ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลค้านเพิ่มคำนิยาม 'กากอ้อย' เป็นผลพลอยได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2710 ครั้ง

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลค้านเพิ่มคำนิยาม 'กากอ้อย' เป็นผลพลอยได้

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อคัดค้านเพิ่มคำนิยาม ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ชี้เป็นการทำลายโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมย้ำชัดจะไม่เข้าร่วมบริหารกฎหมาย ที่สร้างความขัดแย้งให้แก่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ฉุดขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกลดลง | ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่านายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างแก้ไข พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมย์ที่ชัดเจนของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับร่างแก้ไข พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยหากร่างแก้ไขพรบ.ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมวุฒิสภาและถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมและกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย

ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับดังกล่าว ซึ่งผิดหลักนิติธรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงตามโครงสร้างกฎหมายนี้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขาดผู้เกี่ยวข้องที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย และขัดต่อหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กระทบสิทธิความเป็นเจ้าของ โดย “กากอ้อย” ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินและผลประโยชน์ของโรงงานที่เป็นผู้ซื้ออ้อยตามสัญญา และโรงงานต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อกำจัด “กากอ้อย” ที่เป็นของเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดต่อเศรษฐกิจไทย

“โรงงานน้ำตาลประกาศชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมบริหารกฎหมายฉบับนี้หากมีการประกาศใช้ เพราะจะสร้างความไม่เป็นธรรม นำไปสูความขัดแย้งและแตกแยกไม่สิ้นสุด ฉุดอุตสาหกรรมให้ถอยหลังไม่ให้เกิดการพัฒนา เป็นกฎหมายที่ผิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา และยังขัดต่อหลักปรัชญาของ พรบ.อ้อยและน้ำตาล ฉบับเดิม ที่ต้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หากพืชเกษตรอื่นออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ จะไม่เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่องอย่างแน่นอน” นายปราโมทย์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: