งานวิจัยโดย Faunalytics แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคสำหรับผู้คนที่เริ่มวิถีการบริโภคแบบวีแกนเป็นครั้งแรกและเสนอแนวทางการสนับสนุน
16 พ.ย. 2565 รายงานล่าสุดโดย Faunalytics เผยผลวิเคราะห์เกี่ยวกับอุปสรรคที่ผู้คนที่เริ่มบริโภคอาหารวีแกนและมังสวิรัติเป็นครั้งแรกพบบ่อยที่สุด และแสดงวิธีก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ หลังการสำรวจผู้เข้าร่วม 222 คน นักวิจัยพบว่า ข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพและความยากในการทำให้วิถีวีแกนเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเป็นหนึ่งในหลายๆ อุปสรรคที่ผู้เข้าร่วมเอ่ยถึงบ่อยที่สุด
“ผู้คนไม่ค่อยทราบประโยชน์ด้านสุขภาพของอาหารแพลนต์เบส และหาการสนับสนุนจากคนรอบตัวได้ยากเมื่อพวกเขาตัดสินใจเป็นวีแกน แต่ข่าวดีก็คือเรามีชุมชนชาววีแกนที่แน่นแฟ้นที่คอยให้ข้อมูลโภชนาการฟรีรวมถึงการสนับสนุนจากสังคม” ชิสากัญญ์ อารีพิพัฒน์ ผู้จัดการโครงการท้าลอง 22 วันจากซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าว ซิเนอร์เจีย แอนิมอลเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์สากลที่จัดโครงการท้าลอง 22 วันให้ฟรีสำหรับผู้คนที่ต้องการเริ่มใช้วิถีชีวิตแบบวีแกนและพบปะผู้คนใหม่ๆ ในเวลาเดียวกัน
ตำนานที่ห่างไกลจากความเป็นจริง
งานวิจัยเผยว่าผู้คนที่กำลังเปลี่ยนไปบริโภคอาหารแพลนต์เบสและไม่มีความมั่นใจเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพมีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ภายใน 6 เดือนแรกมากกว่าถึงสามเท่า
“พวกเราหลายๆ คนโตมากับคำบอกที่ว่าเราต้องดื่มนมวัวและกินเนื้อเพื่อให้ได้รับแคลเซียมและโปรตีน และหากไม่กินเราอาจมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ซึ่งคำกล่าวนั้นไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย” ชิสากัญญ์กล่าว “อาหารเช่น งา ถั่วเหลือง และผักโขมเป็นแหล่งของแคลเซียมที่ดี และหากเราพูดถึงโปรตีน ก็มีตัวเลือกที่มาจากพืชมากมายที่หาได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น เต้าหู้ เทมเป้ ถั่วลันเตา และอีกหลายๆ อย่างที่ไม่เพียงแต่ไม่ทารุณสัตว์เท่านั้น แต่ยังดีต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อสัตว์อีกด้วย”
ในขณะเดียวกันที่องค์การอนามัยโลกจัดประเภทเนื้อสัตว์ให้เป็นสารก่อมะเร็ง งานวิจัยอีกมากมายยังแสดงให้เห็นว่าอาหารแพลนต์เบสเชื่อมโยงกับการป้องกันการเกิดของโรคมะเร็งลำไส้และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจที่น้อยลงถึง 32 เปอร์เซ็นต์
ปูทางให้ไลฟ์สไตล์ใหม่
งานวิจัยโดย Faunalytics ชี้ว่าวิธีช่วยผู้คนให้เริ่มใช้ไลฟ์สไตล์แบบวีแกนคือการให้การสนับสนุนจากสังคม และผู้ที่ลองจะต้องมีความสามารถในการบริโภคอาหารแพลนต์เบสโดยไม่มีข้อจำกัด
“เพราะการเริ่มบริโภคอาหารแพลนต์เบสอาจหมายถึงการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของหลายๆ คน การหากลุ่มสนับสนุนและการพบปะผู้คนที่มีความสนใจเช่นเดียวกันสามารถช่วยทำให้วิถีวีแกนเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนพวกเขาได้” ชิสากัญญ์กล่าว
ในประเทศไทย โครงการท้าลอง 22 วันของซิเนอร์เจีย แอนิมอลมุ่งมั่นที่จะเชิญชวนผู้คนให้เข้าร่วมกลุ่มของโครงการ “เมื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการท้าลอง 22 วัน ผู้เข้าร่วมที่สนใจอยากรับประทานอาหารที่เมตตาสัตว์จะได้รับคำแนะนำจากนักกำหนดอาหารมืออาชีพฟรี พบปะผู้คนที่มีความคิดเห็นเหมือนๆ กัน และสร้างแรงบันดาลใจที่จะรับประทานอาหารแบบวีแกนต่อๆ ไป”
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการท้าลอง 22 วันที่ https://www.thaichallenge22.org/
เกี่ยวกับซิเนอร์เจีย แอนิมอล ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในกลุ่มประเทศ Global South เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและส่งเสริมทางเลือกอาหารที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ เราได้รับการจัดอันดับโดย Animal Charity Evaluators (ACE) ให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ