เสนอประกันสังคมให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำนาญชราภาพที่อายุ 55 หรือ 60 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2106 ครั้ง

เสนอประกันสังคมให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำนาญชราภาพที่อายุ 55 หรือ 60 ปี

องค์กรผู้บริโภคเสนอประกันสังคม เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำนาญชราภาพที่อายุ 55 หรือ 60 ปี แนะควรเปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกันตนด้วย

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าจากกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปฏิรูปประกันสังคมระบบกองทุนชราภาพเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในอนาคต การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 แต่ยังชะลอการดำเนินการจากสถานการณ์โควิด ส่วนการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำปรับแก้จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไปนั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าการที่ประกันสังคมจะยกเลิกการจ่ายบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี แล้วเลื่อนการจ่ายบำนาญชราภาพเมื่ออายุ 60 ปีแทนนั้น สปส.ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกว่าจะรับบำนาญที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งควรเป็นการตัดสินใจของผู้ประกันตนที่จะเลือกสิทธิของผู้ประกันตนนั้นด้วยตัวเอง แต่หากประกันสังคมจะปรับให้จ่ายคืนบำนาญที่อายุ 60 ปี ก็ควรดำเนินการกับผู้ประกันตนใหม่หรืออาจจะดำเนินการอย่างเป็นระบบสอบถามความสมัครใจในการที่จะเลือกสำหรับผู้ประกันตนรายเดิม ส่วนรายใหม่ก็จัดการปรับแก้กฎหมายให้ชัดเจน ให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ 60 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลดีก็คือทำให้บริษัทเอกชนทั้งหลายอาจจะต้องยืดระยะเวลาการจ้างงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แทนที่ในปัจจุบันบริษัทเอกชนใช้วิธียุติการจ้างเมื่อครบอายุ 55 ปีแล้วให้ลูกจ้างไปรับเงินประกันสังคมแล้วอาจจะทำสัญญาจ้างใหม่อีกรอบซึ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิต่างๆ อีกหลายอย่าง แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร สปส.ควรจะสอบถามผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ เพราะผู้ประกันควรมีสิทธิเลือกและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่สปส.ควรจะดำเนินการซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยก็คือ การขยายเพดานวงเงินสูงสุดของผู้ประกันตนที่สมทบจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมอีกส่วน คือ การปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะในปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น งบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปส.ควรเร่งพัฒนาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์และลดการจ่ายเงินในส่วนบริการสุขภาพหรือยุติการจ่ายเงินในส่วนสุขภาพในที่สุด เพราะรัฐบาลควรรับผิดชอบผู้ประกันตนเช่นเดียวกับผู้ป่วยในระบบบัตรทองหรือระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนชราภาพเพิ่มขึ้นได้มากกว่าในปัจจุบัน

ด้าน นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สปส.ควรเปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกันตน เพราะการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเปลี่ยนเงื่อนไขใดๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนนั้น ควรรับฟังความเห็นก่อนที่จะปรับเปลี่ยน เนื่องจากผู้ประกันตนเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ไม่ใช่การที่ สปส.เป็นผู้กำหนดเอง อีกประเด็นที่สังเกต คือ เรื่องนี้ยังไม่เปิดรับฟังความเห็น จึงไม่เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: