Rocket Media Lab: สำรวจข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชและบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชของไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ต.ค. 2565 | อ่านแล้ว 21905 ครั้ง

เนื่องในวัน World Mental Health Day ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชและบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชของไทย ว่ามีเพียงพอไหม มีปัญหาอะไรบ้าง

  • ในปี 2564 โรคทางจิตเวชที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมีผู้ป่วย 622,172 คน จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 3.99 ล้านคน
  • เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ติด 10 อันดับแรกจังหวัดมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดทุกปี ระหว่างปี 2559-2563 โดยแม่ฮ่องสอนติดอันดับที่ 1 ถึง 3 ปีจาก 5 ปี
  • ปี 2564 จังหวัดที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคจิตเวชต่อประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน เชียงใหม่ สกลนคร พะเยา และพิษณุโลก
  • ปี 2564 จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อประชากรมากที่สุดคือ ลำพูน รองลงมาคือ สิงห์บุรี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์
  • ปี 2564 กทม. มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากร 100,000 คนอยู่ที่ 4.90 ขณะที่ยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย (ปัจจุบัน ปี 2565 จากการสอบถาม มีจิตแพทย์แล้ว 2 คน) และมี 14 จังหวัดที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
  • มี 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย ได้แก่ ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง และมี 28 จังหวัดที่มีอัตราส่วนนักจิตวิทยาต่อประชากรมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
  • หากดูที่ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุข จะพบว่าในจังหวัดศรีสะเกษ จิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 34,811 คน ขณะที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 3,216 คน
  • ในจังหวัดเลย นักจิตวิทยา 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชถึง 52,717 คน และต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีก 3,937 คน

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลง เห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีอัตราสูงขึ้น จาก 6.08 รายต่อแสนประชากร ในปี 2556 เพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ในปี 2563 และในปี 2564 ที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกราว 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา

เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2565 Rocket Media Lab ชวนสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตและกลไกส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย

อัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า คนในโลกนี้ทุก 8 คนจะมี 1 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต และในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่อัตราดังกล่าวจะสูงขึ้นไปอีกสำหรับคนวัยหนุ่มสาวช่วง 15-29 ปี ที่ทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีถึง 8 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ในภาพรวม ในทุก 1 การเสียชีวิตที่มาจากการฆ่าตัวตาย จะมีการพยายามฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง

ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับการรับมือ แม้หลายประเทศจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านทรัพยากรสาธารณสุข

ข้อมูลจาก Mental Health ATLAS 2020 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศอยู่ที่ 13 คนต่อแสนประชากร โดยที่แต่ละภูมิภาคมีช่องว่างห่างกันมาก ตัวอย่างเช่น ค่ามัธยฐานของทวีปยุโรปสูงกว่าของทวีปแอฟริกา 40 เท่า ความแตกต่างนี้ยิ่งเห็นได้ชัดระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำ โดยประเทศรายได้ต่ำมีบุคลากรด้านสุขภาพจิต 1.4 คนต่อแสนประชากร ส่วนประเทศรายได้สูงมี 62 คนต่อแสนประชากร

หากพิจารณาเฉพาะจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใน 156 ประเทศ พบว่าค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 1.7 ส่วนของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 1.4 กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงมีตัวเลขนี้สูงกว่าประเทศรายได้ต่ำ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 0.4 และของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 0.3

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างอัตราส่วนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใน 11 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ที่ปี 2563 ประเทศในยุโรปตะวันตก นำโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากที่สุด ที่ 47.17 คนต่อแสนประชกร ในเอเชีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรอยู่ที่ 12.55 และ 7.91 ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงกว่าค่ามัธยฐานของโลกคือ 4.7 คนต่อแสนประชากร ส่วนประเทศไทย รายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช กรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า ไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อแสนประชาร

สำหรับอัตราส่วนนักจิตวิทยา ออสเตรเลียจัดอยู่ในกลุ่มที่มีนักจิตวิทยาต่อประชากรมากเป็นลำดับต้นๆ คือ 122.91 คนต่อแสนประชากร สูงกว่าค่ามัธยฐานของโลกเกือบ 100 เท่า ส่วนสวีเดนมีนักจิตวิทยา 84.88 คนต่อแสนประชากร ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มี 56.37 คนต่อแสนประชากร ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์และไทยที่มีนักจิตวิทยาต่อประชากรคนมากกว่าค่ามัธยฐานโลก โดยสิงคโปร์มีมากกว่าไทยเกือบ 9 เท่า กล่าวคือไทยมี 1.57 คนต่อแสนประชากร ขณะที่สิงคโปร์มี 9.7 คนต่อแสนประชากร ในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดของกรมสุขภาพจิต ในปี 2565 ระบุว่า มีนักจิตวิทยา 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร

 

ผู้ป่วยจิตเวชในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมากที่สุด

ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นทุกปี ในรายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช จากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1.3 ล้านคนเป็น 2.3 ล้านคน

ก่อนหน้านี้ในรายงานการสูญเสียสุขภาวะปี 2556 ระบุว่า คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life years; DALYs) ซึ่งเป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย เท่ากับ 10.6 ล้านปี โดยชายไทยสูญเสียปีสุขภาวะไปกับโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากที่สุด ในขณะที่หญิงไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 21 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด สาเหตุสามอันดับแรกของการสูญเสียปีสุขภาวะในผู้ชาย เกิดจากภาวะการติดสุราหรือการดื่มแบบเป็นอันตราย โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท ส่วนในผู้หญิงเกิดจากโรคซึมเศร้า โรคความจำเสื่อม และโรคจิตเภท

สาเหตุนี้สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชรายโรคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ซึ่งรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวชจำแนกรายโรค ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม พบว่า ระหว่างปี 2558-2559 มีผู้ป่วยจิตเภท วิตกกังวล และซึมเศร้ามากเป็น 3 อันดับแรก ต่อมาในปี 2560 นอกจาก 3 โรคนี้แล้ว ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ยังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ติดแอลกอฮอล์ ติดสารเสพติดอื่นๆ สมาธิสั้น และโรคจิตเวชอื่นๆ

ตั้งแต่ปี 2560 โรคจิตเวชอื่นๆ ซึ่งรวมอาการและโรค 39 รายการตามบัญชีจําแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems) เข้าไว้ด้วยกัน มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมด (ตัวอย่างของอาการที่ถูกนับรวมในกลุ่มนี้ เช่น ความผิดปกติทางจิตและอาการทางจิตที่เกิดจากโรคทางกาย ความผิดปกติทางบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ความผิดปกติของพัฒนาการทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมที่มักเริ่มต้นในวัยเด็กและวัยรุ่น) ในปี 2562 เริ่มมีรายงานการติดยาบ้า (Amphetamine) โรคอารมณ์สองขั้ว และผู้ป่วยติดเกมในผู้ใหญ่ (15 ปีขึ้นไป) จนถึงปี 2564 โรคทางจิตเวชที่มีสัดส่วนมากเป็น 5 อันดับแรกได้แก่ จิตเภท วิตกกังวล ซึมเศร้า ติดสารเสพติดอื่นๆ และติดแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการตามสิทธิการรักษา จากระบบฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2556-2564 อันได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิของผู้ป่วยต่างด้าว และสิทธิอื่นๆ พบว่า จำนวนผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจาก 80,440 คนในปี 2556 เพิ่มเป็น 1,056,604 คนในปี 2559

ตัวเลขผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มโรคเพิ่มขึ้น 3 เท่าระหว่างปี 2559 กับ 2560  จาก 1,056,604 คนในปี 2559 เป็น 3,491,365 คนในปี 2560 และหากดูโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 78,592 คนในปี 2559 เป็น 259,467 คนในปี 2560 

สำหรับสัดส่วนของโรค นอกจากโรคจิตเภท ความผิดปกติที่สัมพันธ์กับความเครียด และโรคโซมาโตฟอร์ม/วิตกกังวล กลุ่มอาการทางพฤติกรรมที่พบร่วมกับความผิดปกติทางสรีรวิทยาและปัจจัยทางกายภาพ ผู้ป่วยที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (เพิ่มขึ้นจาก 88,753 คน เป็น 436,012 คน) เสพสุรา และสูบบุหรี่

ทั้งนี้ ในปี 2564 โรคจิตเวชที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมี 622,172 คน จากผู้ป่วยโรคจิตเวชทั้งหมด 3.99 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลมากขึ้น อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจังด้วย

จังหวัดภาคเหนือครองแชมป์อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ-อัตราผู้ป่วยจิตเวชสูงสุด

สำหรับสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนโดยทั่วไป ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชให้ความเห็นเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่า เดิมทีอัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาตกงาน ขาดรายได้จนอาจทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด

ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หนึ่งในช่องทางบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึง สิงหาคม 2565 มีผู้รับบริการที่มีพฤติกรรมหรือมีความคิดฆ่าตัวตายถึง 1,554 ราย ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีผู้รับบริการที่คิดฆ่าตัวตาย 141 รายต่อเดือน

เมื่อพิจารณารายงาน 10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดระหว่างปี 2559-2563 น่าสนใจว่า มี 2 จังหวัดที่ติด 10 อันดับแรกทุกปีคือ เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยแม่ฮ่องสอนติดอันดับที่ 1 มากถึง 3 ปี จากทั้งหมด 5 ปี จังหวัดติดอันดับถี่รองลงมา คือ เชียงราย แพร่ ตาก น่าน และลำปาง ติด 10 อันดับแรกถึง 4 ปี

สำหรับปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่ข้อมูล จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด อับดับที่ 1 คือ แม่ฮ่องสอน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 17.44 รายต่อแสนประชากร อันดับที่ 2 คือ ตาก 15.46 รายต่อแสนประชากร อันดับที่ 3 คือ เชียงใหม่ 14.61 รายต่อแสนประชากร จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 จังหวัดนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าภาพรวมทั้งประเทศที่อัตรา 7.37 รายต่อแสนประชากร ประมาณ 2 เท่า

เมื่อสำรวจจำนวนผู้ป่วยจิตเวชประจำปีงบประมาณ 2564 พบว่า จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชต่อประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน เชียงใหม่ สกลนคร พะเยา และพิษณุโลก อยู่ระหว่าง 9,178.8-11,500.7 คนต่อแสนประชากร มากกว่านครปฐมที่มีอัตราส่วนน้อยที่สุดเกือบ 4 เท่า ที่ 2,719.5 ต่อแสนประชากร ตามมาด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี กระบี่ และปัตตานี

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ให้สัมภาษณ์อธิบายประเด็นนี้ว่า มีงานศึกษาในพื้นที่หลายชิ้น ส่วนใหญ่สรุปว่า พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะส่วนที่คาบเกี่ยวกันภาคเหนือและภาคอีสาน สมาชิกในครอบครัวออกไปทำงานนอกพื้นที่ และมีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมาก ด้วยวัฒนธรรมและบ้านที่อยู่ห่างกัน ทำให้คนในชุมชนไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกันมากนัก ต่างจากในภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้ที่ปลูกบ้านใกล้กัน มีกิจกรรมทำร่วมกันบ่อย จึงทำให้ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น

กรุงเทพฯ มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงที่สุด ในขณะที่ยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย


 

 

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลจำนวนจิตแพทย์จากรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564

ซึ่งสรุปจำนวนทรัพยากรสุขภาพ จำนวนแพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นรายจังหวัด พบว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 860 คน โดยเมื่อคำนวณอัตราส่วนเฉลี่ยจิตแพทย์เท่ากับ 1.30 ต่อแสนประชากร

การเข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวชแตกต่างกันมากในแต่ละจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบจำนวนจิตแพทย์รายจังหวัด จากข้อมูลของรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 พบว่า จากจำนวนจิตแพทย์ทั่วประเทศทั้งหมด 860 คน ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเข้าถึงทรัพยากรสาธารณสุขได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยมีจิตแพทย์ 4.90 คนต่อแสนประชากร ขณะที่ข้อมูลในปี 2564 จังหวัดยโสธรไม่มีจิตแพทย์เลย (ปัจจุบัน ปี 2565 จากการสอบถาม มีจิตแพทย์แล้ว 2 คน) รองลงมาคือ นครนายก เชียงใหม่ นนทบุรี และปทุมธานี ที่น่าสนใจคือ มีเพียง 14 จังหวัดเท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรสูงค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ

สำหรับนักจิตวิทยา หนึ่งในกลไกสำคัญต่อการรับมือกับผู้ป่วยจิตเวชไม่แพ้จิตแพทย์ จากข้อมูลของรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลจำนวนนักจิตวิทยาสังกัด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รายจังหวัด พบว่า รวมทั้งประเทศมีนักจิตวิทยา 729 คน เท่ากับ 1.10 คนต่อแสนประชากร และมี 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย ได้แก่ ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง น่าสนใจว่า ปัตตานีซึ่งมีจิตแพทย์ต่อแสนประชากรที่ 0.54 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ กลับมีนักจิตวิทยาต่อแสนประชากรมากที่สุด คือ 3.83 คน ขณะที่กรุงเทพฯ มีมากเป็นอันดับที่ 2 ที่ 3.40 คนต่อแสนประชากร และมีเพียง 28 จังหวัดเท่านั้นที่มีอัตราส่วนนักจิตวิทยาต่อประชากรสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ

ลำพูนมีอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อประชากรมากที่สุด

เมื่อพิจารณาเฉพาะโรคซึมเศร้า ตัวเลขการประมาณการจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.35 ล้านคน อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเทียบกับตัวเลขคาดประมาณผู้ป่วยในพื้นที่อยู่ที่ 88.33

ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2556 ผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 4,295 คน เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 9,522 คนในปี 2557 หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 78,592 คนในปี 2559 ก่อนที่จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปีเดียว ระหว่างปี 2559 กับ 2560 เพิ่มจาก 78,592 คน เป็น 259,467 คน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้อาจจะมาจากนโยบายเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข

โรคซึมเศร้าได้รับความสนใจอย่างจริงจังในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายบูรณาการการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการรักษาโรคซึมเศร้า โดยใช้ระบบบริการปฐมภูมิคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า และการประเมินความรุนแรงของโรคด้วยแบบประเมิน 2 คำถามและ 9 คำถาม มีการวิเคราะห์ว่านโยบายนี้ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการที่เป็นมาตรฐานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 5.1 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 48.5 ในปี 2559 โดยในปี 2549 ที่ยังไม่มีการดำเนินการตามระบบนี้อัตราการเข้าถึงบริการอยู่ที่ร้อยละ 3.7

ในปี 2564 หากเปรียบเทียบรายจังหวัดจากระบบฐานข้อมูลกลาง กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ เชียงใหม่ 22,493 คน นครราชสีมา 19,158 คนกรุงเทพมหานคร 15,676 คน อุบลราชธานี 12,752 คน และขอนแก่น 10,684 คน จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 715 คน

โดยจังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรมากที่สุดคือ ลำพูน 1,754.50 คน รองลงมาคือ สิงห์บุรี 1,366.57 คน เชียงใหม่ 1,257.02 คน แม่ฮ่องสอน 1,124.80 คน อุตรดิตถ์ 1,004.82 คน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อแสนประชากรน้อยที่สุดคือ นครปฐม 236.72 คน รองลงมาคือ อุดรธานี 240.91 คน ปัตตานี 270.56 คน กรุงเทพมหานคร 283.57 คน และสมุทรปราการ 290.16 คน

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นอุปสรรคให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วย ทำให้ตัวเลขอาจไม่สะท้อนกับความเป็นจริง นพ.วรตม์กล่าวว่า อาจระบุตัวเลขที่แท้จริงสำหรับสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยได้ยาก เนื่องจากต้องทำแบบสำรวจระดับชาติ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งใช้งบประมาณหลักร้อยล้านบาท เป็นคำถามพ่วงไปกับโรคอื่นด้วย ตัวเลขมาตรฐานจึงออกมาทุก 4-5 ปี แต่ประเมินว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น และเมื่อดูจากงานวิจัยย่อยๆ ก็พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยทางจิตเวชสูงขึ้นจริง รวมถึงโรคซึมเศร้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวชด้วย

ทั้งนี้ นพ.วรตม์อธิบายว่า ตัวเลขที่สูงขึ้นมีตัวเลขแฝง 2 อย่าง หนึ่ง เพราะมีผู้ป่วยสูงจริงจากความเครียดและอาการเจ็บป่วยมากขึ้น หรือ สอง เพราะเข้ารับบริการและได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น เช่น หลังจากโควิด-19 มีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากขึ้น คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ตัวเลขที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ก็จะมาโผล่ตอนนี้ เพราะเพิ่งเข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างไรก็ตาม แม้จะประเมินว่าตัวเลขสูงขึ้นทั้งสองทาง แต่ตอบไม่ได้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด

ภาระของบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วย : ศรีสะเกษ จิตแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วยกว่า 30,000 คน

แม้จะปรากฏว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและซึมเศร้ามากที่สุด รองลงมากคือนครราชสีมาและกรุงเทพฯ แต่เมื่อเปรียบเทียบเทียบกับจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยา จะเห็นได้ว่า ในจังหวัดเหล่านี้ ภาระในการดูแลผู้ป่วยของบุคลากรสาธารณสุขยังถือว่าไม่หนักที่สุด

ในระดับภาค จะพบว่าภาคเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชต่อประชากรสูงสุดอยู่ที่ 8.84% รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แม้มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงที่สุดถึง 1,495,210 คน แต่คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรของภาคเพียง 6.85% ตามมาด้วยภาคใต้ที่ 5.83% แต่ในส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงสุดและยังคิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรสูงสุดอีกด้วย อยู่ที่ 0.52% รองลงมาคือภาคตะวันตก 0.5% และภาคใต้ที่ 0.5% ใกล้เคียงกัน

เมื่อพิจารณาภาระความรับผิดชอบของบุคลากรสาธารณสุขต่อจำนวนผู้ป่วยในระดับภาค จะพบว่า จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีภาระสูงสุด โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 10,994 คนเลยทีเดียว รองลงมาก็คือภาคตะวันตก ที่อัตราส่วน 1 : 6,540 คน และภาคใต้ 1 : 6,291 คน ในส่วนของภาระการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีภาระสูงสุดเช่นเดิม โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 827 คน รองลงมาคือภาคเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 656 คน และภาคตะวันตก 1 : 639 คน

เมื่อพิจารณาจำนวนนักจิตวิทยา พบว่า นักจิตวิทยาในภาคเหนือนั้นมีภาระสูงสุด โดยนักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 9,974 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 9,646 และภาคตะวันตก 1 : 6,291 สำหรับภาระการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังมีภาระสูงสุดเช่นเดิม โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 827 คน รองลงมาคือภาคเหนือ ที่อัตราส่วน 1 : 656 และภาคตะวันตก 1 : 639

หากดูระดับจังหวัดจะพบว่า จากข้อมูลรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาล จากการสอบถามแหล่งข่าวด้านสาธารณสุขในพื้นที่พบว่า ในช่วงที่ยังไม่มีจิตแพทย์มาประจำที่โรงพยาบาลในจังหวัด ยโสธรใช้แพทย์จากพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวช ปัจจุบัน ในปี 2565 ยโสธรมีจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลแล้ว 2 คน หรือเท่ากับจิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวช 18,643.5 คน รองลงมาก็คือจังหวัดศรีสะเกษที่จิตแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 34,811 คน ตามมาด้วยจังหวัดมุกดาหาร ในอัตราส่วน 1 : 27,997 สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะพบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จิตแพทย์ 1 คน มีภาระในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,216 คน รองลงมาก็คือมุกดาหารในอัตราส่วน 1 : 2,640 และศรีสะเกษในอัตราส่วน 1 : 2,566

ภาระการดูแลผู้ป่วยของนักจิตวิทยานั้น จากข้อมูลรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า ตราด แพร่ สมุทรสงคราม สิงห์บุหรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง เป็นจังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย รองลงมาคือจังหวัดเลย ซึ่งนักจิตวิทยา 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 52,717 คน ตามมาด้วยกำแพงเพชร ที่อัตราส่วน 1 : 46,296 และเมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากจังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังพบว่าจังหวัดเลย นักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,937 คน รองลงมากคือพระนครศรีอยุธยา ที่อัตราส่วน 1 : 3,708

จะเห็นได้ว่าในภาพรวมนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องทำงานหนักในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผ้ป่วยโรคซึมเศร้า อันเป็นผลมาจากทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย และที่สำคัญก็คือจำนวนบุคลากรสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ

ระบบการผลิตแพทย์เฉพาะทางติดขัด ส่งผลให้จิตแพทย์ไม่พอ

ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ยังคงขาดแคลนจิตแพทย์ การกระจายแพทย์เฉพาะทางไปยังพื้นที่ต่างๆ คำนวณจากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น สาธารณสุขจังหวัดจะต้องตัดสินใจว่า จะเลือกแพทย์เฉพาะทางสาขาใด เหตุใดจึงไม่เลือกอีกสาขาหนึ่งที่อาจจะเป็นที่ต้องการไม่ต่างกัน ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน นพ.วรตม์อธิบายว่า เหตุที่จิตแพทย์ขาดแคลนมาจากการกระบวนการผลิตจิตแพทย์ทำได้ยากและใช้เวลานาน ต้องรอจนกว่าแพทย์เรียนจบหลักสูตร 6 ปี ใช้ทุนอีก 3 ปี จึงจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ จิตแพทย์ผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียน 3 ปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 ปี โดยผู้ที่ต้องการเป็นจิตแพทย์ต้องหาทุนมาเรียนเอง หรือมีต้นสังกัดออกทุนให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือหน่วยงานเหล่านี้เปิดรับ เช่น ตำแหน่งว่าง มีคนลาออก หรือเปิดหน่วยบริการใหม่ เมื่อได้รับคำยืนยันแล้ว แพทย์จึงจะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแพทย์ได้ เมื่อเรียนจบก็ต้องกลับไปทำงานที่ต้นสังกัด

อีกทางหนึ่ง บางโรงเรียนแพทย์อาจจะมีทุนให้ ซึ่งไม่มาก และแต่ละมหาวิทยาลัยต้องออกทุนฝึกอบรมเอง ซึ่งผู้ที่เรียนจบแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ อีกเส้นทางหนึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ซึ่งมีทุนให้ปีละ 4-5 ทุน แพทย์จะมาสมัครเอง หากได้ทุนก็ต้องไปสมัครที่โรงเรียนแพทย์อีกขั้นหนึ่ง เมื่อเรียนจบ กรมสุขภาพจิตจึงจะกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดที่ขาดแคลนจิตแพทย์

นอกจากระยะเวลาในการเรียนแล้ว นพ.วรตม์มองว่า ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งมาจากการขาดแคลนอาจารย์ สำหรับจิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์ประมาณ 3 คน ด้วยอัตราแบบนี้ทำให้เพิ่มจำนวนได้ช้า เพราะคนที่อยู่ในระบบมีน้อย ไม่เหมือนกับสาขาอื่นๆ ที่ผลิตได้เยอะกว่า เช่น ศัลยศาสตร์ สถาบันหนึ่งผลิตได้ปีละ 30 คน ส่วนหนึ่งมาจากการที่สาขานี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนหน้านี้ เพิ่งจะได้รับความสนใจในช่วง 4-5 ปีนี้เอง การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์จึงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

แต่นับว่าโชคดีที่สาขาจิตเวชมีวิชาชีพอื่นทำงานอยู่ขนานไปด้วย มีสหวิชาชีพที่ทำงานร่วมกัน ทั้งนักจิตวิทยาคลินิกและพยาบาลจิตเวช แต่ปัจจุบันนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งทำงานในโรงพยาบาลโดยตรง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำหน้าที่ได้เกือบเท่าจิตแพทย์ยกเว้นสั่งยา ก็กำลังประสบปัญหาไม่เพียงพอเช่นกัน มีสถาบันที่เปิดสอนน้อยลง ส่วนนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา ที่มีการเรียนการสอนในหลายสถาบัน อาจไม่ได้ทำงานกับคนไข้โดยตรง

ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตและสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา อยู่ระหว่างการผลักดันมาตรฐานการให้บริการการให้คำปรึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การรับรองวิชาชีพทางกฎหมาย แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะต้องฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และมีหลายขั้นตอน นพ.วรตม์กล่าวว่า เพราะเห็นว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถผลิตจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกได้ทัน และกำลังต้องการนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเพื่อเติมเต็มทุกส่วน แต่ก็จะใช้เวลานานพอสมควรในการสร้างกฎระเบียบใหม่

ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น บุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ ระเบิดเวลาปัญหาสุขภาพจิตไทย

จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า นอกจากจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในสังคมไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว แต่อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือความขาดแคลนการเข้าถึงการดูแลรักษาและการรองรับการดูแลรักษา เนื่องจากจำนวนบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชในไทยนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลรักษาหรือได้รับการดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ

ในภาพย่อย เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ระหว่างจังหวัดที่มีมากที่สุด กับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ จะพบว่าแตกต่างกันหลายเท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข สิ่งนี้ยิ่งซ้ำเติมผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ที่มีทรัพยากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ และเป็นโจทย์ใหญ่ในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ไม่เพียงต้องป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทรัพยากรสาธารณสุขที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

* Disclaimer : ปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่รายงานทรัพยากรสาธารณสุข 2565 ซึ่งจำแนกข้อมูลรายจังหวัด รายงานชิ้นนี้จึงอ้างอิงจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากรายงานฯ ปี 2564

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-psy-resource/

 

ข้อมูลจาก
จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการจำแนกรายกลุ่มโรค (คน) รายจังหวัด ปีงบประมาณ 2564 ทั้งในและนอกสธ. ทุกเครือข่ายบริการ จากฐานข้อมูล HDC https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports/report.php          
จำนวนแพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นรายจังหวัด 2564 จากรายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข 2564 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข https://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/Report%20Health%20Resource%202021.pdf   
จำนวนนักจิตวิทยารายจังหวัด ปีงบประมาณ 2564 จาก รายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข 2564 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข https://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/Report%20Health%20Resource%202021.pdf
อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปีงบประมาณ2564 จากฐานข้อมูล HDC https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports                        

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: