เราต้องบริหารจัดการทรัพยากรบนฐานการยอมรับความแตกต่าง หลากหลาย

มานพ คีรีภูวดล 16 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3284 ครั้ง


40,000 กว่าคดี อันเนื่องมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า คสช. นโยบายสร้างภาพ กดทับประชาชน วันนี้คดีแห้ง (คดีที่ไม่พบผู้กระทำความผิด) คาไว้ที่โรงพัก ไม่ดำเนินการใดๆ จะเข้าสู่มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานปี 2562 ก็ไม่ได้

หลายคดี เขาได้สิทธิ์คุ้มครองตาม มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ก็ยังโดนทวงคืน ประชาชนจำนวนหนึ่งจะใช้สิทธิ์ฟ้องกลับตามช่องทางว่าด้วย 157 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ทั้ง ๆ ที่แนวทางในทางปฏิบัติก็ชัดเจนครับว่าด้วย มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ภาพถ่ายปี 2545 คำสั่ง คสช.ที่ 66/67 ถาพถ่ายปี 2557 แต่ระดับปฏิบัติการในบางพื้นที่มีอคติในการทำงาน จึงก่อปัญหาไม่จบสิ้น

หลายพื้นที่รังวัดแนวเขตที่ดินไม่รู้กี่รอบ โดยความร่วมมือของกรมอุทยานเอง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แต่มาวันนี้มีชุดปฎิบัติการใหม่ ไม่ยึดโยงข้อมูลเดิมที่เคยทำ แล้วที่ผ่านมาที่ทำร่วมกับประชาชนมันคืออะไร

เสนอให้ร่วมกับ ปกครอง ท้องที่ ท้องถิ่น มาทำเป็นกลไกระดับพื้นที่ แชร์งบประมาณ แชร์บุคลกร แชร์เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อความมีส่วนร่วมและรวดเร็ว ลดข้อแย้ง ก็ไม่ทำ

ภูเขา ลำห้วย ลุ่มน้ำ 1 แห่ง มีทั้งความรับผิดชอบของ กรมอุทยาน กรมป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่แตกต่าง แต่เวลาทำงาน แยกกันที่ละกรม ทั้ง ๆ ที่อยู่กระทรวงเดียวกัน

ภูเขา ลำห้วย ลุ่มน้ำ มันไม่เคยแยกตามกฎหมายและงบประมาณที่คุณตั้งไว้ในแต่ละปี เสนอให้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน ใช้ อปท.ในพื้นเป็นคนเชื่อมให้ร่วมกันทำงาน ก็ไม่ทำ

ทั้งหมดนี้จึงอดคิดไม่ได้ว่า จะดำรงปัญหาไว้เพื่อการใดๆบางประการหรือไม่ ผมเชื่อว่าคนในกลไกรัฐ ในกระทรวง ในกรม มีปัญญาความสามารถพอ แต่เลือกที่จะใช้ปัญญานำการแก้ไข หรือเลือกที่จะทำตามงบประมาณ หรือเหตุผลอื่น ๆ หรือไม่อย่างไรอันนี้พี่น้องประชาชนต้องตรวจสอบร่วมกันต่อไป

มาดูเรื่อง คทช.ยิ่งปวดหัวกันใหญ่เลยครับ ปัญหา ข้อมูล ข้อเท็จจริง อยู่ในพื้นที่ แต่มาตั้งกลไกที่ส่วนกลางในการตัดสินใจ ง่าย ๆ ครับผมเสนอให้ทำข้อมูลทุกแปลง ทุกแนว โดยกลไกระดับพื้นที่ พอได้ข้อมูลแล้วค่อยมาจัดใส่ว่าแต่ละส่วนมันจะเอาเข้าช่องไหนที่นโยบายเปิดไว้แล้ว แบบนี้แก้ไขปัญหาได้จริงและรวดเร็ว หากเอาตามที่ คทช. วางไว้อีก 100 ปี ก็ไม่จบสิ้น

มีทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือกระจายอำนาจการดำเนินงานในระดับพื้น ให้พื้นที่หาวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายว่าด้วยฐานข้อมูล และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ส่วนเรื่องสิทธิการใช้ประโยชน์ค่อยมาดูว่าจะอยู่ในแนวทางใดเท่าที่มีอยู่ หรือหารูปแบบสิทธิ์ที่สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ Manop Keereepuwadol-มานพ คีรีภูวดล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: