'บุหรี่เถื่อน' ระบาดหลังขึ้นราคา ราคาล่อใจผู้ซื้อ-ผู้ขายรับทรัพย์ แต่กระทบต่อชาวไร่ยาสูบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 25127 ครั้ง


'สมาคมการค้ายาสูบไทย' ชี้ 'บุหรี่เถื่อน' ระบาดหลังขึ้นราคาเมื่อ ต.ค. 2564 ที่ผ่าน ราคาล่อใจผู้ซื้อโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ขายรับทรัพย์ แต่กระทบต่อ 'ชาวไร่ยาสูบ' เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของ 'การยาสูบแห่งประเทศไทย' วอนรัฐเร่งแก้ไขให้เด็ดขาด หลังปรับราคาขึ้นไม่ถึงปี

ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 สมาคมการค้ายาสูบไทย (Thai Tobacco Trade Association หรือ TTTA) รายงานว่าโดยปกติแล้วช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการระบาดของเหล้าและบุหรี่เถื่อน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาคุมเข้ม กวาดล้าง ปราบปรามผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ลักลอบนำเข้าที่มักนำเหล้า-บุหรี่ปลอมมาขายให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวกันมากขึ้น แม้ช่วงเทศกาลปีนี้ สถานการณ์โควิด-19 จะยังน่าเป็นห่วงและยังคงต้องเฝ้าระวัง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการลักลอบกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้เห็นการรายงานข่าวการจับกุมสินค้าผิดกฎหมายถี่ขึ้นในช่วงระยะนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุหรี่เถื่อน ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการของสิงห์นักสูบ ยิ่งล่าสุดที่รัฐบาลประกาศปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ทำให้ราคาบุหรี่ที่เสียภาษีอย่างถูกกฎหมายปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทำให้ราคาของ “บุหรี่เถื่อน” หรือ “บุหรี่หนีภาษีซึ่งถูกกว่าประมาณ 20 - 40 บาทต่อซองกลายเป็นจุดล่อตาล่อใจและดีสำหรับเงินในกระเป๋าของผู้ซื้อ

เมื่อสินค้าเป็นที่ต้องการ ก็ย่อมกระตุ้นให้ผู้ค้าหัวใส และแก้งค์ค้าบุหรี่เถื่อนสบช่องในการทำเงินมากขึ้น พากันลักลอบขนบุหรี่เถื่อนล็อตใหญ่ ลำเลียงเข้ามาทางทะเลบ้าง ผ่านด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้านบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งล่าสุด มีการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนล๊อตใหญ่ได้หลายคดี คิดเป็นมูลค่าร่วมกว่า 85 ล้านบาท

หลังขึ้นราคามีการจับกุมได้อย่างต่อเนื่องระดับหลายหมื่นซองทยานไปถึงหลัก 3-5 แสนซอง

สังเกตได้จากการจับกุมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการจับกุมได้อย่างต่อเนื่องและเป็นล๊อตใหม่หลายราย ระดับหลายหมื่นซอง ทยานไปถึงหลัก 3-5 แสนซองตลอดระยะเวลาตั้งแต่ประกาศขึ้นราคาบุหรี่เมื่อ ต.ค. 2564 ที่ผ่าน และ เริ่มน่าสังเกต โดยเฉพาะใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ยิ่งมีการลักลอบมากขึ้น หรือ มีความต้องการมากขึ้นในปีหน้าจึงมีการขนส่งบุหรี่เถื่อนในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ หลายเสียงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบล้วนมองว่า “บุหรี่เถื่อน” หรือ “บุหรี่หนีภาษี” เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข หากปล่อยให้เรื้อรัง ท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 200,000 ล้านบาท และเป็นแหล่งรายได้จากการเก็บภาษีเaข้ารัฐถึงปีละ 60,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดปัญหาในระดับท้องถิ่นและประเทศในอนาคต และจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้ไขอีกด้วย

“บุหรี่เถื่อนหนีภาษีเข้ามาตามชายแดน โดยเฉพาะทางภาคใต้มีการนำเข้ามาขายกันเป็นปกติ ที่ผ่านมามีการร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน บุหรี่หนีภาษีเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว โดยเฉพาะช่วงก่อนที่จะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ในปี 2560 มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นขบวนการ มาถึงตอนนี้ที่ราคาขายบุหรี่แพงขึ้น บุหรี่หนีภาษีก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ามาก และสามารถหาซื้อได้ง่าย ในฐานะผู้ค้าอย่างถูกกฎหมาย โดนบุหรี่หนีภาษีมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปถึง 29% ไม่เป็นธรรมกับผู้ค้าที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ไปหารือกับคณะกรรมาธิการหลายๆ คณะ รวมทั้งกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทุกฝ่ายทราบว่ามีปัญหานี้ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการแก้ปัญหา อยากให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ไขปัญหาบุหรี่หนีภาษี ขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังขยายผลไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เพราะหากปัญหายังคงวนเวียนอยู่แบบเดิม รัฐจะเป็นผู้เสียรายได้ในที่สุด” นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าว

ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ

ส่วน นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ กล่าวในแง่มุมที่น่าสนใจว่า “รายได้ของชาวไร่ยาสูบขึ้นอยู่กับผลประกอบการของการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ยสท. การที่บุหรี่เถื่อนมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ ยสท. เพราะช่องว่างของราคาบุหรี่ถูกกฎหมายกับบุหรี่เถื่อนแตกต่างกันมาก กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย แต่ส่วนใหญ่จะสูบบุหรี่ และหันไปซื้อบุหรี่ราคาถูกเพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า ยสท. ก็ได้รับผลกระทบเพราะยอดขายลดลง ทำให้รับซื้อยาสูบจากชาวไร่ลดลงตามไปด้วย อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญการปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวน ยาเส้น และบุหรี่ไฟฟ้า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ รณรงค์ให้ลดการสูบ แต่เมื่อคนมันจะสูบ จะรณรงค์อย่างไร จะออกกฎหมายบังคับอย่างไรก็ยังคงสูบเหมือนเดิม รัฐต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ควรตั้งคณะกรรมการปราบปรามบุหรี่เถื่อนแห่งชาติ เพื่อมาจัดการปัญหาบุหรี่หนีภาษี หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต และรัฐจะสูญเสียรายได้มากกว่าในปัจจุบัน”

ส่วนทางด้าน นายนพดล หาญธนสาร รองผู้ว่าการด้านบริหาร รักษาการผู้ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า “สำหรับความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ยาสูบลดลง เพราะต้องลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลดลงตามไปด้วย ยสท.ได้ให้คำแนะนำแก่ชาวไร่ยาสูบในการหันมาปลูกพืชอื่นทดแทนเพื่อให้มีรายได้ โดยส่งเสริมให้ชาวไร่ยาสูบรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชง กัญชา ตามนโยบายรัฐบาล ขณะนี้อยุ่ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการ คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 3–5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท.อย่างมาก แต่ ยสท.ก็เร่งปรับตัว ลดต้นทุนทุกช่องทางที่ทำได้ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการก่อตั้งโรงงานยาสูบนั้น เพื่อให้ไทยผลิตยาสูบป้อนตลาดไทยและต่างประเทศ และรักษาส่วนแบ่งบุหรี่ไทยและบุหรี่นอก หากไทยไม่มีโรงงานยาสูบ ก็จะมีแต่บุหรี่นอกในไทย”

เรียกร้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการจัดการกับผู้ลักลอบทำผิดกฎหมาย

สำหรับ นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “สินค้าหนีภาษี นอกจากจะทำลายผู้ค้าท้องถิ่นแล้ว ยังทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย เรียกได้ว่าทำลายระบบทั้งหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เข้มข้นในการจัดการกับผู้ลักลอบทำผิดกฎหมาย นอกจากการปราบปรามผู้กระทำความผิดแล้ว อีกทางหนึ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคไม่ให้สนับสนุนสินค้าที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเองต้องไม่ร่วมกระทำความผิด หรือ รู้เห็นและปล่อยผ่านให้เกิดการลักลอบสินค้าหนีภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเองเมื่อกระทำความผิดควรได้รับโทษมากกว่าสองเท่า เรื่องนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมผลักดันและดำเนินการอย่างจริงจัง”

ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตเผยว่าได้ดำเนินการปราบปรามบุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ปลอมอย่างเข้มข้น ภายใต้แผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ระดมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทั่วประเทศ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบปราบปรามตามพื้นที่เป้าหมาย ตามแนวชายแดนที่คาดว่าจะกระทำผิด การดำเนินการทั้งหมดเพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เสียภาษีโดยสุจริต และเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค โดยในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564) กรมฯ สามารถจับกุมและปราบปรามคดีบุหรี่หนีภาษี จำนวน 6868 คดี คิดเป็นค่าปรับกว่า 262 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: