นกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าถ้านับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็มีการใช้วิธีนี้กันทั่วโลก เพื่อเป็นการกดดันให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดจนยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง เป็นวิธีที่ปราศจากความรุนแรงแต่ก็เป็นวิธีที่สร้างผลกระทบในระบบต่างๆของร่างกายของผู้ประท้วงเป็นอย่างมาก ถ้าพูดถึงการอดอาหารประท้วงหลายๆคนคงจะรู้จัก มหาตมคานธี ซึ่งเขากลายเป็นสัญลักษณ์อารยะขัดขืนด้วยแนวทางสันติวิธี ที่หนึ่งในนั้นคือการประท้วงอดอาหาร (Hunger Strike) ถ้าอ่านตามประวัติเขาใช้วิธีนี้อยู่ถึง 18 ครั้ง การประท้วงอดอาหารนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงอดอาหารของไอริชในช่วงปี ค.ศ. 1981 (1981 Irish hunger strike) หรือการเรียกร้องสิทธิสตรีในอังกฤษก็เคยใช้วิธีนี้

การใช้วิธีอดอาหารประท้วงก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ‘เพราะอะไร’ หรือ ‘ขึ้นอยู่กับอะไร’ การถือศีลอดอาหารประท้วงตามคติอหิงสาของคานธีมีอยู่ 7 ประการ

  1. คนที่กระทําผิดต้องมีความรักต่อผู้อดอาหารประท้วง และผู้อดต้องรักฝ่ายที่ตนจะประท้วงด้วย หากผู้กระทําผิดไม่ทราบเรื่องนี้ หรือมีทรรศนะไม่แยแสต่อผู้อดแล้ว การประท้วงก็ไม่มีผลใดๆ
  2. ผู้อดอาหารประท้วงจะต้องอยู่ในฝ่ายที่ถูกกระทํา และถูกกระทบกระเทือนจากความอยุติธรรมด้วย
  3. ผู้อดอาหารประท้วงต้องปลอดจากการกระทําผิดชนิดที่ตนตั้งใจประท้วงอยู่
  4. ผู้อดอาหารประท้วงต้องเป็นบุคคลบริสุทธิ์สะอาด และฝ่ายที่กระทําผิดต้องเห็นเช่นนั้นด้วย
  5. ผู้อดอาหารประท้วงต้องไม่กระทําไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนใด ๆ
  6. ผู้อดอาหารประท้วงต้องปราศจากความโกรธในตน มีเฉพาะเมตตาธรรมในการประท้วง
  7. การกระทําผิดที่เกิดขึ้นต้องเป็นกรณีที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าผิด เป็นอันตรายในทางจิตวิญญาณ และผู้กระทําผิดต้องตระหนักในความผิดของตนด้วย”

หากพิจารณาตามคติอหิงศาของคานธีในประการแรกที่ได้บอกไว้ว่า

“คนที่กระทําผิดต้องมีความรักต่อผู้อดอาหารประท้วง และผู้อดต้องรักฝ่ายที่ตนจะประท้วงด้วย หากผู้กระทําผิดไม่ทราบเรื่องนี้ หรือมีทรรศนะไม่แยแสต่อผู้อดแล้ว การประท้วงก็ไม่มีผลใดๆ”

ในส่วนนี้เหมือนกับคานธีกำลังจะบอกว่า คนที่จะเห็น และเข้าใจว่าผู้ที่กำลังอดอาหารประท้วงกำลังมีความทุกข์ยากมากขนาดไหนต้องเป็นคนที่รักกัน การใช้วิธีนี้จึงจะได้ผล บทความของชาญณรงค์ บุญหนุนเรื่อง  “แด่. . .ไผ่ ดาวดิน การอดอาหารประท้วง สันติวิธีที่ผิดที่ผิดทาง ?”ก็ได้ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่มีกรณีพระภิกษุบางรูปก่อนบวชเป็นพระนั้นเป็นพรามหมณ์มาก่อน เป็นบุตรของตระกูลพรามหณ์แต่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมก็เลื่อมใสขอบวชเป็นพระ แต่พระพุทธเจ้าให้ไปขออนุญาตจากพ่อแม่ก่อน แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากเป็นบุตรคนเดียวของตระกูล เมื่ออ้อนวอนแล้วไม่ได้ผล เขาจึงอดอาหารประท้วงจนพ่อแม่ยอมอนุญาตให้บวช ซึ่งในบทความเป็นการยกตัวอย่างกรณีที่เป็นพ่อ แม่ ลูกเพื่อสนับสนุนว่าการจะใช้วิธีอดอาหารประท้วงจะต้องใช้ในคนที่รักกันเท่านั้น แต่ในมุมมองของผู้เขียนมองว่าต่อให้ผู้ประท้วงและผู้ถูกประท้วงไม่ได้รักกัน แต่อย่างน้อยที่สุดในด้านมนุษยธรรมก็ไม่ควรที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งที่ผู้ประท้วงกำลังจะสื่อสาร เหตุการณ์ที่คล้ายๆกันนี้ในประเทศไทยได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีของไผ่ ดาวดิน ที่อดอาหารประท้วงเรื่องกระบวนการประชามติที่ไม่เสรี และการจับกุมที่ไม่ยุติธรรม การอดอาหารประท้วงของพริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพื่อประท้วงที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในคดี 112 แต่ในเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมานี้สังคมไทยค่อนข้างเพิกเฉย ผู้เขียนมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่พยายามจะขายเรื่อง คนไทยเป็นคนใจดี สยามเมืองยิ้ม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และมักจะประกาศว่าเป็นสังคมเมืองพุทธทั้งๆที่จริงก็มีคนในสังคมที่นับถือศาสนาที่หลากหลายหรือไม่นับถือศาสนาใดเลย การที่คนไทยพยายามขายความเป็นเมืองพุทธ ก็เหมือนพยายามจะโยงไปให้ผู้อื่น หรือประเทศอื่นเห็นว่าเป็นคนใจบุญ สุนทาน แต่เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าผู้ที่ถูกประท้วง หรือสังคมค่อนข้างเพิกเฉย เงียบให้กับความอยุติธรรมแบบนี้ ยิ่งผู้ที่ถูกประท้วงหรือสังคมนี้เงียบให้กับความอยุติธรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดทอนความเป็นมนุษย์ในตัวของบุคคลนั้นๆอย่างมาก และมันยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดมากขึ้นว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความ ‘ดัดจริต’ เพราะสิ่งที่พยายามประกาศให้ประเทศอื่นๆมองภาพลักษณ์ว่าประเทศฉันดี คนไทยใจดี เป็นคนใจบุญ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ก็เป็นเพียงแค่ผักชีโรยหน้า

การประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นวิธีการสื่อสารของเสรีชนที่สันติอย่างที่สุด เพราะประชาชนคนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจหรือ อาวุธ ใดๆ เป็นวิธีการที่ผู้เขียนมองว่าต้องมีความเสียสละเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าเมื่ออดอาหารเป็นเวลานานๆร่างกายย่อมอ่อนแอลงไป และจะเกิดภาวะที่ทำให้ร่างกายขาดสมดุลของสารเคมีต่างๆ ถึงแม้ร่างกายจะอ่อนแอลงไปแต่ขอนับถือหัวใจที่แข็งแกร่งมาก หัวใจที่ไม่เกรงกลัวต่อความ อยุติธรรมในรัฐที่เป็นเผด็จการ ในสังคมวิลาสผิดปกติเช่นนี้ เหตุการณ์ที่ต้องมีนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแต่ได้รับความไม่ยุติธรรมและต้องถูกจับไปขังเช่นนี้บ่อยๆในสังคมวิปลาสนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเพลง “ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ’ ของวงสามัญชนในท่อนที่ว่า

“สักวันหนึ่งเราจะกลับมาพบกันเพื่อนรัก คงไม่นานนัก ถ้าตีนยังเหยียบย่ำอยู่บนดิน แม้อยู่ใต้ฟ้า ชะตากำหนดจากคนบนดิน ก่อนร่างจะพลิกลงดิน ผีเสื้อจะบินไปถึงดวงดาว”  

รอคอยในวันที่ทุกคนจะได้ออกมาใช้ชีวิต รอคอยในวันที่ความฝันของเสรีชนจะได้เห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย และรอคอยวันที่ประชาชนในประเทศจะมีมนุษยชน มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน

 

อ้างอิง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2564). สันติวิธี อดอาหารประท้วง. ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม. สืบค้นจาก http://www.polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=498

ชาญณรงค์ บุญหนุน. (2559).  ‘แด่. . .ไผ่ ดาวดิน การอดอาหารประท้วง สันติวิธีที่ผิดที่ผิดทาง ?’. ประชาไท. สืบค้นจาก http://www.prachatai.com/journal/2016/08/67509

"เพนกวิน พริษฐ์ อดอาหารประท้วงครบ 30 วัน ครอบครัวเผยน้ำหนักลดลงเกือบ 20 กิโลฯ ขณะที่รุ้ง ปนัสยา เอง ก็อดอาหารครบ 16 วันแล้ว". The Matter. สืบค้นจากhttps://thematter.co/brief/140515/140515

“อดอาหารประท้วง” ไม่ใช่ “ฆ่าตัวตาย” โดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์. (2559). Matichon online. สืบค้นจาก     https://www.matichon.co.th/columnists/news_253996

Sweeney, George. (1993). "Irish Hunger Strikes and the Cult of Self-Sacrifice". Journal of   Contemporary History. 28 (3): 421–422.

         

         

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: