ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการบริหารจัดการแรงงานฯ มติ ครม. 5 ก.ค. 2565

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5771 ครั้ง

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการบริหารจัดการแรงงานฯ มติ ครม. 5 ก.ค. 2565

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ออกจดหมายเปิดผนึกข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการบริหารจัดการแรงงานฯ มติ ครม. 5 ก.ค. 2565 หวังให้เกิดการปรับปรุงนโยบายด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ออกจดหมายเปิดผนึกข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการบริหารจัดการแรงงานฯ มติ ครม. 5 ก.ค. 2565 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เรื่อง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2565

เรียน นายกรัฐมนตรี

สำเนาถึง           
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
2. อธิบดีกรมการจัดหางาน
3. คณะกรรมการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม
4. ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชีย ขององค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ 
5. ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Resident Representative-UNDP)
6. ประธาน คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก แรงงานข้ามชาติที่จะต้องดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าของแรงงานตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จโดยมีการขยายให้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และ วันที่ 28 กันยายน 2564   

ส่วนกลุ่มที่สอง คือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีเอกสารใบอนุญาตทำงาน คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้นายจ้าง หรือ บริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง(บนจ.) ที่ได้รับการอนุญาตลงทะเบียนภายใต้กรมการจัดหางาน ต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอจ้างแรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ โดยมีระยะเวลาในการลงทะเบียน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565  

การปรับปรุงนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน ครั้งนี้ เพื่อให้ แรงงานข้ามชาติที่หายไปจากระบบกว่า 500,000 คน จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด 19 กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย  อย่างไรตามเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ร่วมกันติดตามกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงาน พบว่า นายจ้าง หรือผู้ประกอบการและกลุ่ม บนจ.ต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับระบบการขึ้นทะเบียน และมีการร้องเรียนจากกลุ่มนายจ้างและตัวแทนนายจ้างเป็นจำนวนมาก ถึงระบบการขึ้นทะเบียนที่ขาดประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถนำชื่อคนงานขึ้นทะเบียนและได้รับอนุมัติรายชื่อได้ทันตามที่รัฐบาล กระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ได้ ดังนี้

1. ความโปร่งใสต่อนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารอนุญาตให้ทำงาน

ในช่วงที่กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารทำงานในรอบใหม่นั้น ปรากฎว่ามีนายหน้าจำนวนหนึ่งดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (name list) ให้แก่นายจ้าง โดยระบุว่าเป็นบัญชีรายชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนที่กำลังจะเปิดใหม่ โดยในแบบบัญชีรายชื่อดังกล่าวมีการอ้างอิงถึงกรมการจัดหางาน และมีตราประทับกรมการจัดหางาน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มในการดำเนินการหรือไม่ อย่างไรก็ตามกรมการจัดหางานอ้างเป็นเพียงแนวคิดในการสำรวจ แต่ได้สร้างความสับสนให้กับทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างผู้รับบริการว่าจะมีความเสี่ยงของการตกหล่นว่าจะหลุดจากระบบการขึ้นทะเบียนที่เปิดอย่างเป็นทางการหรือไม่

2. การรวบอำนาจรวมศูนย์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ

ในขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนแรงงาน พบว่า ทางกรมการจัดหางานได้ยืนยันว่าให้ใช้ช่องทางการยื่นแบบบัญชีรายชื่อและการขออนุญาตทำงานผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ในขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อจะมีระยะเวลาดำเนินการเพียง 15 วัน โดยแบ่งเป็นสองขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ การลงทะเบียนของนายจ้างหรือ บนจ.เพื่อขอเข้าใช้งานในระบบออนไลน์ ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการจัดหางาน จากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มชื่อเพื่อเข้าไปสู่ขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อต่อไป ทั้งนี้ขั้นตอนการขอพิจารณาจะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการจัดหางานส่วนกลางเท่านั้น ทำให้การพิจารณามีความล่าช้า รวมถึงการแก้ไขข้อมูลจะต้องเข้าไปแก้ไขในระบบจากกรมการจัดหางานเท่านั้น ทำให้พบปัญหาในการดำเนินการของนายจ้างในหลายเรื่อง เช่น การแนบรูปถ่ายที่ต้องเป็นพื้นหลังสีขาว เมื่อไม่ผ่านการพิจารณานายจ้างไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้เอง จะต้องยื่นคำร้องขอให้มีการแก้ไขอีกครั้งจากกรมการจัดหางาน ส่งผลให้นายจ้างบางรายที่ดำเนินการยื่นคำร้องไปแล้ว 5 วันยังไม่ได้รับการอนุมัติ กระบวนการนี้สร้างความกังวลใจและมีความสับสนต่อการดำเนินการค่อนข้างมาก

3. ระบบการขึ้นทะเบียนไม่สอดคล้องกับกรอบเวลาที่ให้ดำเนินการ

การลงทะเบียนเพื่อขอเข้าใช้งานในระบบออนไลน์ต้องใช้เวลา 1-3 วันในการอนุมัติหรือบางรายอาจจะต้องรอมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ และนายจ้างหลายรายที่สามารถยื่นบัญชีแรงงานได้สำเร็จแล้วในช่วงสัปดาห์แรกแต่ได้รับแจ้งว่าไม่อนุมัติก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนจากกรมการจัดหางานว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร   กระทั่งวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ระบบลงทะเบียนของกรมการจัดหางานได้ปิดปรับปรุงชั่วคราว ถึง 10 สิงหาคม 2565 โดยไม่ประกาศขยายระยะเวลาการลงทะเบียนช่วงที่กรมการจัดหางานต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียน  ปัญหานี้ได้สร้างความกังวลให้แก่นายจ้างที่กำลังดำเนินการจัดส่งข้อมูล หรือรอการอนุมัติ แม้จะมีคู่มือการลงทะเบียนของกรมการจัดหารงานลงไว้ในเวบไซต์แล้วแต่คู่มือดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทก์ปัญหาในระหว่างการขึ้นทะเบียนได้

4. การสร้างระบบการขึ้นทะเบียนซับซ้อนสร้างเงื่อนไขค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น

กระบวนการขั้นตอนที่ระยะเวลามีจำกัด ประกอบกับการทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียน การต่อใบอนุญาตทำงาน หรือปรับปรุงเอกสารส่วนบุคคลของแรงงานมีความซับซ้อน และระบบขาดเสถียรภาพ ส่งผลต่อการดำเนินการตามสิทธิของนายจ้าง และตัวแรงงานข้ามชาติเอง ทำให้ต้องไปดำเนินการจ้างบริษัทนำเข้าหรือนายหน้าเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรับดำเนินการในปัจจุบันอยู่ในราคาตั้งแต่ 12,000 – 18,000 บาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ควรจะเป็นจะอยู่ที่ประมาณสามพันกว่าบาทเท่านั้น การออกแบบระบบและการดำเนินการที่มีความยุ่งยาก ระยะเวลาจำกัด ขาดมาตรการในการตรวจสอบการจัดเก็บค่าบริการในการดำเนินการจดทะเบียน นอกจากจะมีผลกระทบต่อนายจ้างแล้ว แรงงานข้ามชาติอาจจะต้องเผชิญกับการกลับเข้าสู่วงจรการเป็นแรงงานขัดหนี้เนื่องจากการแบกภาระหนี้ที่เกิดจากค่าบริการที่ไร้การควบคุม

5. เปิดช่องทางการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ยังไม่ได้มีการออกประกาศกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวระหว่างการดำเนินการ รวมทั้งขยายระยะเวลาสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ยังไม่สามารถตรวจลงตราวีซ่าได้ทันในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ตามประกาศเดิม ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติทั้งสองกลุ่มยังมีสถานะที่ผิดกฎหมายมามากกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว และอาจจะถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ได้ ความล่าช้าในการดำเนินการนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาตินับแสนคน และเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่บางคนได้ 

6. รัฐสอบตก 100% ด้านการดำเนินนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด ได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐขาดการเตรียมการด้านการบริหารจัดการ ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดของกรมการจัดหางาน ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ก็จะมีบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานบางส่วนที่สามารถนำข้อมูลของกรมการจัดหางานมาชี้แจงเท่านั้น จนนำไปสู่ข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการดำเนินการ และปรากฏการณ์ที่กลุ่มนายจ้างต้องแก้ไขปัญหากันเองจากปัญหาที่พบแบบวันต่อวัน กระทั่งกรมการจัดหางานต้องจัดประชุมในระบบออนไลน์เพื่อชี้แจงปัญหาและการแก้ไขปัญหาในระบบขึ้นทะเบียนต่อกลุ่มนายจ้างและบนจ.อีกครั้ง 

จากสภาพปัญหาที่สะท้อนมานี้ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและพันธมิตร ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของนายจ้างในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอมายังรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน โดยขอให้มีการ

  • ทบทวนกรอบระยะเวลาในการดำเนินการขึ้นทะเบียน เพื่อยอมรับความจริงว่า ระบบการบริหารจัดการยังมีปัญหา ประกอบความซับซ้อนของปัญหาทางสังคมที่เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และความไม่สงบทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน
  • ทบทวนระบบการขึ้นทะเบียนจากรวมศูนย์เป็นการกระจายอำนาจและให้มีการขึ้นทะเบียนแบบสองระบบ ทั้งออนไลน์และดำเนินการผ่านสำนักจัดหางานที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ ทั้งนี้รัฐต้องเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการพัฒนาระบบการจัดการแรงงานผ่านระบบออนไลน์
  • กรมการจัดหางานควรมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลกับนายจ้างผ่านช่องทางการสื่อสารของกรมการจัดหางานเองเพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในการดำเนินการของนายจ้าง รวมทั้งควรจะต้องมีช่องทางในการสื่อสารรับเรื่องร้องทุกข์ และรับฟังความคิดเห็นของนายจ้าง แรงงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การหาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงร่วมกัน
  • กระทรวงแรงงาน โดยการทำงานร่วมกันกับองค์กรด้านแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการจัดทำรายงานเพื่อถอดบทเรียนบทเรียนนโยบายการบริหารภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เปรียบเทียบหลักการทั่วไป และแนวปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม (General principles and operational guidelines for fair recruitment and definition of recruitment fee and related costs) เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่มีความสอดคล้องกับหลักการสากลขององค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 ว่าด้วยการทำงานที่มีคุณค่า และส่งเสริมให้เกิดการเคารพในหลักการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในระยะที่ 2 

 จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาในการปรับปรุงนโยบายด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: