ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เคาะฉันทมติขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม CCC เก็บสถิติ-เชื่อมโยงข้อมูลการออกกำลังกายและเล่นกีฬาของประชาชน ต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายกระตุ้นคนไทยเกินครึ่งประเทศ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอภายในปี 2570
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน
สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพในครั้งนี้ ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพได้ร่วมกันให้ฉันมติเห็นชอบระเบียบวาระดังกล่าว เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา กิจกรรมทางกาย และการจัดแข่งขันกีฬา โดยใช้แพลตฟอร์ม CCC เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น จูงใจ ด้วยการสะสมปริมาณแคลอรี่ที่ได้จากกิจกรรมต่างๆ และจัดเก็บเป็นข้อมูลกลาง (Big Data) สำหรับติดตามประเมินผลพร้อมนำมาเชื่อมโยงกับ BCG Model ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับสร้างสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CCC เป็นแพลตฟอร์มกลางในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการออกกําลังกาย การเล่นกีฬา รวมถึงกิจกรรมทางกายเป็นรายบุคคล ในรูปแบบการสะสมจำนวนแคลอรี่ โดยสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเสริมสร้างการออกกําลังกายและเล่นกีฬาของคนไทย ให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นวิถีชีวิต
“เรายินดีอย่างยิ่งที่ สช. และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้การสนับสนุนและเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม CCC และนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ประชาชนในประเทศออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ อันเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นายพิพัฒน์ กล่าว
นพ.กิจจา เรืองไทย ในฐานะประธานการพิจารณา กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เห็นร่วมกันว่า ปัจจุบันประชากรในไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะส่งผลถึงสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดระดับค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศลงได้ จึงมีฉันทมติร่วมกันในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ประชากรในประเทศออกกำลังกายมากขึ้น ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม CCC เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและกระตุ้น
“หลังจากที่เรามีฉันทมติร่วมกันในครั้งนี้แล้ว ยังอยากเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 ซึ่งในวันดังกล่าวจะเป็นการนำระเบียบวาระนี้ และอีก 2 ระเบียบวาระ คือเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน และเรื่องหลักประกันรายได้คนไทย เข้ามารับรองและสร้างความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมต่อไป”
นพ.กิจจา กล่าว
ขณะเดียวกันบนเวทีเสวนา “สุขภาพดี คือ ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน” (Health is Wealth) ที่จัดขึ้นภายในวันเดียวกัน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้แม้เราจะเห็นแนวโน้มของคนในสังคมมีการออกกำลังกายกันมากขึ้น แต่เราก็ยังอยากเห็นภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งในฐานะแพทย์โรคหัวใจก็ต้องสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะแน่นอนว่าการออกกำลังกายนั้นคือวัคซีนที่จะช่วยป้องกันได้หลายโรค และการมีสุขภาพดีก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการไปรักษาพยาบาล ซึ่งสิ่งนี้เองก็จะสะท้อนกลับมาเป็นความมั่งคั่งต่อทั้งบุคคลและต่อประเทศได้
“อะไรที่เป็นการแข่งขันจะเป็นการกระตุ้นและช่วยให้เกิดการทำที่ต่อเนื่อง และ CCC ก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะช่วยให้เราเดินหน้าสู่แผนยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้คนไทยอย่างน้อย 50% มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอภายในปี 2570 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนการออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก เพราะจากข้อมูลทางการแพทย์แสดงให้เราเห็นว่า หากคนมีการออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก จะทำให้คนนั้นมีพฤติกรรมออกกำลังกายไปได้ต่อเนื่องมากกว่า” ศ.นพ.นิธิ
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้บริหารเมืองจะไปมองเรื่องของสุขภาพแบบเหมารวมอีกต่อไปไม่ได้ แต่จะต้องมองให้เป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการมองเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวางแผน วิเคราะห์ พัฒนา และออกแบบนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนมีการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะของคนในสังคมได้มากขึ้น
“จ.ยะลา ได้เริ่มนำร่องใช้แพลตฟอร์ม CCC มาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะเราให้ความสำคัญกับการใช้ฐานข้อมูลเพื่อบริหารบ้านเมือง อย่างเรื่องของการออกกำลังกาย เราก็อยากเก็บข้อมูลคนที่ออกประจำมาเทียบกับคนที่ไม่ได้ออก เพื่อมาประเมินและยืนยันให้เห็นว่าการลงทุนไปกับการส่งเสริมกิจกรรม สถานที่ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อการออกกำลังกายนั้น มีความคุ้มค่าเพียงใด และต่อไปในเรื่องสุขภาพถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ เช่น จุดไหนมีการเจอคนเป็นโรคใดมาก ก็จะสามารถออกแบบนโยบายเพื่อส่งเสริมและป้องกันตามพฤติกรรมของแต่ละพื้นที่ได้” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากตัวเลขข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2544 พบว่ามีคนไทยที่ออกกำลังกายด้วยการเดินและวิ่ง ประมาณ 5.8 ล้านคน ขณะที่กิจกรรมงานวิ่งในยุคนั้นเองก็มีไม่ถึงหลักร้อยงาน แต่เมื่อมาถึงช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 กิจกรรมการวิ่งในไทยนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลผลสำรวจจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีคนไทยออกกำลังกายด้วยการเดินและวิ่ง มากถึง 16 ล้านคน ประกอบกับกิจกรรมงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,000 งานต่อปี สะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการวิ่งในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นายณรงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมา เรากลับไม่เคยรู้ข้อมูลเลยว่าคนที่วิ่งเหล่านั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน กลายเป็นสิ่งที่เราสงสัยมาตลอด จึงทำให้สถิติเหล่านี้ยังไม่ใช่ข้อมูลที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นแพลตฟอร์ม CCC จึงมีความน่าสนใจหากสามารถนำมาขยายผลให้เกิดประโยชน์ นำข้อมูลมาใช้และกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความตื่นตัว เปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย ซึ่งหากทำได้ก็มั่นใจได้ว่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ