ILO เผยมาตรฐานที่พักแรงงานข้ามชาติในอาเซียนอยู่ในระดับต่ำ จำเป็นต้องปรับปรุงเร่งด่วน

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 มี.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4421 ครั้ง

ILO เผยมาตรฐานที่พักแรงงานข้ามชาติในอาเซียนอยู่ในระดับต่ำ จำเป็นต้องปรับปรุงเร่งด่วน

รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในอาเซียน โดยเฉพาะในสิงค์โปร์ มาเลเซีย และไทย ที่พักอาศัยสำหรับแรงงานข้ามชาติอยู่ในมาตรฐานระดับต่ำ จำเป็นต้องปรับปรุงเร่งด่วน | ที่มาภาพประกอบ: Akira Kodaka/Nikkei Asia

เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2022 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่าแม้ว่าจะมีการปรับปรุงเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มาตรฐานที่พักอาศัยสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียนยังคงอยู่ในระดับต่ำและจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน โดยรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่อง ความจริงเกี่ยวกับบ้าน – การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน (‘Home truths - Access to adequate housing for migrant workers in the ASEAN region) ให้ภาพรวมโดยละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานและประเด็นเรื่องที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติ ในสิงค์โปร์ ไทย และมาเลเซีย ระบุว่า

หนึ่งในผลการวิจัยพบว่าพื้นที่ที่จัดสรรให้กับแรงงานข้ามชาติแต่ละคนที่นายจ้างจัดให้ เช่น หอพัก ยังมีขนาดเล็กเกินไป

ในมาเลเซียและไทย แรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในที่พักบางประเภทที่มีพื้นที่เพียง 3 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับพื้นที่ที่ใช้เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตด้านมนุษยธรรม สิงค์โปร์ได้ปรับปรุงเรื่องนี้เมื่อเดือนกันยายน 2564 โดยจัดให้แรงงานแต่ละคนมีพื้นที่พักอาศัยอย่างน้อย 4.2 ตารางเมตร ในหอพักที่สร้างใหม่ อย่างไรก็ดี พื้นที่ใช้สอยตามมาตรฐานใหม่ยังต่ำกว่าระดับที่แรงงานตามฤดูกาลในนิวซีแลนด์ได้รับ หรือแรงงานในกาตาร์ที่กำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกได้รับ

ความจำเป็นสำหรับแรงงานข้ามชาติในการได้รับพื้นที่อยู่อาศัยที่พอเพียงปรากฏให้เห็นชัดเจนจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่มาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพและสุขอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเสี่ยงและการแพร่กระจายของการติดเชื้อ ทำได้ยากในที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติบางแห่ง นอกจากอันตรายจากการแพร่เชื้อโควิด-19 แล้ว ที่พักที่ไม่เพียงพอและความเป็นอยู่ที่แออัดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและภาวะตึงเครียดระหว่างผู้พักอาศัย ความรุนแรงในครอบครัวและอาชญกรรมประเภทอื่นๆ อีกด้วย

“การระบาดใหญ่โควิด-19 ทำให้ต้องเอาใจใส่เรื่องที่พักอาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากในมาเลเซีย สิงค์โปร์และประเทศไทยอาศัยอยู่ ในขณะที่บางอย่างได้มีการแก้ไขปรับปรุงและได้รับการยอมรับ หนทางยังอีกยาวไกลที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติทุกคนมีที่พักอาศัยที่เพียงพอเหมาะสมตามสิทธิที่แรงงานข้ามชาติพึงมี” ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ILO กล่าว

ที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติในมาเลเซีย สิงค์โปร์และไทย ประกอบด้วยรูปแบบที่พักอาศัยที่ซับซ้อนและต่างกันอย่างมากในแต่ละภาคการผลิต สถานที่ตั้ง ในเมืองหรือชนบท สถานะการย้ายถิ่น และประเภทของเอกสาร ปัจจัยอื่นๆ เช่น เพศสภาพ และสมาชิกในครัวเรือนที่ติดตามมาด้วยก็ส่งผลต่อทางเลือกของที่พักอาศัยเช่นกัน

การตรวจที่พักอาศัยเป็นวิธีการที่สำคัญในการบังคับใช้มาตรฐาน แต่รายงานฉบับนี้พบว่าการตรวจที่พักอาศัยแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในที่พักของแรงงานข้ามชาติ ในมาเลเซียและสิงค์โปร์ การตรวจที่พักอาศัยได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ แต่การดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอยังคงเป็นความท้าท้าย รายงานยังเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นเรื่องการตรวจที่พักอาศัยที่ต้องแยกออกจากการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยสิ้นเชิง

เสนอแนะเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามมาตรฐานที่ชัดเจนและตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิที่ผูกพันตามกฎหมายด้านที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและแรงงานระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำในการจัดหาที่พักอาศัยให้กับแรงงานข้ามชาติทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานะ รายงานยังเรียกร้องให้ยุติข้อกำหนดที่บังคับใช้ในบางประเทศที่ให้แรงงานทำงานบ้านต้องอาศัยอยู่กับนายจ้าง นอกจากนี้ รายงานได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจำกัดจำนวนแรงงานที่พักอาศัยร่วมกัน หยุดการใช้เตียงนอนสองชั้น ตลอดจนยกเลิกการให้แรงงานที่ทำงานกะต่างกันผลัดกันใช้ที่นอนเดียวกัน


รายงานเรื่องความจริงเกี่ยวกับบ้าน – การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน (‘Home truths - Access to adequate housing for migrant workers in the ASEAN region)

https://www.ilo.org/asia/publications/WCMS_838972/lang--en/index.htm

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: