Rocket Media Lab สำรวจข้อมูลถนนและซอยในกรุงเทพฯ พบในช่วงปี 2560-2564 เขตที่มีการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนมากที่สุด คือเขตลาดกระบัง 34 โครงการ ในขณะที่เขตคลองสาน คันนายาว และบางนา ไม่มีโครงการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนในแผนปฏิบัติราชการของสำนักการโยธาเลย | ที่มาภาพประกอบ: Olgaozik
- ถนนและซอยในกรุงเทพฯ มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่ 3 ประเภทหน่วยงาน คือ สำนักการโยธา กทม., สำนักงานเขต, และหน่วยงานที่ไม่ได้สังกัด กทม. เช่น กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปจนถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานทางทหาร
- จากงบฯ ของ กทม. ปี 2516-2565 สำนักการโยธาเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบฯ มากที่สุด สูงถึง 173,497,685,168 บาท โดยสำนักการโยธาจะมีแผนงานพัฒนาการโยธาและระบบจราจร ที่ดูแลการก่อสร้างและปรับปรุงถนนในกรุงเทพฯ
- ในช่วงปี 2560-2564 เขตที่มีการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนมากที่สุด คือเขตลาดกระบัง 34 โครงการ ในขณะที่เขตคลองสาน คันนายาว และบางนา ไม่มีโครงการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนในแผนปฏิบัติราชการของสำนักการโยธาเลย
- ในปี 2564 สำนักการโยธา มีการสร้างและซ่อมแซมปรับปรุงถนน 36 โครงการ งบฯ 1,153,661,000 บาท เขตที่ปรากฏงบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอยมากที่สุดคือ ลาดกระบัง 256,642,000 บาท เขตที่ไม่ปรากฏการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมถนน ตรอกซอกซอยมีถึง 26 เขต
- ในปี 2564 สำนักการโยธา มีการซ่อมแซมปรับปรุงทางเท้า 19 โครงการใน 17 เขต รวม 384,713,000 บาท โดยเขตที่มีการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้ามากที่สุด คือ ลาดกระบัง 66,000,000 บาท เขตที่ไม่ปรากฏการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าเลยมี 18 เขต
- สัดส่วนงบฯ จัดการถนนและจัดการทางเท้า จากสำนักการโยธา ในปี 2564 ต่างกันถึงร้อยละ 40.6 ของงบฯ โครงการทั้งหมด โดยที่ถนนได้รับงบฯ สูงถึง 1,509,357,000 บาท ในขณะที่ทางเท้ามีเพียง 740,409,000 บาท
- ทางเท้าไม่เคยอยู่ในแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ เลย จนกระทั่งมีแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ในยุคของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ถนนในกรุงเทพฯ ใครดูแลบ้าง
จากข่าวถนนลูกคลื่นในเขตดอนเมือง ที่สุดท้ายแล้วเป็นความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำให้หลายคนสงสัยว่า ถนนในกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในความรับผิดชอบของใครบ้าง
จากการทำงานของ Rocket Media Lab พบว่า ถนนและซอยในกรุงเทพฯ นั้น มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอยู่ 3 ประเภทหน่วยงานก็คือ
- สำนักการโยธา กทม.
- สำนักงานเขต
- หน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือไปจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพฯ เช่น กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปจนถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานทางทหาร
ความรับผิดชอบของสำนักการโยธาและสำนักงานเขตนั้น ยังแยกได้เป็นสองรูปแบบคือ ถนนและซอยที่ขึ้นทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไว้แล้ว และที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน โดยถนนหรือซอยที่ขึ้นทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นนั้นหมายความว่า เป็นถนนหรือซอยที่ก่อสร้างโดยงบฯ ของท้องถิ่น และเมื่อนำไปขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่นแล้ว ก็จะสามารถของบฯ จากกรมทางหลวง (รัฐบาลกลาง) ในการซ่อมบำรุงได้ นอกเหนือไปจากการใช้งบฯ ของท้องถิ่นเอง
เขตที่มีจำนวนถนนในการดูแลมากที่สุด อ้างอิงตามข้อมูลของสำนักการโยธา คือ เขตพระนคร มีถนน 77 สาย ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่นแล้ว 63 สาย ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 4 สาย ทำให้พระนครเป็นเขตที่มีถนนที่เป็นทางหลวงท้องถิ่นมากที่สุด ในส่วนของซอยนั้น เขตที่มีจำนวนซอยมากที่สุดคือ ดินแดง 207 ซอย แต่ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่นเพียง 56 ซอย ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน 151 ซอย ส่วนเขตที่มีซอยที่เป็นทางหลวงท้องถิ่นมากที่สุดก็คือ หนองแขม 172 ซอย
สำหรับเขตที่มีถนนในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้สังกัด กทม. มากที่สุดคือ จตุจักร โดยอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย 7 สาย และกรมทางหลวง 1 สาย
งบฯ ทำถนน มากแค่ไหน ทำไมถนนในกรุงเทพฯ ไม่เรียบสักที
จากข้อมูลงบฯ ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2516-2565 จะพบว่า งบฯ ของสำนักการโยธา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้าง บูรณะและบำรุงรักษาการก่อสร้างต่างๆ ในกรุงเทพฯ เป็นสำนักที่ได้งบฯ มากที่สุด สูงถึง 173,497,685,168 บาท โดยสำนักการโยธาจะมีแผนงานพัฒนาการโยธาและระบบจราจรที่จะดูแลการก่อสร้างและปรับปรุงถนนในกรุงเทพฯ
ในการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนนั้น จะมีงบฯ อยู่ 3 ก้อนหลักๆ คือ 1) งบฯ กลาง 2) งบฯ สำนักการโยธา และ 3) งบฯ สำนักงานเขต
1. งบฯ กลาง เป็นงบฯ ที่ กทม. จะตั้งงบฯ ไว้ก้อนหนึ่งและจะกำหนดว่าจะใช้ในเรื่องอะไรได้บ้าง ซึ่งจะได้ใช้จริงหรือไม่ก็ได้ เหมือนเป็นเงินสำรองหรืองบฯ ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม การทำตามนโยบายที่รัฐมอบหมาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ โครงการพระราชดำริ หรืออุดหนุนสำนักงานเขต
ในส่วนของการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนนี้ก็มีการบรรจุไว้ในงบฯ กลางเช่นเดียวกัน โดยก่อนปี 2548 งบฯ กลางส่วนนี้เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ปรับปรุง เพื่อเพิ่มถนนตรอกซอกซอย” ซึ่งหมายความว่าเป็นงบฯ ในการ ‘สร้าง’ มากกว่าจะเป็นการปรับปรุงซ่อมแซม งบฯ กลางที่เป็นการปรับปรุงซ่อมแซมถนนนั้นเพิ่งจะเริ่มมีเมื่อปี 2549 โดยตั้งไว้ว่าเป็นงบฯ “ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างปรับปรุง ซ่อมแซมถนน ตรอก ซอย และสิ่งก่อสร้าง” ซึ่งเคยตั้งไว้สูงสุดถึง 839,370,000 บาท ในปี 2556 และต่ำสุด 91,391,000 บาท ในปี 2553 แต่โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 200,000,000-400,000,000 บาท และในช่วงสามปีที่ผ่านคือปีงบฯ 2563-2565 ไม่มีการตั้งงบฯ กลางในส่วนนี้ไว้
2. งบฯ โครงการต่างๆ ของสำนักการโยธา ซึ่งแต่ละปีจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ว่าจะมีการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนหรือซอยเส้นไหนบ้าง ตัวอย่างเช่น ในงบฯ ปี 2564 สำนักการโยธา ได้รับงบฯ 8,449,463,700 บาท แบ่งออกเป็น งบแผนงานบริหารทั่วไป แผนงานการโยธา และแผนงานพัฒนาการโยธาและจราจร โครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนจะอยู่ในแผนงานพัฒนาการโยธาและจราจร
ในปี 2564 สำนักการโยธา มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำถนนทั้งหมด 67 โครงการ แต่เป็นโครงการที่ทำเฉพาะถนน 36 โครงการ งบฯ 1,153,661,000 บาท เขตที่ปรากฏว่ามีการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอยมากที่สุดคือ ลาดกระบัง 256,642,000 บาท ตามมาด้วยบางคอแหลม 138,732,000 บาท หนองจอก 110,955,000 บาท ตลิ่งชัน บางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ เขตละ 80,000,000 บาท เขตที่ปรากฏว่ามีการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอยน้อยที่สุดคือ พระนคร 7,000,000 บาท บางบอน 9,500,000 บาท วัฒนา 12,317,000 บาท และสวนหลวง 13,236,000 บาท ในขณะที่เขตที่ไม่ปรากฏการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมถนน ตรอกซอกซอยมีถึง 26 เขต ได้แก่ คลองสาน คลองสามวา คันนายาว จอมทอง ดอนเมือง ทุ่งครุ ธนบุรี บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท พระโขนง ภาษีเจริญ มีนบุรี ราษฎร์บูรณะ ลาดพร้าว วังทองหลาง สะพานสูง สัมพันธวงศ์ สายไหม หนองแขม และหลักสี่
และ 3. งบของสำนักงานเขต ซึ่งแต่ละปีงบฯ จะมีโครงการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอย ในส่วนที่สำนักงานเขตรับผิดชอบโดยตรง ที่ไม่ใช่ถนนหรือซอยในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา ถนนหรือซอยที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร โดยมี 44 เขตที่ปรากฏงบฯ สร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอย รวม 635,647,900 บาท โดยเขตที่ปรากฏว่ามีการใช้งบฯสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอยมากที่สุดคือ บางขุนเทียน 60,042,000 บาท ตามมาด้วยประเวศ 54,114,000 บาท หนองจอก 43,468,000 บาท และทุ่งครุ 42,989,000 บาท เขตที่ปรากฏว่ามีการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอยน้อยที่สุดคือ บางพลัด 1,482,000 บาท บางกอกใหญ่ 1,583,500 บาท บางกอกน้อย 2,260,800 บาท และพระนคร 3,076,000 บาท ในขณะที่เขตที่ไม่มีการปรากฏการใช้งบฯสร้างและปรับปรุงซ่อมถนน ตรอกซอกซอยมี 7 เขต ได้แก่ คลองเตย ดุสิต ยานนาวา ป้อมปราบศัตรูพ่าย จอมทอง คลองสาน และธนบุรี
นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานเขต ยังมีงบที่เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาถนน ตรอก ซอยและสิ่งสาธารณประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน” สำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมตามการร้องเรียนของประชาชนเป็นจุดๆ ไม่ได้ทำทั้งเส้นทาง และไม่ได้ใช้เฉพาะเพียงถนนหรือซอยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทางเท้า สะพานลอย ฯลฯ ด้วย
5 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ สร้าง-ซ่อมถนนตรงไหน เท่าไรแล้วบ้าง
Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลงบประมาณการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนหนทางในกรุงเทพฯ โดยอ้างอิงจากแผนปฏิบัติราชการสำนักการโยธาตั้งแต่ปี 2560-2564 เพื่อดูจำนวนโครงการในการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนในกรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ใช้เงินในการสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนหนทางไปแล้วกว่า 10,728,885,504 บาท ใน 198 โครงการ
เขตที่มีการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนมากที่สุด ได้แก่ ลาดกระบัง เป็นจำนวน 34 โครงการ ตามด้วยบางกะปิ 19 โครงการ สะพานสูง 13 โครงการ ดินแดง 12 โครงการ หนองจอก 11 โครงการ จตุจักรและเขตห้วยขวาง เขตละ 10 โครงการ
ขณะที่เขตที่ไม่ปรากฏโครงการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนในแผนปฏิบัติราชการสำนักการโยธาเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ เขตคลองสาน คันนายาว และบางนา ส่วนเขตที่มีการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนน้อย คือ ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางบอน สายไหม หลักสี่ หนองแขม และภาษีเจริญ โดยมีเพียงเขตละ 1 โครงการเท่านั้น
หากมาดูในเรื่องของการใช้งบฯ จะพบว่ามีการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบัง 4,395,724,106 บาท ตามมาด้วยบางกะปิ 3,589,753,106 บาท สะพานสูง 3,308,601,106 บาท บางขุนเทียน 825,080,000 บาท และหนองจอก 580,004,000 บาท
เขตที่ไม่ปรากฏว่ามีงบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนเลย คือ คลองสาน คันนายาว และบางนา ส่วนเขตที่มีการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนนน้อย คือ บางกอกใหญ่ 4,149,000 บาท และธนบุรี 6,900,000 บาท
แล้วกรุงเทพฯ ดูแลทางเท้ามากแค่ไหน
จากการสำรวจข้อมูลเรื่องแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของ Rocket Media Lab พบว่าประเด็นเรื่องการปรับปรุงพัฒนาทางเท้านั้น ไม่เคยปรากฏในแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ เลย ถึงแม้ว่าทางเท้าจะเป็นสิ่งที่มาคู่กับการทำ ‘ถนน’ ก็ตาม โดยในแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 ปี ประเด็นเรื่องทางเท้าที่ถูกกล่าวถึงในแผนพัฒนามักจะเป็นเรื่องหาบเร่แผงลอยเสียมากกว่า ทำให้เห็นว่าแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพทางเท้ามาก่อนเลย
ประเด็นเรื่องคุณภาพทางเท้าเพิ่งจะมาปรากฏในแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ในยุคของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องคุณภาพทางเท้าในหมวด ‘มหานครสีเขียวสะดวกสบาย’ หมวดย่อยว่าด้วยระบบขนส่งมวลชนทั่วถึง สะดวก ประหยัด จราจรคล่องตัวและมีทางเลือก โดยวางแนวนโยบายไว้ว่า “พลเมืองกรุงเทพฯ สามารถสัญจรด้วยเรือ จักรยาน ทางเดินเท้าอย่างสะดวก ปลอดภัย” ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการกล่าวถึงการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพทางเท้าโดยตรง แต่ก็เป็นครั้งแรกที่แผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ บรรจุเรื่องทางเท้าลงไปในแผน หลังจากที่ไม่เคยมีเรื่องทางเท้ามานานถึง 36 ปี
การใช้งบฯ ปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้ามีความคล้ายคลึงกันกับงบฯ การสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน โดยในส่วนแรกอาจจะมาจากงบฯ กลาง ก้อนเดียวกันกับของถนน เพราะงบฯ กลางในส่วนนั้นรวมถึง ‘สิ่งก่อสร้าง’ ด้วย
ส่วนที่สองคืองบฯ โครงการต่างๆ จากสำนักการโยธา ซึ่งจะมีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าในแต่ละปี โดยในปี 2564 พบว่ามีจำนวน 19 โครงการใน 17 เขต รวม 384,713,000 บาท โดยทางเท้าในเขตที่มีการใช้งบฯ ปรับปรุงซ่อมแซมมากที่สุด คือ ลาดกระบัง 66,000,000 บาท และห้วยขวาง 59,782,000 บาท ในขณะที่เขตที่มีการใช้งบฯ ปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าน้อยที่สุด คือป้อมปราบศัตรูพ่าย 5,206,000 บาท พระโขนง 5,438,000 บาท จอมทองและราษฎร์บูรณะ เขตละ 6,500,000บาท เขตที่ไม่ปรากฏการใช้งบฯ สร้างและปรับปรุงทางเท้าเลยมี 33 เขต ได้แก่ บางคอแหลม หนองจอก ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางกะปิ ทวีวัฒนา ราชเทวี สาทร ยานนาวา บางแค จตุจักร บางเขน บางขุนเทียน วัฒนา บางบอน มีนบุรี หลักสี่ สัมพันธวงศ์ ดอนเมือง บางพลัด ทุ่งครุ คลองสาน คลองสามวา คันนายาว ธนบุรี บางนา ปทุมวัน พญาไท ภาษีเจริญ สะพานสูง สายไหม และหนองแขม
และในส่วนที่สาม ก็คืองบฯ สำนักงานเขต โดยในงบฯ ปี 2564 พบว่ามีเพียง 12 เขตที่มีการตั้งงบฯ ซ่อมแซมและปรับปรุงทางเท้า ได้แก่ พระนคร 3,076,000 บาท สัมพันธวงศ์ 2,949,000 บาท วังทองหลาง 3,878,000 บาท พระโขนง 9,640,000 บาท บางพลัด 938,000 บาท ทุ่งครุ 895,000 บาท ดอนเมือง1,440,000 บาท หลักสี่ 3,221,000 บาท มีนบุรี 16,909,000 บาท สาทร 19,502,000 บาท วัฒนา 1,230,000 บาทและบางบอน 30,791,000 บาท
นอกจากนี้ในระดับเขตยังมีงบฯ การปรับปรุงซ่อมแซมเป็นจุดๆ ไป ตามที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ไม่ได้รื้อทำใหม่หรือปรับปรุงทั้งเส้น งบฯ ในส่วนนี้เป็นงบฯ การโยธาของเขตในหมวด “ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาถนน ตรอก ซอยและสิ่งสาธารณประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน” โดยก่อนปีงบฯ 2564 แต่ละเขตจะได้รับงบฯ เท่ากันเขตละ 3,000,000 บาท ส่วนในปีงบฯ 2564 ลดเหลือเขตละ 2,000,000 บาท และในปีงบฯ 2565 แต่ละเขตจะได้รับไม่เท่ากัน โดยเขตที่ได้มากที่สุดได้แก่ เขตคลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง เขตละ 3,000,000 บาท และเขตที่ได้น้อยที่สุดได้แก่ เขตธนบุรี บางกอกใหญ่ บางรัก ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท พระนคร ยานนาวา และราชเทวี เขตละ 1,500,000 บาท
ถนน vs ทางเท้า
จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab โดยเปรียบเทียบงบฯ โครงการต่างๆ ของสำนักการโยธา กทม. ในปีงบฯ 2564 พบว่ามีทั้งหมด 67 โครงการ รวม 1,894,070,000 บาท แบ่งเป็น
โครงการที่ทำถนนอย่างเดียวสูงถึง 36 โครงการ รวม 1,153,661,000 บาท
โครงการที่ปรับปรุงทางเท้าอย่างเดียว 19 โครงการ รวม 384,713,000 บาท
และโครงการที่ทำทั้งถนนและทางเท้า 12 โครงการ รวม 355,696,000 บาท
เขตลาดกระบังป็นเขตที่ใช้งบฯ จากสำนักการโยธาเพื่อทำถนนมากที่สุดในปี 2564 เพราะมีโครงการปรับปรุงถนนเลียบคลองมอญ 111,237,000 บาท และโครงการปรับปรุงถนนหลวงแพ่ง 88,138,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้งบฯ ในการทำถนนมากที่สุดในปีงบประมาณ ในขณะที่โครงการที่ใช้งบฯ จากสำนักการโยธาในการปรับปรุงซ้อมแซมทางเท้ามากที่สุดคือ โครงการปรับปรุงทางเท้า ถนนอ่อนนุช ในเขตสวนหลวงและประเวศ โดยใช้งบฯ 32,182,000 บาท
จะเห็นได้ว่า ในภาพรวม สัดส่วนโครงการระหว่างถนนอย่างเดียวและทางเท้าอย่างเดียว ต่างกันร้อยละ 25.37 และงบประมาณโครงการระหว่างถนนอย่างเดียวและทางเท้าอย่างเดียว ต่างกันถึงร้อยละ 40.6
นอกจากนั้นหากดูในส่วนของงบฯ รายเขตจากสำนักงานเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ ก็จะพบว่า ในส่วนของถนน มี 44 เขตที่ปรากฏงบฯ สร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอย รวม 730,116,900 บาท โดยเขตที่ปรากฏว่ามีการใช้งบฯสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมถนน ตรอกซอกซอยมากที่สุดคือ บางขุนเทียน 60,042,000 บาท แต่ในส่วนของทางเท้าพบว่ามีเพียง 12 เขต รวม 94,469,000 บาท เขตที่มีการตั้งงบฯ ซ่อมแซมและปรับปรุงทางเท้า ได้แก่ พระนคร 3,076,000 บาท จะเห็นได้ว่า สัดส่วนงบฯ ระหว่างถนนและทางเท้า รายเขตจากสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต่างกันถึงร้อยละ 77.09
ไม่เพียงแค่แผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ทำให้เราเห็นว่ากรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับถนนมากกว่าทางเท้ามากแค่ไหน แต่ในการใช้งบฯ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินหรือจำนวนเขต ก็ยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นข้อมูลมากขึ้นว่า กรุงเทพฯ รักรถมากกว่าคน
กรุงเทพฯ จะมีถนนและทางเท้าที่ดีได้ไหมในอนาคต
ทั้งข้อมูลจากแผนพัฒนาฯ กรุงเทพฯ ฉบับแรกจนถึงฉบับล่าสุด รวมไปถึงตัวเลขงบประมาณ ที่พยายามเพิ่มพื้นที่จราจรให้มากขึ้น เพื่อลดการจราจรติดขัด เป็นเรื่องที่กรุงเทพฯ ทำมาตลอด ในขณะที่ทางเท้ากลับถูกละเลย และถูกลดพื้นที่ลงให้ถนนกว้างขึ้น ปัญหาทางเท้าจึงคารังคาซังมานาน ทั้งพื้นผิวที่ไม่เสมอกัน ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถสัญจรได้สะดวกและปลอดภัย หรือการปรับภูมิทัศน์ถนนที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งานของคนเดินเท้า
แม้จะเห็นด้วยตาว่ากรุงเทพฯ มีการขุดทางเท้าอยู่ตลอด แต่มันอาจไม่ใช่การปรับปรุงทางเท้าเสมอไป เพราะเมื่อพิจารณารายการปรับปรุงถนนในข้อบัญญัติรายเขต ซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงถนนและขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด จะพบว่าส่วนใหญ่จริงๆ เป็นการทำบ่อพักน้ำหรือท่อระบาย จึงไม่แปลกที่จะเห็นสภาพทางเท้าหลังทำบ่อหรือทำท่อ เละเทะไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการใช้งาน
นอกจากนั้นยังพบว่าทางเท้าในกรุงเทพฯ ยังแคบและเต็มไปด้วย “สิ่งอำนวยความสะดวก” ซึ่งถูกติดตั้งบนทางเท้า ในลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบหรือเป็นแนวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ เสาไฟฟ้า ตู้ไฟ ป้ายสัญลักษณ์ ป้ายโฆษณา สะพานลอย ฯลฯ ที่ยิ่งทำให้ทางเท้าไม่สะดวกในการใช้งาน
แล้วทางเท้าที่ดีควรเป็นอย่างไร งานวิจัยเรื่อง ‘ภูมิทัศน์ถนนกับวิถีชีวิตคนกรุงเทพมหานคร’ ของ ปรีชญะ โรจน์ฤดากร กล่าวถึงพื้นที่ ขนาดทางเท้า และมาตรฐานความกว้างของช่องทางเท้า ไว้ว่า “การออกแบบทางเท้าที่ดี ควรกำหนดแนวทางสัญจรที่อยู่ตรงกลางทางเท้า และไม่มีสิ่งกีดขวางบนเส้นทาง ทางเท้าควรกว้างอย่างน้อยที่สุด 1.20 เมตรในกรณีเดินสวนกันขึ้นอยู่กับปริมาณการสัญจร ตามมาตรฐานสากลจึงระบุว่า ทางเท้าในย่านการค้า ย่านธุรกิจและย่านอุตสาหกรรม ควรกว้าง 2.50-3.00 เมตรเป็นอย่างน้อย และย่านพักอาศัยขนาด 1.20-2.00 เมตรในถนนสายย่อย”
ในขณะที่การดำเนินการจัดการทางเท้าในปัจจุบันดูจะเป็นปัญหา เนื่องจากกรุงเทพฯ ยังคงอิงมาตรฐานทางเท้าตามข้อกำหนดของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ทำให้การออกแบบและจัดการทางเท้า อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสัญจรของกรุงเทพฯ โดย สายชล ชอบประดิษ วิศวกรโยธาชำนาญพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง เคยให้สัมภาษณ์ให้กับสำนักข่าวอิศรา ในประเด็นหลักออกแบบและเกณฑ์สร้างพื้นที่ทางเท้า ไว้ว่า
“เวลาเรา (กรมโยธาธิการและผังเมือง) ทำถนนตามการจัดรูปที่ดิน ก็มีกำหนดเขตทางที่เหมาะสมในการสร้างใหม่ เช่น ถนนในเขตเมือง ทางสายหลักกว้าง 30 เมตร ควรมีทางเท้าข้างละ 3 เมตร แต่ถ้าเป็นถนนที่ทำมานานแล้วในเมือง ก็ต้องมีปัญหาเวนคืน ก็จะเกิดปัญหาซับซ้อนที่อาจกระทบกับการจราจร การปรับปรุงก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรด้วย การแก้ปัญหาจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน”
“ตัวอย่างเช่น พื้นที่ทางเท้าในกรุงเทพฯ หน่วยงานที่ดูแลคือ กทม. ฉะนั้น กทม. ควรจะมีการกำหนดข้อกำหนดของตัวเอง ว่าทางเท้าควรกว้างเท่าไหร่ สาธารณูปโภคควรจะวางในส่วนไหนของทางเท้า เพราะถ้าไปดูป้ายของกี่หน่วยงานก็วางทับซ้อนกันระเกะระกะ อีกทั้งป้ายโฆษณาด้วย ซึ่งทางเท้าเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของคนสัญจรควรกำหนดเป็นเขตสาธารณะ ไม่ให้คนวางของ เช่น บางบ้านนำต้นไม้มาปลูกหน้าบ้านล้ำเข้าสู่ทางเท้า วางเครื่องไม้เครื่องมือกินพื้นที่เขตทางเท้า”
ปัจจุบันกรุงเทพฯ เริ่มนำหลัก universal design (ภาษาไทยมีใช้ทั้ง ‘การออกแบบเพื่อทุกคน’ ‘การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล’ และ ’อารยสถาปัตย์’) เข้ามาออกแบบทางเท้า ภายใต้หลักทางเท้าสำหรับทุกคน โดยในหนังสือ Building for Everyone: A Universal Design Approach ระบุว่างทางเท้าควรมีความกว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อให้เหมาะกับการสัญจรของผู้คนทุกคน ทั้งคนธรรมดา ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือคนที่เข็นรถเด็ก ซึ่งขณะนี้ สำหรับกรุงเทพแล้ว ที่มีใกล้เคียงก็เช่น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ที่ขยายทางเท้าเพิ่ม จัดระเบียบสิ่งกีดขวาง นำระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ลงใต้ดิน และติดตั้งแผ่นทางเท้าคนพิการ โดยมีแผนจะต่อยอดทำลักษณะเดียวกันกับทางเท้าทั่วกรุงเทพฯ เช่น ถนนรัชดาจากบริเวณคลองสามเสนถึงแยกเทียมร่วมมิตร บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชดำริ ถนนพหลโยธิน (สนามเป้า) ถนนราชดำริ ถนนพระราม 4 และถนนสีลม เป็นต้น
ซึ่งความท้าทายนอกจากประเด็นที่ว่าจะสามารถทำได้ทั่วกรุงเทพฯ จริงหรือไม่ และจะได้ความกว้างตามมาตรฐานไหม ยังรวมไปถึงทางเท้านั้นจะเป็นทางเท้า ‘เพื่อทุกคน’ ได้จริงด้วยรึเปล่า
ดูข้อมูลงบประมาณการสร้าง-ปรับปรุงถนนและทางเท้ารายเขตได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-road-pavement/
อ้างอิง
- แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575)
- ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย สภากรุงเทพมหานคร
- ‘ภูมิทัศน์ถนนกับวิถีชีวิตคนกรุงเทพมหานคร’ โดย ปรีชญะ โรจน์ฤดากร
- Building for Everyone: A Universal Design Approach. Centre for Excellence in Universal Design, National Disability Authority.
เกี่ยวกับ Rocket Media Lab Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์ Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564 https://rocketmedialab.co |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ