จับตา: ปรากฏการณ์ 'ช้อปล้างแค้น' การจับจ่ายในยุคหลังโควิด-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2354 ครั้ง


The 1 (เดอะ วัน) ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล เผยข้อมูลจาก The 1 Insight วิเคราะห์เจาะแนวโน้มการใช้จ่ายในยุคหลังโควิด-19 บ่งชี้ชัดถึงปรากฏการณ์ Revenge Spending ผู้บริโภคโหยหาอิสระในการใช้จ่ายกับสินค้าเพื่อความพึงพอใจมากขึ้นใน 4 กลุ่มสินค้า ของหวานและไวน์-เครื่องสำอางและน้ำหอม-ร้านอาหาร-เสื้อผ้าสปอร์ตแวร์ ช่องทางออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง ย้ำแบรนด์ต้องให้ความสำคัญของ Omnichannel เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ช่วงต้นเดือน ส.ค. 2565 The 1 (เดอะ วัน) ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล เผยข้อมูลจาก The 1 Insight วิเคราะห์เจาะแนวโน้มการใช้จ่ายในยุคหลังโควิด-19 บ่งชี้ชัดถึงปรากฏการณ์ Revenge Spending ผู้บริโภคโหยหาอิสระในการใช้จ่ายกับสินค้าเพื่อความพึงพอใจมากขึ้น

The 1 Insight นำเสนอปรากฏการณ์ Revenge Spending หรือ 'ช้อปล้างแค้น' ที่เรียกได้ว่าเป็นการทวงคืนอิสระในการจับจ่ายในยุคหลังโควิดเพื่อสร้างความผ่อนคลายและระบายความอัดอั้น ที่สะท้อนให้เห็นได้จากยอดขายที่สูงขึ้นใน 4 กลุ่มสินค้าเพื่อความพึงพอใจ ได้แก่ 1) อุปโภคบริโภค พบยอดขายเติบโตขึ้นถึง 51% ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อความเพลิดเพลินใจ อย่างไวน์ ขนม และของหวาน ในขณะที่ยอดขายวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหารและเบเกอรี่ลดลง 14% สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทำอาหารที่บ้านน้อยลง 2) ร้านอาหาร ยอดขายร้านอาหารเติบโตสูงขึ้น 15% และโดดเด่นในกลุ่มร้านอาหารชาบู/ปิ้งย่างที่นิยมทานเป็นกลุ่ม และอาหารญี่ปุ่น/เกาหลี ที่มีราคาสูง บ่งชี้ถึงการมอบรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้ตนเองเพื่อสร้างความผ่อนคลาย 3) ความงาม ยอดขายเครื่องสำอางและน้ำหอมกลับมาเติบโตกว่า 20% ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตัวเลขเติบโตสัมพันธ์กับการที่ผู้บริโภคสามารถออกจากบ้านและพบปะผู้คนได้มากขึ้น การแต่งหน้า-ฉีดน้ำหอมจึงเป็นการใช้จ่ายเพื่อความเพลิดเพลินอย่างแรกๆ ที่นึกถึง 4) การออกกำลังกาย เมื่อผู้คนไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเพียงแค่ที่บ้าน แต่สามารถออกจากบ้านรวมถึงการออกกำลังกายเป็นกลุ่มได้ จึงไม่แปลกที่ยอดขายสปอร์ตแวร์ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 25% และยอดขายอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เติบโตในช่วงโควิดกลับปรับตัวลดลง 22%

อีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจสำหรับปรากฏการณ์ Revenge Spending ในรอบนี้นั้นมีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เนื่องจากกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายมากขึ้นนั้นเป็นในกลุ่มสินค้าเพื่อความพึงพอใจในราคาที่เข้าถึงได้ มากกว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มไม่สู้ดีและสภาวะเงินเฟ้อ จึงเป็นเหตุให้ผู้คนใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อสร้างความผ่อนคลายในงบประมาณที่ 'สามารถจ่ายได้' โดยไม่กระทบกับทรัพย์สินจำนวนมากเกินไปนัก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าปรากฏการณ์ Revenge Spending นั่นมักเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ลดความอัดอั้นสำหรับตัวผู้บริโภคเอง รวมถึงมักเกิดขึ้นในกลุ่มสินค้าบางกลุ่มเท่านั้น จึงไม่สามารถบ่งชี้ถึงทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งต้องอาศัยการฟื้นตัวในหลายแง่มุมได้

อย่างไรก็ตาม การช้อปในช่องทางออนไลน์ (Online Shopping) คือพฤติกรรมหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานและอัตราการเติบโตยิ่งสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 ทั้งในแง่ของยอดขายและจำนวนผู้ใช้ โดยยอดขายเติบโตกว่า 2 เท่า และยอดผู้เข้าชมสินค้าสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 - พฤษภาคม 2022 นอกจากนั้นยังพบว่าผู้บริโภคกว่า 36% ยังคงพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ในยอดคงที่อย่างต่อเนื่อง แม้จะกลับไปจับจ่ายที่หน้าร้านมากขึ้นด้วย อาจสรุปได้ดังเช่นที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเห็นตรงกันว่า การสร้างประสบการณ์แบบ Omnichannel คือเรื่องที่ทุกแบรนด์ต้องให้ความใส่ใจในปัจจุบันเพราะมีผลอย่างยิ่งกับความอยู่รอดของแบรนด์ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออฟไลน์หน้าร้าน ช่องทางออนไลน์ อาทิ E-Commerce Application และ Website, Social Commerce รวมถึง New Sales Channels อย่าง Chat & Shop, Call & Shop และ Personal Shopper กล่าวคือแบรนด์ไม่อาจให้ความสำคัญกับเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่งอีกต่อไป แต่ควรมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างไร้รอยต่อให้กับลูกค้าในทุกช่องทาง

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: